เจาะความเห็น อสส. ชี้ขาดกรมอุทยานฯ ควักจ่ายชุดลายพรางอผศ.49ล.-ปัญหาฮั้วคนละส่วนกัน?
"... ส่วนกรณีที่กรมอุทยานฯ เห็นว่า การดำเนินการของอดีตผู้บริหารกรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นการมิชอบต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และมิชอบต่อระเบียบปฏิบัติ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการนั้น เป็นกรณีที่กรมอุทยานฯ จะต้องดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องเป็นอีกส่วนหนึ่ง..."
นับจนถึงเวลานี้ ยังไม่มีคำชี้แจงเป็นทางการจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ต่อกรณีมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ที่มี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้นเป็นประธาน สั่งยุติเรื่องกรณีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกษา (อผศ.) เรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชำระค่าเสียหายเนื่องจากผิดสัญญาซื้อขายชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ วงเงิน 49,800,000 บาท และนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เป็นทางการไปแล้ว
โดยชี้ขาดให้กรมอุทยานฯ รับมอบชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 8 พันชุด พร้อมให้ชำระเงินรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 49,800,000 บาท ให้แก่ อผศ. ตามสัญญาจ้าง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กรมอุทยานฯ ต้องชำระค่าเช่าสถานที่เก็บรักษาสินค้าดังกล่าว เป็นเงินเดือนละ 28,125 บาท รวมค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้าเดือนละ 100 บาท นับตั้งแต่วนที่ 1 เม.ย.2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะรับมอบสินค้าและชำระเงินเสร็จสิ้น โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยผิดนัดให้เนื่องจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน
ทั้งที่ การจัดทำโครงการจัดซื้อชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ กับ อผศ.ดังกล่าว กรมอุทยานฯ เคยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการดำเนินงานโครงการนี้ หลายประเด็น อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ถูกขั้นตอนหรือไม่ เครื่องแบบพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าว ทำ หรือผลิตโดยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกหรือไม่อย่างไร และราคาสูงกว่าท้องตลาดหรือไม่ ตั้งแต่ช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กรมอุทยานฯ ไม่ยินยอมจ่ายเงินค่าจ้างงานให้กับ อผศ.ตามสัญญาจ้าง
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในกรมอุทยานฯ ว่า ในการพิจารณาของ กยพ. ไม่ได้มีการเรียกตัวแทนของกรมอุทยานฯ เข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด แต่ยึดความเห็นของอัยการสูงสุด ที่เห็นสมควรให้ กรมอุทยานฯ จ่ายเงินให้กับอผศ. เป็นหลักในการพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งที่ ความเห็นของอัยการสูงสุด ก็ยังไม่ถือเป็นความเห็นชี้ขาด และที่ผ่านมาก็เคยมีคำตัดสินวินิจฉัยของศาลหลายคดี อาทิ คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่มีการระบุถึงการดำเนินโครงการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการร่วมกันวางแผนและมีการเอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินค่าเงินให้กับเอกชนด้วย เป็นต้น (อ่านประกอบ : ลึกแต่ไม่ลับ!เบื้องหลังมติกยพ.เคลียร์ปมชุดลายพราง-กรมอุทยานฯ กลืนเลือดควักจ่ายอผศ.49ล.(ค่าน้ำไฟด้วย))
น่าสนใจว่า บทบาทท่าทีและความเห็นของอัยการสูงสุดต่อ กรณีนี้เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกรณีเพิ่มเติมพบว่า ภายหลังจากที่ กรมอุทยานฯ ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อชุดลายพราง จาก อผศ. ดังกล่าว
อผศ.ได้ทำหนังสือเร่งรัดการจ่ายเงินหลายครั้ง แต่กรมอุทยานฯ ก็ยืนยันความเห็นว่าจะไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้ จนกระทั่งในช่วงปลายเดือนเม.ย.2559 อผศ. จึงได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ช่วยพิจารณาเรื่องการทำผิดตามสัญญาว่าจ้างของกรมอุทยานฯ ให้
เบื้องต้น ในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการ นั้น กรมอุทยานฯ ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากมีพฤติการณ์ให้เห็นว่า อดีตผู้บริหารกรมฯ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันกระทำการสมยอมกันในการเสนอราคาเพื่อมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในการประกวดซื้อขาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ราคาที่ตกลงกันซึ่งสูงกว่าท้องตลาดโดยทั่วไป และอาจมีการแบ่งผลประโยชน์กันเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ทำให้รัฐได้รับความสูญเสียงบประมาณมากกว่าที่ควรจะเป็นดังเห็นได้จากการสืบราคามิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของราชการ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่กระทำไปโดยเร่งด่วนทั้งที่มิใช่กรณีเร่งด่วน
นอกจากนี้ราคาที่จัดซื้อมีราคาที่สูงมาก และอผศ.ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับสิทธิพิเศษตามนัยหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0202/ว23 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 จึงไม่ควรเร่งรีบที่จะจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษ เนื่องจากอผศ.ไม่ได้ผลิตสินค้าชนิดเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) เอง อันจะเป็นการปฏิบัติกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0408.2/ว25 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 เนื่องจากเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) ไม่อยู่ในรายการผลิตตัดเย็บเครื่องแบบ เครื่องแต่งกาย เครื่องนอน เครื่องสนาม ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์ไม้ครุภัณฑ ผลิตภัณฑ์โลหะ และยุทธภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ นั้น การอนุมัติเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติกรณีจำเป็นเร่งด่วนจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ จึงไม่ผูกพันกรมอุทยานฯ เนื่องจากเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
โดยกรมอุทยานฯ อ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามเรื่องเสร็จที่ 699/2552 ที่ว่า “การนำเงินรายได้ไปชำระเป็นค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในอุทยานแห่งชาติเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอันมีลักษณะเป็นผลประโยชน์ตอบแทนของบุคคลากรนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงิยรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ไปชำระเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ได้” เมื่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 23 กำหนดให้ใช้เงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติเท่านั้น การใช้เงินรายได้จัดซื้อชุดลายพรางให้เจ้าหน้าที่จึงไม่ใช่เป็นการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ แต่เป็นเพียงการให้ประโยชน์ทางด้านสวัสดิการกับตัวเจ้าหน้าที่โดยตรง
อย่างไรก็ดี อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การสั่งซื้อชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์เพื่อนำมาให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศใช้ในการปฏิบัติงาน อยู่ในกรอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 23 และระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้ เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ข้อ 3 ข้อ 13 (1) (6) ข้อ 14 และข้อ 16 แล้ว
ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามเรื่องเสร็จที่ 699/2552 ซึ่งกรมอุทยานฯ อ้างนั้น เป็นเรื่องการนำเงินรายได้ไปชำระเป็นค่าเบี้ยประกันสำหรับการประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งแตกต่างกับกรณีในเรื่องนี้ ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้กรมอุทยานฯ ได้เคยสั่งซื้อชุดพิทักษ์ป่าพร้อมอุปกรณ์ในลักษณะเดียวกันจาก อผศ. มาแล้วในปี พ.ศ. 2556 ตามใบสั่งซื้อเลขที่ 0910/565/2556 ปี พ.ศ. 2557 ตามใบสั่งซื้อเลขที่ 0909.104/54/2557 และใบสั่งซื้อเลขที่ 0910/125/2557 และปี พ.ศ. 2558 ตามใบสั่งซื้อที่ ทส 0910/211/2558
เห็นว่า เมื่อการซื้อขายในคดีนี้ได้กระทำไปภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่และตามวัตถุประสงค์ของกรมอุทยานฯ กับอผศ. และสัญญาซื้อขายที่ทำขึ้นมิได้มีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมายอันจะมีผลให้ตกเป็นโมฆะ กรมอุทยานฯ จึงต้องผูกพันตามข้อสัญญาที่ทำต่อกันโดยต้องรับเอาสินค้าที่สั่งซื้อและได้ส่งมอบตามกำหนด และชำระราคาให้แก่ อผศ.
ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า อผศ. ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับสิทธิพิเศษตามนัยหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0202/ว23 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 จึงไม่ควรเร่งรีบที่จะจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษ เนื่องจาก อผศ. ไม่ได้ผลิตสินค้าชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) เอง อันเป็นการปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0408.2/ว25 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 เนื่องจากชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) ไม่อยู่ในรายการผลิตภัณฑ์ตัดเย็บเครื่องแบบฯ (ลักษณะตามที่ส่วนราชการกำหนด) นั้น ก็ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ให้ อผศ. คงได้รับสิทธิพิเศษตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้ดังกล่าวต่อไป โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการได้รับสิทธิพิเศษเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งปรากฏหลักฐานว่า อผศ. เป็นผู้ทำหรือผู้ผลิตชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ที่ซื้อขายขึ้นเองด้วยแล้ว
ส่วนกรณีที่กรมอุทยานฯ เห็นว่า การดำเนินการของอดีตผู้บริหารกรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นการมิชอบต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และมิชอบต่อระเบียบปฏิบัติ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการนั้น เป็นกรณีที่กรมอุทยานฯ จะต้องดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องเป็นอีกส่วนหนึ่ง
สำหรับค่าเช่ารถบรรทุกจำนวน 3 คัน เป็นเงิน 30,000 บาท เพื่อบรรทุกชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 8,000 ชุด ไปยังกรมอุทยานฯ ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 นั้น อผศ. ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากกรมอุทยานฯ ได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของ อผศ. ผู้ขายที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายไปยังกรมอุทยานฯ ผู้ซื้อ
จึงเห็นควรตัดสินชี้ขาดให้กรมอุทยานฯ รับมอบชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 8,000 ชุด ตามใบสั่งซื้อ ที่ ทส 0910/28/2559 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2558 โดยชำระราคาสินค้าพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเป็นเงิน 49,800,000 บาท ให้แก่อผศ. และชำระค่าเช่าสถานที่เก็บรักษาสินค้าดังกล่าวเป็นเงินเดือนละ 28,125 บาท ค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าเดือนละ 100 บาท ให้แก่ อผศ. นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 เป็นต้นไป จนกว่าจะรับมอบชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ และชำระราคาเสร็จสิ้น โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยผิดนัดให้เนื่องจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน
เบื้องต้น สำนักงานอัยการสูงสุด ได้แจ้งคำวินิจฉัยให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายทราบเพื่อเจรจาตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้
จึงต้องมีการเสนอเรื่องคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาด และนำมาสู่มติสั่งยุติเรื่องกรณี อผศ. เรียกร้องให้กรมอุทยานฯ ชำระค่าเสียหายเนื่องจากผิดสัญญาซื้อขายชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ วงเงิน 49,800,000 บาท และนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เป็นทางการไปแล้ว
โดยชี้ขาดให้กรมอุทยานฯ รับมอบชุดพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 8 พันชุด พร้อมให้ชำระเงินรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 49,800,000 บาท ให้แก่ อผศ. ตามสัญญาจ้าง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กรมอุทยานฯ ต้องชำระค่าเช่าสถานที่เก็บรักษาสินค้าดังกล่าว เป็นเงินเดือนละ 28,125 บาท รวมค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้าเดือนละ 100 บาท นับตั้งแต่วนที่ 1 เม.ย.2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะรับมอบสินค้าและชำระเงินเสร็จสิ้น โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยผิดนัดให้เนื่องจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน ดังกล่าว
ขณะที่ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันว่า ตนไม่ได้อยู่ร่วมในการประชุมลงมติครั้งดังกล่าว เพียงแค่เป็นผู้ลงนามเสนอผลมติ กยพ. เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.เท่านั้น
อ่านประกอบ :
พบอีก!กรมอุทยานฯทุ่มซื้อ'เต้น-ที่นอน-เกราะ'อผศ. 3สัญญา งบกระฉูด 304 ล.
บุกบ้านอธิบดีเก่า! ไขปมชุดลายพราง 'อผศ.' พุ่ง 6.2 พัน/ตัว ขายพ่วงอุปกรณ์
สำรวจชุดลายพรางกรมอุทยานฯผลิตเอง 1.2 พัน ต่ำกว่าซื้อผ่าน อผศ. 5 เท่า
ปูดผลงานอธิบดีเก่า!กรมอุทยานฯ จ่อยกเลิกซื้อชุดลายพราง'อผศ.'ลอตใหม่49 ล.
'คนสนิท' บิ๊กทหารเอี่ยว! เบื้องหลังกรมอุทยานฯสั่งสอบจัดซื้อชุดลายพรางร้อยล.
เปิด6ปมพิรุธสอบ! 'กรมอุทยานฯ' ผูกซื้อชุดลายพราง 'อผศ.' 4 สัญญา 141 ล.
'อผศ.' ผูกรับงานตั้งแต่ปี 56!กรมอุทยานฯ สั่งสอบซื้อชุดลายพรางร้อยล้าน
บุก!‘อผศ.’หาตัวบ.ร่วมผลิตชุดลายพรางร้อยล.-ชี้เบาะแสคนสนิท 'บิ๊กทหาร' เอี่ยว