ประสาร ไตรรัตน์วรกุล: Business School ต้องสร้างคนให้เป็นผู้นำ ไม่ใช่แค่ซีอีโอ
ผมอยากชวนพวกเรานึกย้อนไปในวันที่พวกเราเป็นนิสิตนักศึกษา ไม่มีประสบการณ์ มองไม่เห็นภาพที่ตัวเอง จะต้องไปเจออะไรในอนาคต และวิชาความรู้ที่เรียนมาก็ไม่รู้ว่า จะเอาอะไรไปใช้ได้ ขณะเดียวกัน ในวัยนั้น พวกเราเหมือนคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ยังไม่ได้โปรแกรมอะไร จึงแสวงหาและพร้อมจะรับ software ดีๆ เพื่อเป็นหลักในการพัฒนาตัวเอง ที่สำคัญ เราจะให้ software อะไรแก่พวกเขาเพื่อให้พวกเขาเดินไปอีก 40 ปีข้างหน้าที่ดีกว่าที่พวกเราเดินผ่านมา
วันที่ 5 เม.ย. 2561 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิวัติธุรกิจ ปฏิรูปการศึกษา Business Transformation through Flagship Education” โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ห้อง 108 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์
ปาฐกถาแบ่งเป็น 4 ส่วน
1. ทิศทางเศรษฐกิจ และบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม
2. การปฏิรูปการศึกษา: รากฐานสำคัญของการอยู่ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม
3. บริบทโลกธุรกิจ และความท้าทายของ Business School
4. Business School จะปรับหลักสูตรอย่างไร?
ส่วนที่ 1 ทิศทางเศรษฐกิจและบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม
ขอเริ่มจากประเด็น “คุณขอมา” คือ ทิศทางเศรษฐกิจ ก่อนจะกล่าวถึงบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม และปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาที่ทำให้พวกเราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้
1.1 ทิศทางเศรษฐกิจ
ปี 2560 หรือปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกที่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนพร้อมๆ กันในหลายภูมิภาค IMF ประเมินว่าปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 และคาดว่า ในปี 2561-2562 จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.9แม้ทิศทางในภาพรวมจะดีขึ้น แต่ “ความเสี่ยง” ก็เพิ่มขึ้นจาก
- มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่สร้างความตึงเครียดต่อบรรยากาศการค้าโลก
- อัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากคงอยู่ในระดับต่ำยาวนาน
- ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ของโลก
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกในปีที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนมาก
สำหรับเศรษฐกิจไทย ปี 2561 หลายหน่วยงานต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลดีต่อภาคส่งออก ขณะที่การบริโภคและการลงทุนปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การใช้จ่ายของภาครัฐถ้าเป็นไปตามแผนก็จะเป็นแรงหนุนที่สำคัญอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ดัชนีสำคัญที่สะท้อนความเข้มแข็งของการฟื้นตัวคือ มูลค่าการนำเข้า2 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 20 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามว่าผลดีของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะกระจายตัวไปสู่ภาคเศรษฐกิจต่างๆ อย่างทั่วถึงมากขึ้นหรือไม่
1.2 บริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม
ทิศทางเศรษฐกิจข้างต้นเป็นเพียงวงจรเศรษฐกิจระยะสั้น แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม และรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนในทุกระดับ ไม่ว่าจะในระดับบุคคล องค์กร หรือระดับสังคม พวกเราคงเห็นเหมือนกันว่า ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุด กล่าวคือธุรกิจหลายสาขาถูกทดแทนด้วยสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ ที่มีรูปแบบการดำเนิน
ธุรกิจ (business model) ไม่เหมือนเดิม ตัวอย่างเช่น
- นิตยสารที่ทยอยปิดตัวจนแทบไม่เหลือให้เห็นบนแผงหนังสือเพราะคนหันมานิยมอ่านบน online platform
- ธนาคารพาณิชย์ ที่เคยแข่งกันขยายสาขาและเก็บค่าธรรมเนียมในอดีต กลับพบว่า ปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นจำนวนการปิดสาขาธนาคารมากกว่าจำนวนที่ขอเปิดเป็นปีแรก พร้อมกับการประกาศลดสาขาและพนักงานลงอย่างน่าตกใจ ขณะที่การปรับตัวในเรื่องนี้ยังไม่นิ่ง สัปดาห์ที่แล้ว เกิดปรากฏการณ์ธนาคารพาณิชย์แข่งขันลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม และพยายามดึงดูดลูกค้าเข้า online platform จนเป็นประเด็น talk of the town เรื่องหนึ่งจะแพ้ก็เพียงละคร“บุพเพสันนิวาส”
แน่นอนว่า เมื่อเทคโนโลยีทำให้สมรภูมิรบเปลี่ยนไป ฝ่ายที่ยึดฐานที่มั่นได้มากกว่าย่อมมีโอกาสกำชัยชนะในอนาคต การช่วงชิงจังหวะและเดินเกมส์รุกต่างๆ จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ผู้รู้คาดการณ์ว่า งานมากกว่าครึ่งหนึ่งที่มนุษย์ทำอยู่ขณะนี้ จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ขณะที่พัฒนาการของ Artificial Intelligence หรือ AI ก้าวหน้าจนช่วยทำงานและตัดสินใจแทนมนุษย์ได้หลายอย่าง เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน การตอบ e-mail หรือแม้กระทั่งการทำหน้าที่กรรมการบริษัท หรือ Board of Directors
ไม่ว่ามองไปทางใดเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นด้วยความเร็วที่คาดไม่ถึง จึงไม่แปลกที่หลายธุรกิจหรือแม้แต่พวกเราก็รู้สึกเหมือนกับตั้งตัวไม่ติด แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่งเช่นนี้ ทำให้ผมนึกถึงหลักคิด 3 ข้อของลัทธิเต๋าที่ว่า
(1) ในธรรมชาติของสรรพสิ่งมีการหมุนเวียนเป็นปกติ
(2) ในความซับซ้อนมักจะมีความเรียบง่าย
(3) ธรรมดาของจะอยู่กันเป็นคู่ ในขาวมีดำ ในดำมีขาว
ผมคิดว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้ง “โอกาสและความท้าทาย” แม้เราจะเห็นหลายภาคธุรกิจจะถูกเทคโนโลยี disrupt แต่ในอีกด้านเราก็เห็นการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ๆ ที่เราเริ่มคุ้นหูกันมากขึ้น เช่น Start Up, Application Creator,Online marketing, Influencer marketing, Data scientist, Data analytic, Crowdfunding specialist, Digital risk officer หรือ Digital detox therapist เป็นต้น
1.3 ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย
ผมขอย้อนกลับมาที่ประเทศไทย การพัฒนาประเทศที่ผ่านมามีความก้าวหน้าอยู่ไม่น้อยคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวมดีขึ้นมาก แต่อีกด้านหนึ่งคงต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญมีอย่างน้อย 3 เรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขเป็นลำดับแรก
หนึ่ง ศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลง โดยทศวรรษก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เราเคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ปี 2543-56 เฉลี่ยแค่ร้อยละ 4 ช่วงหลังๆ กว่าจะโตได้ถึง 4% ก็นับว่ายาก
สอง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ผลประโยชน์จากการพัฒนายังไม่ได้กระจายไปสู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง ประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับต้นๆ ของโลก
สาม โครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาครัฐ ที่หลายส่วนเคยออกแบบไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน ปัจจุบันอาจไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศและปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งถือเป็นอีกมิติที่มีความสำคัญเพราะภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์และกติกา ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างแรงจูงใจ และระบบนิเวศ ที่เอื้อให้เศรษฐกิจสามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพ
ปัญหาทั้ง 3 เรื่องนี้ จึงเป็นหัวใจหลักที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจให้ความสำคัญ ที่ผ่านมา ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะภายใต้ความพยายามขับเคลื่อนประเทศของภาครัฐและเอกชน แต่กลับเดินหน้าได้ช้ากว่าที่คาด อาการจึงคล้ายกับ “คนแก่ที่สมองสั่งให้เดินหน้าแต่กลับก้าวขาไม่ค่อยจะออก” และในทางการแพทย์ถือว่า นี่คือสัญญาณอันตราย เพราะอาจแสดงถึงจุดเริ่มต้นของการเป็น“อัมพาต” ถ้าไม่เร่งรักษา
ส่วนที่ 2 การปฏิรูปการศึกษา:
รากฐานสำคัญของการอยู่รอดในโลกที่ไม่เหมือนเดิมเมื่อผมมีโอกาสทำงานเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและการศึกษา ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น และคงไม่ผิดที่จะสรุปว่า อาการก้าวขาไม่ค่อยจะออกของเราส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพการศึกษาต่ำ ลง ผลิตภาพคนไทยย่อมต่ำลง ศักยภาพทางเศรษฐกิจจึงต่ำลง แต่นั่นเป็นเพียงนัยทางตรง แต่ระบบการศึกษาที่บิดเบี้ยวและไม่ได้มาตรฐาน ได้กัดกร่อนความภูมิใจในชีวิตของเด็กไทย และมีนัยทางอ้อมไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมาก
“การปฏิรูปการศึกษา” จึงมีความสำคัญมากเพราะการปฏิรูปการศึกษาไม่เพียงเป็นช่องทางยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ แต่มีนัยถึงการ “ปลดล๊อค” ศักยภาพของลูกหลานไทยให้สามารถเดินหน้าได้เต็มศักยภาพ และเป็นความหวังของประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ และช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ทำให้คนจนสามารถลืมตาอ้าปากได้จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ สะท้อนจากการเป็น 1 ใน 2 เรื่องปฏิรูปที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุให้มีการดำเนินการโดยเร่งด่วน และนัยที่เขียนเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญอีกมุมหนึ่งคือ เป็นการส่งสัญญาณที่บอกว่า “การปฏิรูปการศึกษา” คือ “วาระของคนไทยทั้งชาติ”
ผมอยากจะใช้โอกาสนี้ร่วมเสนอมุมมองที่คิดว่ามีความจำเป็นต้องปฏิรูปใน 4 มิติที่สำคัญ คือ
มิติที่ 1 การสร้างความเท่าเทียมในด้านการศึกษา ที่ผ่านมาเราพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายโอกาส แต่เป็นการเน้นผลที่เกิดขึ้นซึ่งเป็น ”ปลายเหตุ” ขณะที่การทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้น จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ “ต้นเหตุ” ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาที่จะช่วยให้เด็กยากจนแต่ละคนได้โอกาสเรียนหนังสือตามศักยภาพ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศในปัจจุบันเมื่อก้าวมาทำงานเรื่องนี้ จึงทราบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ และอยากเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อย
ข้อแรก แม้ในแต่ละปีมีการใช้งบประมาณด้านการศึกษาสูงถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเกือบ 2 เท่า แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงพบเห็นได้แทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ที่น่าเป็นห่วง คือบางพื้นที่ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มแย่ลง
ข้อสอง ปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประมาณ 5% ของประชากรในวัยเดียวกัน หรือมากกว่า 670,000 คน นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่พบว่าเด็กจำนวนมากเข้าเรียนช้า เพราะผู้ปกครองต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาและเงินไม่พอส่งลูกเรียน
กรณีเช่นนี้ ถือเป็น “การเสียโอกาสชีวิต” ที่น่าเสียดาย องค์การยูเนสโกประเมินว่า การที่เด็กไทยที่มีศักยภาพ แต่ต้องหลุดออกจากระบบเช่นนี้ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 1.7 ของ GDP คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี(3) เชื่อหรือไม่? ประเทศเรามีนักเรียนยากจนมากกว่า 2 ล้านคน ที่ครอบครัวมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาท หรือเพียงแค่วันละ 100 บาทเท่านั้น แต่การจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนเหล่านี้มีเพียงปีละ 3,000 ล้านบาท หรือ เพียงร้อยละ 0.5 ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด ที่สำคัญคือ งบประมาณส่วนนี้ไม่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้งบประมาณด้านการศึกษาในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้นทุกปีสะท้อนการตกอันดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้กับเด็กกลุ่มนี้อย่างน่าเห็นใจ จึงเป็นที่มาของ motto ที่คณะกรรมการฯ มักจะใช้ คือ “ขอเปลี่ยน 50 สตางค์สุดท้าย เป็น 5 บาทแรก”เป็น 5 บาทใน 100 บาท ที่จะเป็น “ใบเบิกทาง” ให้ “ช้างเผือก” ได้มีโอกาสเดินออกจากป่า ทำให้อนาคตที่มืดมิดของเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ท่านอาจารย์หมอจรัส สุวรรณเวลา ก็เป็นหนึ่งใน “ช้างเผือก” จากตรัง ที่ 60 ปีก่อนต้องนั่งรถไฟถึง 3 วัน 2 คืน เพื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพ ซึ่งต่อมาท่านได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกแพทย์คนแรก และสามารถเป็นหมอผ่าตัด “สมอง” มือหนึ่งของไทย นี่คือความสำคัญของ “ใบเบิกทาง” นอกจากนี้ ท่านยังกล่าวย้ำว่า “ยิ่งคุณภาพการศึกษาต่ำ ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ยากจนหนักขึ้น เมื่อพวกเขาไม่มีโอกาสก้าวมาเป็นคนชั้นกลางในสังคม ประเทศมั่นคงไม่ได้”
มิติที่ 2 การสร้างคุณภาพ ไม่ใช่แค่เน้นแค่ปริมาณแบบหยาบๆ ทุกท่านคงเห็นเหมือนกันว่า ที่ผ่านมาไม่ใช่ประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา แต่น้ำหนักที่ให้จะโน้มไปในเชิงปริมาณเป็นสำคัญ ผมขอเล่าปัญหาที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบของการศึกษาไทยสักเล็กน้อย นั่นคือ “ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก” จำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ แม้ชื่อจะเล็กแต่นัยของปัญหาไม่เล็กเหมือนชื่อ เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้เงินและคนจำนวนมาก
กล่าวคือ ตามเกณฑ์ทั่วไปห้องเรียนหนึ่งต้องมีนักเรียน 20 คน เพื่อให้สามารถจัดการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ถ้าโรงเรียน มี 6 ชั้น (ประถม 1-6) หมายความว่าต้องมีนักเรียน 120 คน เชื่อหรือไม่ว่า เกือบครึ่งหนึ่งของโรงเรียนในประเทศหรือประมาณ 15,000 แห่ง มีนักเรียนไม่ถึง 120 คน ถูกจัดเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และกว่า 80% ของโรงเรียนเหล่านี้สามารถเดินทางถึงกันได้
หนึ่งในปัญหาที่พบในโรงเรียนเล็กเหล่านี้ คือ ปัญหาครูไม่ครบชั้น ซึ่งทำให้ต้องยุบชั้นเรียน เป็นเหตุหนึ่งทำให้คุณภาพการศึกษาต่ำ ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญที่ “พลางตัว” อยู่นี้ ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเพราะในอนาคตอัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลง จำนวนเด็กต่อโรงเรียนจะยิ่งลดลงนอกจากนี้ ในระดับมหาวิทยาลัยก็มีอาการเช่นเดียวกัน ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัยหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ และทำท่าจะมากกว่าความต้องการของประเทศ
เมื่อไม่นานมานี้ นิตยสาร Economist มีบทความที่ชวนคิดว่า เราอาจ “over-estimate benefit” และ underestimate cost” ของการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และในหลายประเทศเกิด “ปรากฏการณ์แข่งกันสะสมปริญญา” (The arms race for qualifications) ยิ่งซ้ำเติมความบิดเบี้ยวของระบบการศึกษาเข้าไปอีก
มิติที่ 3 การปฏิรูปการศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ ท่านเคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างลึกซึ้งว่า “ขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งกับความสำเร็จในอดีต..จุฬาจำเป็นต้องสร้างนิสิตให้มีคุณลักษณะที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อยู่กับการเรียนการสอนแบบในอดีต คือ เรียนแล้วไม่ต้องหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม หากหยุดนิ่งอย่างนั้นโลกจะน่าเรา”
นอกจากนี้ มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงของลักษณะการทำงานและทักษะที่ต้องใช้ในการทำงาน ทำให้การฝึกฝนและพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ หรือ Reskilling จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในอนาคต เรื่องนี้เป็นอีกมิติสำคัญที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในวงการศึกษา หรือ ในภาคธุรกิจต้องช่วยกัน เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญเกินกว่าจะเป็นภาระขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้ได้ปรับบทบาทตัวเองให้เป็น “มหาวิทยาลัยสำหรับทุกช่วงวัยของชีวิต” กล่าวคือ ศิษย์เก่าสามารถกลับมาเรียนฟรีเพื่อเพิ่มทักษะได้ ซึ่งเป็นการ upgrade ทักษะและความรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลา4 อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กับประชาชนทั่วไปด้วย และนับเป็นการสร้างโจทย์ให้คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยตื่นตัวในการพัฒนาตัวเองให้เท่าทันโลกด้วย
มิติที่ 4 มหาวิทยาลัยกับการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และการนำความรู้ไปพัฒนาสังคมบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็น “เสาหลัก” ที่จะช่วยประเทศเผชิญกับความท้าทายได้จะมีความสำคัญมากในระยะต่อไป เพราะมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์รวมบุคลากรคุณภาพ องค์ความรู้และนวัตกรรมที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และช่วยวางรากฐานความรู้ ความคิด ทักษะและจริยธรรมให้แก่นิสิตนักศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป ผมคิดว่า ทุกท่านในที่นี้มีโอกาสดีที่ได้ทำหน้าที่สร้างอนาคตของประเทศอย่างแท้จริง และเชื่อว่า โจทย์ใหญ่ คือ มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการช่วยประเทศให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ได้อย่างไร
ดังที่ท่านอธิการบดี ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เคยปรารภไว้ว่า “จุฬาฯจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทย..และต้องท่างานใกล้ชิดกับสังคมไทยมากขึ้น โดยน่าองค์ความรู้ นวัตกรรม ทรัพย์สินของจุฬา และความสามารถของทั้งอาจารย์และนิสิตไปสร้างผลิตภัณฑ์และสิ่งที่ดีงามให้สังคมไทย” ซึ่งความตั้งใจเช่นนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับก้าวต่อไป
ส่วนที่ 3 บริบทโลกธุรกิจ และความท้าทายของ Business School
3.1 บริบทโลกธุรกิจที่ VUCAS
ทศวรรษที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ต่างๆ ทำให้เราตระหนักอย่างชัดเจนว่า “โลกที่เราอยู่ไม่เหมือนเดิม” บ้างก็ว่า เรากำลังอยู่ในบริบทโลกที่ VUCA จากความผันผวน Volatile ความไม่แน่นอน Uncertain ความซับซ้อน Complex และความยากที่จะคาดเดา Ambiguous แต่สำหรับภาคธุรกิจ ผมขอเติม “S” เข้าไปอีก 1 ตัว เป็นโลกที่ VUCAS เนื่องจากภาคธุรกิจต้องเผชิญกับ Standard หรือมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น บริบทโลกธุรกิจ VUCAS สะท้อนอยู่ในมิติเหล่านี้ คือ
- ความผันผวน (Volatile) ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเร่งตัว
- ความไม่แน่นอน (Uncertain) ที่หลายอย่างไม่เป็นอย่างที่คาด เช่น
- สหรัฐอเมริกา ผู้นำการค้าเสรี กลับมาดำเนินนโยบายกีดกันการค้าเสียเอง
- Tesla บริษัทต้นแบบรถยนต์ไร้คนขับ สัปดาห์ที่แล้วราคาหุ้นตกลงรุนแรง ภายในวันเดียว หลังจากเกิดเหตุรถยนต์ที่ไร้คนขับเกิดอุบัติเหตุในหลายที่
- ความซับซ้อน (Complex) เราอยู่ในโลกที่ซับซ้อนเกินกว่าจะตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด และมีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าเดิม เช่น
- Cryptocurrencies ซึ่งแท้จริงคล้ายกับ Digital assets ไม่ได้มีลักษณะเป็นเงินที่ผ่านมาราคาผันผวนมาก รวมทั้งถูกใช้เป็นช่องทางฟอกเงิน ขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาพร้อมกันมีประโยชน์ ผู้กำกับดูแลต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่างเพื่อจะเขียนกฎอย่างไรให้พอดีกับสถานการณ์ กล่าวคือ ถ้าเขียนกฎเข้มเกินไปก็ไปปิดกั้นพัฒนาการ จึงต้องแยกระหว่างเทคโนโลยีกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
- ความยากที่จะคาดเดา (Ambiguous) เรากำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้กับบริบทโลกใหม่ หลายอย่างยังไม่หยุดนิ่ง ทุกอย่างอยู่ในช่วงปรับตัว การประเมินทิศทางและขนาดการเปลี่ยนแปลง จึงทำได้ยากลำบาก และความกำกวมเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจต้องรู้วิธีกระจายความเสี่ยง (diversify risks) อย่างเหมาะสม จึงไม่ต้องแปลกใจที่ Amazon แม้จะทำธุรกิจ online จนประสบความสำเร็จมาก ก็ต้องกระจายความเสี่ยงหรือขยายโอกาสทางธุรกิจโดยการซื้อธุรกิจ offlineอย่าง Whole Foods หรือ Alibaba ที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ online เช่นกัน ก็ต้องซื้อหรือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจ offline หลายแห่งในจีน
- ทิศทางการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น (Standard) กล่าวคือ ธุรกิจกำลังเผชิญกับการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เข้มข้นขึ้น และมีการแสดงออกถึงจุดยืนในเรื่องเหล่านี้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) 17 ข้อ ของ องค์การสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกจะร่วมกันแก้ไขและนำโลกไปสู่บริบทใหม่ที่ดีขึ้น หรือ การเรียกร้องสิทธิและการตรวจสอบของสังคมผ่าน Social media ที่สามารถปลุกกระแสสังคมให้พวกเราได้เห็นหลายโอกาสแล้ว
ที่สำคัญ เมื่อใดสังคมรู้สึกว่า ธุรกิจใดไม่ Healthy ต่อสังคมในมุมใดมุมหนึ่ง ย่อมมีผลกระทบถึงธุรกิจนั้นได้ เพียงแต่ในระยะเวลาอันสั้นหรือยาว หรืออาจทำให้ธุรกิจนั้นหมดโอกาสแก้ตัว และเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic risk ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
และนี่คือภาพรวมบริบทโลก VUCAS ที่ธุรกิจกำลังเผชิญ และเป็นความท้าทายที่ Business School ต้องเผชิญเช่นกัน
3.2 ความท้าทายที่ Business School
การจะรับมือกับบริบทโลกธุรกิจที่ VUCAS เช่นนี้ แน่นอนว่า “คนไทย ภาคธุรกิจไทยต้องเก่งขึ้น” แต่ในมาตรฐานใหม่ของโลกธุรกิจที่ต้องทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลำพังความเก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ การที่คนไทยและธุรกิจไทยจะสามารถอยู่รอดในระยะยาว จึงต้อง “เก่งและดี” และ Business School เป็นข้อต่อสำคัญในการสร้างบุคลากรและผู้นำธุรกิจที่ “เก่งและดี” เพื่อสร้างความเจริญให้กับองค์กร และทำประโยชน์ให้ประเทศ นับเป็น
ความท้าทายอย่างยิ่ง คำถามคือ ในโลก VUCAS ทำให้โจทย์ของ Business School เปลี่ยนไปอย่างไร?
ผมคิดว่า หลายเรื่องคือสิ่งที่ทุกท่านพอจะทราบอยู่แล้ว ในโอกาสนี้ ผมจึงทำหน้าที่เพียงผู้รวบรวมคำตอบที่อยู่ใน “เรดาร์” ในฐานะผู้สังเกตการณ์ กล่าวคือ
- เมื่อเทคโนโลยีทำให้ความรู้ได้กลายเป็นสมบัติสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ เราควรออกแบบการเรียนการสอนอย่างไร?
- ในโลกที่ความรู้ใหม่เกิดขึ้นในอัตราเร่ง เราควรจะสอนอะไรให้กับเด็ก?
- ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซับซ้อนและยากจะคาดเดา เราจะชี้ให้เห็นธรรมชาติและความเชื่อมโยงของปรากฏการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร? เราจะสอนวิธีถ่วงดุลความคิด ชั่งน้ำหนักเหตุผลก่อนการตัดสินใจได้อย่างไร?
- ในโลกที่มาตรฐานสูงขึ้น เราจะสร้างความเข้าใจต่อโลกในหลากหลายมุมได้อย่างไร? เราจะสอนให้ตระหนักถึงผลประโยชน์ในระยะยาวควบคู่กับผลประโยชน์ในระยะสั้นได้อย่างไร?
- ในโลกที่เต็มไปด้วยคู่แข่งทั้ง online และ offline รวมถึงสถาบันฝึกอบรมต่างๆ เราจะวางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไร?
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเองก็มีความคาดหวังต่อ Business School ต่างไปจากเดิม เพราะนิสิตนักศึกษาของที่นี่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรเหล่านี้ในอนาคต โดยผลการสำรวจความเห็น CEOs และผู้บริหารของบริษัทชั้นนำมากกว่า 70 แห่งทั่วโลกต่อ Business School ได้ให้
ความเห็นที่สำคัญคือ
- หลักสูตรจำเป็นต้องให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติงานภาคสนามจริงมากขึ้น และเห็นผลในสิ่งที่ลงมือทำ
- อาจารย์ต้องมีประสบการณ์หรือรู้จักโลกธุรกิจจริง และประยุกต์เข้าสู่บทเรียนได้ และ
- อันตรายอย่างยิ่งหาก Business School คิดอาศัยแต่ความสำเร็จในอดีต โดยไม่มุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของตลาด และนี่คือ เสียงสะท้อนของภาคธุรกิจ ผู้บริโภคคนสำคัญของ Business School ที่ไม่อาจมองข้ามได้
ส่วนที่ 4 Business School จะปรับหลักสูตรอย่างไร
ที่ผ่านมา ผมคิดว่า Business School เป็นหนึ่งในภาคการศึกษาที่ปรับตัวได้เร็วที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะได้ติดต่อกับภาคธุรกิจมากกว่าคณะอื่น หลายแห่งได้ปรับหลักสูตรให้ร่วมมือกับภาคธุรกิจ และมหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ รวมถึง การเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาไปสัมผัสกับบรรยากาศการสร้างธุรกิจจริง จนผมประหม่าเล็กน้อยว่า ผมอาจจะไม่สามารถ contribute อะไรได้มาก
ในส่วนนี้ผมขอนำประสบการณ์ตรง รวมทั้งสิ่งที่ได้ฟังจากท่านผู้ใหญ่มาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านในที่นี้
4.1 หลักสูตร Business School สำหรับนิสิตนักศึกษา
ผมอยากชวนพวกเรานึกย้อนไปในวันที่พวกเราเป็นนิสิตนักศึกษา พวกเราไม่มีประสบการณ์ มองไม่เห็นภาพที่ตัวเอง จะต้องไปเจออะไรในอนาคต และวิชาความรู้ที่เรียนมาก็ไม่รู้ว่า จะเอาอะไรไปใช้ได้ ขณะเดียวกัน ในวัยนั้น พวกเราเหมือนคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ยังไม่ได้โปรแกรมอะไร จึงแสวงหาและพร้อมจะรับ software ดีๆ เพื่อเป็นหลักในการพัฒนาตัวเอง ที่สำคัญ เราจะให้ software อะไรแก่พวกเขาเพื่อให้พวกเขาเดินไปอีก 40 ปีข้างหน้าที่ดีกว่าที่พวกเราเดินผ่านมา
คำถามแรก : เราจะพัฒนา software ดีๆ ให้นิสิตนักศึกษาได้อย่างไร?
ต้นปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ฟังปาฐกถาพิเศษของท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ทำให้ได้ข้อคิดที่มีประโยชน์ในเรื่อง “การศึกษา” หลายประเด็น และทำให้ประเด็นที่เหมือน “เส้นผมบังภูเขา” กระจ่างขึ้น จึงขออนุญาตเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อย
ท่านเห็นว่า
1. นิสิตนักศึกษาจำเป็นต้องมีวินัยเรียนรู้ตลอดชีวิต เหตุผลคือ การศึกษาเป็นระบบที่งอกเงยไม่มีสิ้นสุด หากเราหยุดสะสมความรู้ เท่ากับเราขาดความต่อเนื่องทางปัญญา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ และไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงได้ การเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ ของท่านกลับกระตุกความคิดผมไม่น้อย เพราะท่านได้ช่วย “กลัดกระดุมเม็ดแรกทางความคิดให้ถูก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นิยามที่แท้จริงของการศึกษา” ว่า “การศึกษาเป็นระบบที่ต้องมีการสานต่อความต่อเนื่องทางปัญญา” เหมือน “มีดที่ต้องลับให้คมเสมอ” และเท่าที่ผมสังเกตคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ผมยังไม่เคยเห็นใครหยุดเรียนรู้
ขณะที่ค่านิยมของคนส่วนหนึ่งกลับคิดว่า “ปริญญาคือใบเบิกทาง” หรือ “เรียนสูงเพื่อเป็นเกียรติ” จนเคยมีคนพูดว่า “เด็กไทยมีความรู้มากที่สุดในวันที่พวกเขาจบการศึกษา และความรู้ที่มีค่อยๆ หายไปในเวลาไม่นานนัก” จึงน่าเสียดายอย่างยิ่ง
2. นิสิตนักศึกษาควรได้เรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหาและการปฏิบัติจริง กล่าวคือ เรื่องราวและปัญหาในที่ต่างๆ ล้วนมีลักษณะเฉพาะ หากใช้ความรู้สำเร็จรูป แบบท่องจำ หรือเปิดตำราก็ไม่มีทางจัดการหรือแก้ปัญหาได้สำเร็จ เพราะเน้นการใช้ความรู้ โดยไม่เรียนรู้ ที่สำคัญ ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงมาในสารพัดรูปแบบ ถ้าถูกสอนมาแบบท่องจำ เจอโจทย์ที่ไม่คุ้นก็ทำอะไรไม่ถูก แต่ถ้าถูกสอนมาให้มีทักษะหรือเคยมีประสบการณ์แล้วเจออะไรแปลกใหม่มาก็จะไม่กลัวเมื่อนึกย้อนถึงวัยเด็ก พ่อแม่ผมทำงานหนัก แม้ท่านไม่ได้มีเวลาสั่งสอนหรือเตรียมอะไรผมมากนัก แต่เน้นให้ทำงาน ลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาดต่างๆ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้กลับซึมซับให้ผมได้นำมาประยุกต์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ เหมือนกับผมถือแค่แฟ้มบางๆ แต่สำคัญ เทียบกับเมื่อผมเลี้ยงลูก พยายามเตรียมอะไรไว้ให้เขาเยอะ กลัวว่าเขาจะไม่ได้ในสิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญ จนรู้สึกว่า เขาแบกแฟ้มอันใหญ่ จนมาถึงวันนี้ ผมบอกไม่ได้ว่า แฟ้มใหญ่นั้น จะเป็นหลักประกันว่าจะดีกว่าแฟ้มบางๆ
3. การรู้จักทำงานอย่างร่วมมือ เชื่อมโยงและมีบูรณาการ กล่าวคือ การที่มีทรัพยากรหรือความรู้มาก แต่อยู่ในระบบที่ต่างคนต่างอยู่หรือไซโล ไม่สามารถเชื่อมโยงกัน ขาดการบูรณาการ สิ่งที่มีอยู่ก็อาจสูญค่า ไร้ประโยชน์ เหมือนการชำแหละร่างกายเราเป็นส่วนๆ ย่อมไม่มีชีวิต ซึ่งพวกเราพอจะสังเกตเห็นจากอาการเช่นนี้มากบ้างน้อยบ้างทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นตัวเหนี่ยวรั้งประสิทธิภาพและการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง
ท่านอาจารย์หมอประเวศได้เสนอทางออกเพื่อสร้างคนไทยคุณภาพคือ ต้องให้มี “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง” (Interactive learning through action) ซึ่งไม่ใช่การทำโครงการแบบพอให้เห็นภาพ แต่หมายความว่า นิสิตนักศึกษาต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพความเป็นจริงของธุรกิจหรือสังคม ต้องรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมแก้ปัญหา จึงจะทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงได้ และปลูกฝังให้พวกเขารู้สึกว่า งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและ “การแปรความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้” เป็นพื้นฐานสำคัญ เมื่อต้องไปทำงานจริง จะได้แก้ปัญหาได้ การปรับหลักสูตรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ชีวิตจากสถานการณ์จริง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นหัวใจสำคัญ
คำถามต่อมาคือ จะออกแบบหลักสูตรอย่างไร?
1. หลักสูตรควรให้นิสิตนักศึกษาเข้าไปมีสัมผัสและมีส่วนร่วมกับปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมือง และผมคิดว่า หลักสูตรเช่นนี้ควรทำทั่วประเทศ ไม่ใช่จำกัดเฉพาะ Business School
ผมเชื่อว่า เมื่อนิสิตนักศึกษาได้เข้าไปสัมผัสหรือร่วมแก้ปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมือง จะทำให้เขารู้สึกรักและหวงแหนแผ่นดินเกิดของเขา และนี่คือ Software สำคัญที่จะทำให้พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ดังนั้น ในหลักสูตรอาจกำหนดให้มีการทำโครงการสร้างคุณค่าหรือแก้ปัญหาให้บ้านเมืองจริงอย่างน้อย 1 โครงการ คล้ายกับที่ Harvard Business School เพียงแต่ชนิดของ software ที่ต้องการบรรจุไว้ในคอมพิวเตอร์ต่างกันเท่านั้น โดยที่นั่นจะกำหนดให้นักศึกษาต้อง immerse หรือไปทำงานจริง ใน emerging market อย่างน้อย 2 เดือน
2. วิธีการออกแบบหลักสูตร ซึ่งเป็นไปได้หลายวิธี วิธีหนึ่งที่ผมคิดว่า น่าสนใจคือ การทำหลักสูตรในลักษณะแซนวิชให้ได้ทำงานจริงกับ Stakeholders กลุ่มต่างๆ อาทิ ชุมชน NGO ธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ สลับกับการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งมีทั้ง technical และ soft skill เพื่อให้นิสิต นักศึกษาได้เห็นโลกในหลายมิติก่อนจะเลือกทำโครงการจริง
ตัวอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการนำมาใช้ในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) โดยให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้คู่กับการปฏิบัติจริง ในลักษณะ อบรมเข้าห้องเรียนสลับกับการท างานในสถานการณ์จริงอย่างละ 3 เดือนเวียนกันไปเป็นเวลาประมาณ 2 ปี โดยผู้เข้าอบรมจะมีการทำงานจริงทั้งในส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง การบริหารนโยบาย ภาคเอกชน และการปฏิบัติราชการในต่างประเทศ
3. ควรปรับหลักสูตรให้ทันสมัยเสมอ และควรเปิดให้ Stakeholders ของ Business School รวมถึงนิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรด้วย นอกจากนี้ เพื่อเปิดโอกาสเด็กได้ค้นหาตัวเองผ่านการเลือกวิชาที่สนใจมากขึ้น หลักสูตรจึงควรเน้นวิชาเลือกมาก ขณะที่วิชาบังคับน้อยลง คำถามสุดท้ายคือ ครูจะช่วยวางระบบ Software ได้อย่างไร?
ผมคิดว่า ระบบ software ที่ดีก็คือ หลักคิดที่ถูกต้อง ครู ควรปรับบทบาทไปเป็น “คู่คิด” ที่คอยติดอาวุธทางความคิดให้พวกเขา
1. รู้จักไว้ใจในศักยภาพตัวเอง เพื่อให้พวกเขามีพลังชีวิตในการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็ต้องถ่วงดุลความคิด ไม่ให้พวกเขารู้สึกเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองมากจนรู้สึกสูงส่งกว่าคนอื่น หรือไม่ให้ปักใจอะไรง่ายๆ โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารสามารถแพร่สะพัดได้อย่ารวดเร็ว และบางครั้งยากที่จะบอกว่า ข่าวที่เราได้รับรู้เป็นจริงหรือเท็จ
2. รู้จักตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตมีจุดหมายอย่างไร และตนควรดำเนินชีวิตอย่างไร ถึงจะสามารถพอใจได้ว่า ชีวิตของพวกเขา มีอะไรที่พอจะชื่นใจในตัวเอง ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุใช้คำว่า “พอใจถึงขนาดที่จะยกมือไหว้ตนเองได้” ว่าตนได้ใช้ “ชีวิตอย่างมีความหมาย”
3. รู้จักเคารพความรู้ และประสบการณ์ของคนอื่น จะทำให้เด็กรู้จักเคารพในความแตกต่างและให้เกียรติผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานทำให้เกิดการไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และทำให้พวกเขาสามารถขยายมุมมองความคิดได้อย่างกว้างขวาง ในที่สุดแล้ว ความแตกต่างทางความคิด จะนำมาซึ่งนวัตกรรม
ท่านอาจารย์หมอประเวศได้ยกตัวอย่างได้อย่างเห็นภาพชัดเจนว่า ไม่ว่าเราจะมีไฮโดรเจนมากเท่าไร ก็ไม่มีทางจะสร้างสิ่งที่มีคุณสมบัติต่างไปจากไฮโดรเจน แต่ถ้าไฮโดรเจนนี้ มาเจอออกซิเจนสักหน่อย ก็สามารถได้คุณสมบัติใหม่คือน้ำ และนี่คือสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรม” ที่ล้วนเกิดจากความแตกต่าง
4. รู้จักบังคับตัวเอง พวกเขาควรได้รับการอบรมให้คุ้นชินกับการฝึกและบังคับตนให้อยู่ในระเบียบ วินัยและมีสติ เมื่อฝึกฝนบ่อยขึ้น จะทำให้เขาสามารถควบคุมตัวเองได้ ผมคิดว่า เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนในอนาคต การฝึกตัวเองเช่นนี้จะทำให้สามารถตั้งสติได้เร็ว และสามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม
4.2 Managers vs Leaders
ในบริบทของโลกธุรกิจยุคใหม่ที่มีลักษณะ VUCAS อย่างที่ได้เรียนในช่วงก่อนหน้า ความคาดหวังต่อ Business School ในการผลิตนิสิตนักศึกษาจึงเปลี่ยนไป Business School ไม่ใช่แค่จะต้องผลิตบุคลากรออกไปเป็น CEOs ของบริษัทต่างๆ แต่ต้องสร้างนิสิตให้ออกไปเป็น “Leaders” หรือผู้นำที่สร้างและพาองค์กรให้ก้าวผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ปกติการเรียนการสอนหรือการอบรมทักษะส่วนใหญ่ของ Leaders จะเน้นในส่วนที่
เรียกว่า Competence ไม่ว่าจะเป็น
- การมองเห็นบริบทใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Visioning)
- การวางแผนให้องค์กรตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเป้าหมาย (Strategizing)
- วิธีทำงานให้สำเร็จ (Executing)
- วิธีพัฒนาความสัมพันธ์ (Relating) ซึ่งรวมถึงความสามารถท างานร่วมผู้อื่น แม้กระทั่ง
- วิธีทำให้พนักงานเชื่อมั่นในพลังและความสามารถของตัวเอง
- ความสามารถทางเทคนิค อาทิ ด้านบัญชี ด้านการเงิน
คำถามคือ Leaders และ Managers ต่างกันอย่างไร?
1. Leaders จะตระหนักรู้ว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงก่อนจะถูกบังคับให้เปลี่ยน
2. Leaders จะไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต
3. Leaders จะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากความหลากหลาย ต้องสามารถที่จะดึงความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องมาตอบโจทย์ที่ซับซ้อน มีกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น พร้อมที่จะยอมรับข้อแตกต่าง ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า Leaders หรือคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงจะต้องเป็นคนที่เก่งที่สุด แต่ต้องเป็นผู้ที่สามารถผนวกศักยภาพของแต่ละคนหรือต้อง empower นั่นเอง
4. Leaders จะต้องเป็นผู้ที่มี empathy และ “ต้องเป็นผู้ฟัง” รวมทั้งจะต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในการสื่อสารและสามารถที่จะโน้มน้าวให้คนในองค์กรเห็นทิศทางขององค์กร รวมถึงความจำเป็นในกรณีที่ต้องเปลี่ยนแปลง
5. ในโลกที่มองไปข้างหน้าที่สถานการณ์จะไปในลักษณะที่ยากจะคาดเดา Leadersจะต้องไม่กลัวความล้มเหลว ต้องกล้าเสี่ยงที่จะตัดสินใจบนข้อมูลที่มี (Informed risk taking)พร้อมกับสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานกล้าที่จะลองผิดลองถูก ซึ่งจะช่วยให้ทีมงานค้นพบศักยภาพ ความสามารถและความถนัดที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนองค์กร
Sir Isaac Newton เคยกล่าวไว้ว่า “No great discovery was ever made without a bold guess.” หรือไม่มีการค้นพบที่สำคัญครั้งไหนที่ไม่เริ่มจากการคาดเดาปกติแล้ว ธรรมชาติของชีวิต เรามักจะพบกับ “ความล้มเหลว” มากกว่า “ความสำเร็จ” และทุกประสบการณ์จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้
6. Leaders ต้องเป็นผู้มองโลกในแง่บวก
Hans Rosling Data scientist ชื่อดังที่เพิ่งจะเสียชีวิตเมื่อปีที่ผ่านมา พูดในหนังสือ “Factfulness” ไว้อย่างน่าสนใจว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะคิดลบ (negativity) และหาคนผิด(blame instinct) ซึ่งเรามีแนวโน้มที่จะหาคนผิด หรือ “scapegoat” และรวมถึงการที่เรามักจะมองหาวีรบุรุษ หรือ “hero”ลักษณะเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา โดยเฉพาะในโลก VUCASความก้าวหน้าของมนุษยชาติที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะ hero หรือ วีรบุรุษแต่พัฒนาการของโลกเป็นผลจากระบบที่มีความก้าวหน้า หรือ Modernity is a miracleof systems.
ตัวอย่างเช่น การที่มนุษยชาติสามารถเอาชนะโรคโปลิโอให้หมดไป ไม่ใช่เพราะ JonasSalk ผู้ค้นพบวัคซีนโปลิโอเท่านั้น แต่เพราะความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บุคลากรทางการแพทย์ NGOs ดังนั้น การที่มุ่งเน้นหาแต่ “hero” โดยที่ไม่ดูระบบในภาพรวมจะทำให้พลาดพัฒนาการที่สำคัญ