‘ดร.พรายพล’ หนุนใช้พลังงานชีวมวล-แบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงาน เลี่ยงพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
'ดร.พรายพล' เเนะ 3 ทางเลือก เลี่ยงพึ่งพาไฟฟ้าจากถ่านหิน หนุนไทยใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม ตั้งเป้ามากกว่าร้อยละ 30 เน้นพลังงานชีวมวล พร้อมส่งเสริมการใช้เเบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงาน เชื่อเกิดขึ้นภายใน 5 ปี
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในเวทีเสวนา เรื่อง ทางเลือกพลังงานไฟฟ้าไทย ถ้าไม่พึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อิน สีลม กรุงเทพฯ
ศ.ดร.พรายพล กล่าวถึงทางเลือกของพลังงานไฟฟ้าไทย หากไม่พึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินมี 3 ทาง ได้แก่ 1.ไทยต้องเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันพบว่าการบริหารจัดการการใช้ดังกล่าวยังมีไม่มากพอ โดยเฉพาะความพยายามรณรงค์ไม่ให้ใช้มากเกินไปในช่วงที่มีความต้องการสูงของแต่ละวัน และกรณีที่เกิดปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอ ผู้ใช้รายใหญ่จะต้องยินดีลดการใช้ แต่จะได้รับการชดเชย ซึ่งมาตรการนี้เคยนำมาใช้ในไทยเป็นครั้งคราว แต่อนาคตควรนำมาใช้อย่างถาวร
2.ส่งเสริมให้ไทยใช้พลังงานหมุนเวียน เพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจกได้ ปัจจุบันตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 30 แต่คิดว่า ต้องเพิ่มมากกว่านี้ ที่สำคัญ ไทยมีศักยภาพที่ดีในเรื่องพลังงานชีวมวล โดยเฉพาะวัตถุดิบเหลือใช้จากเกษตรกรรม และไม้โตเร็วมีโอกาสมาก ปัจจุบันส่งออกไม้ยางพาราไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ แม้พลังงานชีวมวลอาจจะมีควันบ้าน แต่ถือว่าเกือบทั้งหมดเป็นพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ รวมถึงการใช้แบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงานในอนาคต เชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายใน 5 ปี เพราะหากผู้ใช้ติดโซล่าร์เซลส์บนหลังคาควบคู่กับแบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงาน เชื่อว่าแทบไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากหน่วยงานของรัฐเลย ประกอบกับต้นทุนกำลังจะลดลงเหลือเพียง 200 ดอลล่าร์สหรัฐ จะยิ่งมีผู้ใช้ติดตั้งแน่นอน เพราะปัจจุบันเริ่มมีการติดตั้งค่อนข้างมากแล้ว
อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า ทางเลือกสุดท้าย คือ การใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่ยอมรับรู้สึกอึดอัด เพราะต้องพึ่งพามากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในอีก 10 ปีข้างหน้า เชื่อว่าปริมาณจะเชื้อเพลิงชนิดดังกล่าวจะลดลง แต่หากยังมีความต้องการใช้มาก ยิ่งต้องนำเข้า และจะมีราคาสูงในอนาคต พอ ๆ กับน้ำมัน ทั้งนี้ มองว่า สำหรับทางเลือกดังกล่าว รัฐต้องเร่งส่งเสริมการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในไทยให้มากด้วย