ผู้บริหาร LPN ยกคดีเข้าป่าล่าเสือดำ ลั่น "หากเกิดกับตัวผม ผมรับผิดเลย"
ดร.ปริญญา ชี้จุดเปลี่ยนสำคัญคดีเสือดำ เมื่ออัยการส่งฟ้องต่อศาล ถึงเวลาเรียกร้องบอร์ดอิตาเลี่ยนไทยฯ ปลด 'เปรมชัย' -ถามหาธรรมาภิบาลรัฐบาลถึงการที่บริษัทนี้เข้ามารับงานเงินภาษีปชช. ยันเข้าป่าล่าสัตว์เป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนไทยกลัวคดีหลุด หวั่นอำนาจเงินจะเหนือกฎหมายอีกครั้ง
วันที่ 2 เม.ย.2561 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาในหัวข้อ "เราจะทำอย่างไรกับปัญหาธรรมาภิบาลบริษัท:กรณีศึกษา บริษัทอิตาเลี่ยน-ไทย" ณ ห้อง SC อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์(SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงหลักธรรมาภิบาล ไม่ได้มีเฉพาะแต่ภาครัฐ แต่รวมถึงภาคเอกชนด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทในตลาดฯ และยังรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐด้วย การจะมาบอกว่า ความรับผิดชอบกับสังคมจะเกิดหลังศาลพิพากษา ให้ศาลพิพากษาก่อน
"กรณีเปรมชัย มีการจับกุมในที่เกิดเหตุ ผมมองว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของคนๆนั้นต้องมีมากกว่าปกติ เช่น การลาออก หรือไม่ คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องปลดออก แต่บอร์ดกลับมีความเห็นให้ศาลพิพากษาก่อน ผมมองว่า บริษัทในตลาดฯ จะเสียหายมากกว่าบริษัทที่ทำธุรกิจแบบครอบครัว แถมรับงานก่อสร้างภาครัฐระดับแสนล้านบาท ดังนั้นสังคมจึงคาดหวังสูง "
ศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของคดีเสือดำ คือ เมื่ออัยการส่งฟ้องต่อศาล เสนอว่า เมื่อถึงจุดนี้สังคมไทยคงต้องเรียกร้องต่อบลจ.อิตาเลี่ยนไทยฯ เพราะได้ใบเหลืองแล้ว บอร์ดควรปลดหรือไม่ รวมถึงเรียกร้องต่อรัฐบาลถึงการที่บริษัทนี้เข้ามารับงานภาครัฐ
"เสือดำเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนไทยกลัวคดีนี้หลุด ความเหลื่อมล้ำจะเกิดอีกครั้งและอำนาจเงินจะเหนือกฎหมาย คนรวยจะรอดพ้นจากกฎหมาย ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว"
ขณะที่นายพิเชษฐ ศุภกิจจานุสันติ์ ประธานอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการทำธุรกิจมองผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมองให้หลากหลายมิติ โดยเฉพาะหลักธรรมาภิบาล
"หลักธรรมาภิบาล คือสิ่งที่ควรจะทำ อยู่ที่จิตสำนึก ต่างจากกฎหมายที่กำหนดให้ต้องทำ ณ วันนี้บรรษัทธรรมาภิบาลเริ่มมีบทบาทขึ้นเรื่อยๆ"
นายพิเชษฐ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นการกระทำขัดหลักธรรมาภิบาล ในระดับผู้บริหารจึงอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนว่า จะออกมารับผิดชอบอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันค่านิยมผู้ถือหุ้น ก็สำคัญหลายๆครั้ง ผู้บริหารบริษัทมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล แต่กลับไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อผลประกอบการ เพราะผู้ถือหุ้นเชื่อว่า ทำในฐานะส่วนตัว แม้ว่า การกระทำนั้นจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ พร้อมกับมองว่า กระทบภาพลักษณ์องค์กรระยะยาวไม่มาก
"ค่านิยม และทัศนคติของผู้ถือหุ้นบ้านเรายังห่างไกลจากจุดนี้พอสมควร แตกต่างจากต่างประเทศ"
การที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นำภาพสวยๆ หลักธรรมาภิบาลมาใส่ นายพิเชษฐ กล่าวว่า ไม่ยากเลย เขียนได้ แต่จะทำได้หรือไม่ ยังเป็นคำถาม ทำไม่ได้ก็ไม่ได้มีบทลงโทษ ยิ่งบทลงโทษคนระดับผู้บริหารเป็นไปได้ยากมากในเมืองไทย บอร์ดจะเกรงใจ ผู้บริหารที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
"หลักธรรมาภิบาล 240 กว่าข้อ เชื่อว่า ทำไม่ได้หมด หลายข้อทำไม่ได้ แต่สามารถแบ่งระดับ 1 2 3 ได้ ฉะนั้น ผู้นำมีส่วนสำคัญมาก เป็นภาพลักษณ์องค์กร ถ้าเกิดมีการทำไม่ถูกต้อง ผิดศีลธรรม แม้ไม่มีบทลงโทษ แต่มั้นใจว่า มีผลกระทบภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งหากเกิดกับตัวผม ผมรับผิดเลย" ผู้บริหาร LPN กล่าว และ ว่า บริษัทในตลาดฯ จำนวนไม่น้อยเห็นความสำคัญของหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะผู้บริหารรุ่นใหม่ สามารถจะเป็นความหวังใหม่ได้
ด้านนายพิษณุ พรหมจรรยา ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวว่า หลักธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาล เป็นคำสวยหรู คนกำกับคือคณะกรรมการของบริษัท (บอร์ด) ซึ่งจะมีประสิทธิภาพที่ดีได้บอร์ดต้องเอาด้วย ดำเนินการจริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว
"กรณีเสือดำสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม ธรรมาภิบาลอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร เห็นได้จากราคาหุ้น ฉะนั้น มาตรฐานจริยธรรม (Code of Conduct ) ขององค์กรทำอย่างไรให้เกิดผลจริง บอร์ดควรลงมาตรวจสอบ และแจ้งให้สาธารณะชนรับทราบจะทำอย่างไรต่อไปกับเรื่องนี้"
ส่วนนายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วันนี้เราต้องคุยกันเรื่องหลักธรรมาภิบาล คุยกันในเชิงมาตรฐาน ความรับผิดชอบต่อสังคมจะเอากันแค่ไหน การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย
"กระบวนการยุติธรรมไทย เป็นกระบวนการสามชาติ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี ผู้บริหารองค์กร คือตัวแทนองค์กร หากทำความเสียหายเป็นที่อื้อฉาว ขัดหลักการธรรมาภิบาลของบริษัท และกฎหมาย ตรงนี้บริษัทจะทำอย่างไรกับผู้บริหารที่กระทำผิดอย่างนี้"
รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวอีกว่า การกระทำผิดของประธานบลจ.อิตาเลี่ยนไทยฯ คำถาม คือ เข้าไปอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ซึ่งเข้าไปได้ยาก อีกทั้งจุดที่พักมีซากสัตว์ จึงผิดปกติ และยังมีการได้นำอาวุธปืนเข้าไป จึงเป็นที่น่าสงสัย และน่าติเตียน
"เรื่องสำนึกความรับผิดชอบ ทำผิดหลักการบรรษัทธรรมาภิบาล วันนี้ไม่ได้ผิดแค่ประธาน ประเด็นเลยตัวบุคคลที่กระทำไปตั้งคำถาม บอร์ดบริษัทแล้ว และยังสะท้อนกระบวนการละเมิดธรรมภิบาลขององค์กรธุรกิจ รวมถึงภาครัฐด้วยที่เอาผิดกับพนักงานสอบสวน ฉะนั้น จับตาภาคเอกชน ก็อย่าลืมจับตาธรรมาภิบาลภาครัฐด้วย สะท้อนทั้งภาครัฐปละเอกชน"
สุดท้ายนายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาบริษัท สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงธรรมาภิบาล ย้อนไปก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 แทบไม่มีใครรู้จักวันนี้แนวคิดการแสวงหากำไร เปลี่ยนไปเป็นความยั่งยืน โปร่งใส ตรวจสอบได้
"เรื่องเสือดำ ทำให้สังคมตื่นตัว ส่งผลต่อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 1.กฎหมายกฎเกณฑ์ เช่น พ.ร.บ หลักทรัพย์ 2.จิตสำนึก สู่การปฎิบัติ นำโดยบอร์ดบริษัท วางเป้าหมายการดำเนินนธุรกิจคู่กับความยั่งยืน แม้ไม่มีสภาพบังคับ 3.แรงผลักดันจากตลาด ผู้ลงทุนมองอย่างไร มองในแง่ไหน ช่วยกันขับเคลื่อนก็จะเดินต่อไปได้
ดังนั้นเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) ต้องพัฒนากันต่อไป"นายธวัชชัย กล่าว และแสดงความเห็นด้วยกับการบริหารองค์กรตามหลักธรรมภิบาล โดยเฉพาะผู้นำองค์กรสำคัญมากต่อภาพลักษณ์ จะโอบอุ้ม ปกป้องศักดิ์ศรีขึ้นมาได้อยู่กับตัวผู้นำองค์กรทั้งสิ้น