บุกบ้านอธิบดีเก่า! ไขปมชุดลายพราง 'อผศ.' พุ่ง 6.2 พัน/ตัว ขายพ่วงอุปกรณ์
ไขปมเบื้องหลังราคาจัดซื้อชุดลายพราง กรมอุทยานฯ จาก 'อผศ.' พุ่ง 6.2 พัน/ตัว เหตุขายพ่วงอุปกรณ์ ขณะที่เครื่องแบบส่อมีปัญหาไม่ถูกต้องตามระเบียบ เผยตาม 'อธิบดีเก่า' ชี้แจงไม่ได้ 'อิศรา' ไปหาถึงบ้าน 'ลูกน้อง' ยันไปตจว. เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ใหม่ หลังไขก๊อกเก้าอี้ รองปลัดฯ
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการปฏิเสธจากสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่ให้ดูรายละเอียดราคากลางและทีโออาร์ โครงการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 จำนวน 4 รายการ รวมจำนวน 8 พันชุด วงเงิน 49,800,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงอยู่ในขณะนี้ ทำให้ไม่สามารถคำนวนราคาชุดลายพราง ที่แท้จริงได้
ขณะที่ราคาชุดลายพราง ที่จำหน่ายในร้านค้าสวัสดิการของกรมอุทยาน ฯ อยู่แค่ชุดละ 1,200 บาท เท่านั้น
(อ่านประกอบ : สำรวจชุดลายพรางกรมอุทยานฯผลิตเอง 1.2 พัน ต่ำกว่าซื้อผ่าน อผศ. 5 เท่า)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้การจัดซื้อชุดลายพราง ของกรมอุทยานฯ จาก อผศ. ในโครงการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 จำนวน 8 พันชุด วงเงิน 49,800,000 บาท มีราคาเฉลี่ยสูงถึงชุดละ 6.2 พันบาท เพราะเป็นการจัดซื้อพร้อมกับอุปกรณ์เดินป่า จำนวน 4 รายการ
สอดคล้องกับข้อมูลจาก แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมอุทยานฯ ที่ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า ราคาชุดลายพรางที่กำหนดไว้ในทีโออาร์จริงๆ ไม่ได้สูงมากนัก ใกล้เคียงกับราคาในท้องตลาดทั่วไป
"แต่เหตุผลที่ทำให้ราคาจัดซื้อครั้งนี้ เฉลี่ยแล้วตกอยู่ที่ชุดละ 6 พันกว่าบาท จากงบประมาณ 49 ล้านเศษ เพราะเป็นการจัดซื้อพร้อมอุปกรณ์"
แหล่งข่าวรายนี้ ยังระบุด้วยว่า ขณะที่เครื่องแบบชุดลายพรางที่จัดซื้อครั้งนี้ ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีรูปแบบใกล้เคียงกับชุดของหน่วยงานอื่น ไม่ใช่เครื่องแบบของกรมอุทยานฯด้วย
"จากการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลก็ได้รับการยืนยันว่า เป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานในปัจจุบัน ที่เจ้าหน้าที่มีภารกิจต้องเข้าป่าลึกเดินทางในระยะทางไกลมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ คณะกรรมการสืบสวนอยู่ระหว่างการพิจารณาเหตุผลที่ชี้แจงว่าสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน และรอฟังผลการชี้แจงข้อเท็จจริงจาก อผศ.เพื่อยืนยันอีกครั้ง"
แหล่งข่าวรายนี้ ยังยืนยันด้วยว่า หัวใจคำสัญของคดีนี้ อยู่ที่ขั้นตอนการจัดซื้อที่มีลักษณะเร่งรีบ ทั้งที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านตัวผู้บริหารระดับสูง ก็ยังรีบดำเนินการให้เสร็จ แทนที่จะรอก่อน ขณะที่การนำเงินรายได้ของกรมอุทยานฯ มาใช้ในการดำเนินการโครงการนี้ ก็ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติด้วย เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก
" ที่ผ่านมา คณะกรรมการสืบสวน ได้พยายามติดต่ออธิบดีเก่า ให้ชี้แจงข้อมูลหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โทรศัพท์ไปก็ไม่รับ ตั้งแต่ท่านลาออกจากราชการ เพราะถูกย้ายให้ไปเป็นรองปลัดกระทรวงฯ ก็หายตัวไปเลย"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า นายนิพนธ์ โชติบาล อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ แจ้งที่อยู่ในกรุงเทพฯ คือ บ้านเลขที่ 122/38 ม.6 ถนนวิภาวดี 58 เขตหลักสี่ กทม.
เมื่อเดินทางไปถึงพบว่า เป็นบ้านเดียว 2 ชั้น ในหมู่บ้านโกมลนิเวศ มีรถยนต์จอดอยู่ในบ้าน 1 คัน แต่ไม่มีใครอยู่ในบ้าน (ดูรูปประกอบ)
จากการสอบถามเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียงได้ รับแจ้งว่า นายนิพนธ์ มีลูกน้องอยู่ 1 คน เป็นผู้หญิงชื่อว่า เดือน พักอาศัยอยู่ในโรงงานตั้งอยู่ท้ายซอย พร้อมแนะนำให้ผู้สื่อข่าวไปสอบถามข้อมูลจากคุณเดือนเอง
เมื่อผู้สื่อเดินทางไปยังโรงงานดังกล่าว ได้รับแจ้งข้อมูลจาก ผู้หญิงที่ชื่อเดือน ว่าเป็นลูกน้องของ นายนิพนธ์ จริง แต่ตอนนี้นายนิพนธ์ไม่ได้อยู่ที่บ้าน ไปต่างจังหวัด ขอให้ผู้สื่อข่าวมาติดต่อใหม่อีกครั้ง
เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามที่จะขอเบอร์มือถือนายนิพนธ์ ลูกน้องนายนิพนธ์ รายนี้ ปฏิเสธที่จะให้
พร้อมระบุว่า ตอนนี้นายนิพนธ์ เปลี่ยนเบอร์มือถือใหม่แล้ว ตนเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบพบว่า ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 กำหนดให้อำนาจมีอำนาจ แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ” เพื่อดูแลการใช้จ่ายเงิน อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการอีกไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 7 คน
มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดกรอบนโยบายการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ
(2) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผน/โครงการ ที่ขอใช้ เงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ
(3) กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ
(4) ควบคุมการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติให้เป็นไปตามข้อ 13 แห่งระเบียบนี้
(5) ดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ
ส่วน “เงินรายได้” คือ เงินที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือสำนักอุทยานแห่งชาติ หรือสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และอุทยานแห่งชาติ ได้รับเป็นกรรมสิทธิ์นอกเหนือจากเงินงบประมาณรายจ่าย ดังต่อไปนี้
(1) ค่าบริการให้ความสะดวกต่างๆในอุทยานแห่งชาติ
(2) ค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาตให้เข้าดำเนินกิจการในอุทยานแห่งชาติ
(3) ค่าตอบแทนสำหรับการอนุญาตพักอาศัยในอุทยานแห่งชาติ
(4) เงินที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ
(5) เงินค่าปรับที่พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ
อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
(6) เงินรายได้อื่นๆที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานอุทยานแห่งชาติ
กำหนดเงื่อนไขการใช้เงินไว้ 6 ข้อ คือ
(1) ซ่อมแซม ปรับปรุง หรือจัดหาพัสดุเพื่อดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
(2) ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอุทยานแห่งชาติ
(3) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
(4) ค่าสาธารณูปโภค เฉพาะอุทยานแห่งชาติ
(5) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝึกอบรม ทัศนศึกษาและดูงานเกี่ยวกับงานอุทยานแห่งชาติ ของข้าราชการและลูกจ้าง หรือการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติแก่บุคคลทั่วไป
(6) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในข้อ 14 ระบุว่า การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติหรือบริการนักท่องเที่ยวที่มิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้เป็นอำนาจของอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นผู้อนุมัติ
(อ่านระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2546 ฉบับเต็ม ที่นี่ )
ดังนั้น การทำโครงการจัดซื้อชุดลายพราง ของกรมอุทยานฯ จาก อผศ. ครั้งนี้ ซึ่งถูกระบุว่ามีการนำเงินรายได้ของกรมอุทยานฯ มาใช้ในการดำเนินการโครงการนี้ ก็ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และมีลักษณะเร่งรีบอย่างมาก
นายนิพนธ์ จึงถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก!
อ่านประกอบ :
สำรวจชุดลายพรางกรมอุทยานฯผลิตเอง 1.2 พัน ต่ำกว่าซื้อผ่าน อผศ. 5 เท่า
ปูดผลงานอธิบดีเก่า!กรมอุทยานฯ จ่อยกเลิกซื้อชุดลายพราง'อผศ.'ลอตใหม่49 ล.
'คนสนิท' บิ๊กทหารเอี่ยว! เบื้องหลังกรมอุทยานฯสั่งสอบจัดซื้อชุดลายพรางร้อยล.
เปิด6ปมพิรุธสอบ! 'กรมอุทยานฯ' ผูกซื้อชุดลายพราง 'อผศ.' 4 สัญญา 141 ล.
'อผศ.' ผูกรับงานตั้งแต่ปี 56!กรมอุทยานฯ สั่งสอบซื้อชุดลายพรางร้อยล้าน