ทุ่มเงินสงเคราะห์แสนล้าน/ปี ไร้ผล นักวิชาการตีแผ่ความเหลื่อมล้ำ-ยากจน ไม่ดีขึ้นเลย
นักวิชาการมธ.ยันกรณีทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง ต้นเหตุกระทรวงพม.หวง ยื้อไม่กระจายอำนาจโอนภารกิจสู่ท้องถิ่น จนนำมาสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น แนะปรับระบบคิด รื้อโครงสร้างบริหารราชการเสียใหม่
วันที่ 4 เมษายน 2561 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคม ครั้งที่ 2 ตีแผ่ "เงินสงเคราะห์" เรามาถูกทางหรือไม่ ? ในการช่วยเหลือคนจน ณ ห้องประชุมประกอบหุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มธ.กล่าวถึงการให้เงินสงเคราะห์กับคนด้อยโอกาส คนยากจน คนไร้ที่พึ่ง จำนวนกว่า 11 ล้านคนนั้น แสดงว่า ประเทศไทยมีปัญหา เราแก้ไม่ตกคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ยังมีช่องว่างที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นกลไกของรัฐต้องกลับมาคิดใหม่ เงินสงเคราะห์ที่เขาได้รับไปแล้วนั้นเขาช่วยตัวเองได้มากแค่ไหน
"รัฐใช้เงินสงเคราะห์กว่าแสนล้านบาท แต่คำถามคือทำไมยังบ้านเรายังพบความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างความยากจน นี่คือปัญหาที่เกิดจากการเยียวยา ถามว่า มาถูกทางหรือไม่หากรัฐบาลยังแก้ไขปัญหานี้ในระบบเดิมๆ"
ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวถึงเงินสงเคราะห์คนจน คนด้อยโอกาส และคนไร้ที่พึ่ง ที่ลงไป ทั้งหมดเป็นประชานิยมชั่วครู่ชั่วคราว เป็นหารเยียวยาชั่วคราว สังคมไทยจึงเสพติดสวัสดิการของรัฐ แล้วปัญหาก็กลับมาเหมือนเดิม
"สวัสดิการแห่งรัฐ ตามหลักวิชาการเป็นเรื่องดี แบ่งเป็น 1. สวัสดิการแห่งรัฐสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม เช่น สิทธิการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข 2.สวัสดิการสำหรับเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ คนด้อยโอกาส คนพิการ คนเร่ร่อน ซึ่งมีกรอบให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน" คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มธ. กล่าว และยืนยันว่า การสงเคราะห์คนด้อยโอกาสได้มาถึงจุดความท้าทายที่รัฐต้องคิดแล้ว หากยังอยู่จุดเดิมเราจะเยียวยาไม่ถูกจุด ที่หวังลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ฉะนั้นต้องเปลี่ยน "กลไก" เชิง "โครงสร้าง"
ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวอีกว่า การบริหารราชการส่วนกลางต้องโอนการสงเคราะห์ด้อยโอกาสไปให้ส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะภารกิจสำรวจคนด้อยโอกาส รวมถึงให้คนท้องถิ่นร่วมกันตรวจสอบ
"หากรัฐบาลไทยต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เช่น ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง ที่อยู่ส่วนกลางแล้วไปช่วยเหลือคนจน ต้องเปลี่ยนกระจายอำนาจให้พื้นที่ให้ท้องถิ่น เชื่อว่า ส่วนท้องถิ่นทำได้ดีกว่าการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งมีโอกาสคอร์รัปชั่นสูงด้วย ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง คือตัวอย่าง การรวมศูนย์แบบนี้ไม่มีกลไกตรวจสอบระดับภูมิภาค"
ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวถึงการกระจายอำนาจที่ถูกต้องมีภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบด้วย สังคมไทยไม่เคยสร้างภาคประชาสังคม องค์กร ชุมชนที่เข้มแข็ง นี่คือจุดอ่อน การป้องกันทุจริตของเรา กรณีเงินที่มีการทุจริตในศูนย์พักพิงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ศูนย์พักพิงสังกัดส่วนกลาง ไม่ได้ขึ้นตรงกับส่วนจังหวัดหรือส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อีกทั้งยังมีความผิดพลาด คือ ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เช่น จำนวนคนไร้ที่พึ่งมีเท่าไหร่ การทำข้อมูลให้รัฐบาล หรือแม้กระทั่ง จำนวนเงินที่ให้กับคนไร้ที่พึ่ง เราไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับทราบ
"การที่กระทรวง พม.หวงอำนาจ ยื้อไม่ถ่ายโอนตามแผนกระจายอำนาจนั้น คือความผิดพลาด ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวนวิธีคิดการบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่ ลดอำนาจรัฐ ทำให้สังคมเข้มแข็ง ให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เนื่องจาก ส่วนกลางไม่มีทางรู้ข้อมูลแท้จริงว่า คนจนอยู่ที่ไหนต้องให้ท้องถิ่นทำหน้าที่ตรวจสอบ"
ทั้งนี้ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มธ. ยังตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายด้วยว่า ทำไมเงินผู้สูงอายุไม่ถูกแฉว่ามีคอร์รัปชั่น ด้วยเพราะข้อมูลถูกตรวจสอบ เปิดเผยต่อสาธารณะ ฉะนั้นเงินสงเคราะห์ปีละแสนล้านบาทที่ลงสู่คนจนจึงมีความเหลื่อมล้ำ เหตุเพราะการรวมศูนย์อำนาจนั่นเอง ขณะที่ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง ที่พม. ตั้งขึ้นปี 2557 ทีเดียว 76 แห่ง มีอะไรซ่อนเร้นไว้หรือไม่ เป็นคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายหรือไม่
"ทุกวันนี้เกือบทุกรัฐบาลจับปลาให้ชาวบ้านกิน กลับไม่ได้ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้เลย"