ชาวบ้านสานงาน“ไพบูลย์”ต่อยอดชุมชนเข้มแข็ง
ตำบลหนองสาหร่ายยึดแนวทาง“ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” พึ่งตนเองผลิตพลังงานใช้เมินราคาน้ำมันแพง อาจารย์มธ.แนะท้องถิ่นปรับตัวรู้เท่าทันพัฒนาสมัยใหม่ ด้านผอ.พอช.ลุยจัดเสวนาต่อเนื่องเผยแพร่ผลงานสู่ชุมชนจัดการตนเอง
วันที่ 26 เม.ย.55 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชนร่วมกับตัวแทนองค์กรชาวบ้าน ผู้นำชุมชน จัดเสวนาสืบทอดอุดมการณ์อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ ๑ ในหัวข้อ “การพัฒนาโดยชุมชนเป็นแกนหลัก สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
โดย นางทิพรัตน์ นพลดารมณ์ ผู้อำนวยการพอช. กล่าวว่า การจัดเสวนาเป็นการรำลึกถึงอ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานในการพัฒนาชนบท จากบทบาทนักการธนาคารผันตัวเองมาทำงานพัฒนา จนเป็นต้นแบบให้แก่นักพัฒนารุ่นหลังสร้างชุมชนที่ดีงามเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทยพร้อมกันนี้ยังเป็นการนัดทบทวนเจตนารมณ์และผลงานสร้างชุมชนเข้มแข็ง วางจังหวะก้าวร่วมกันจะเดินทิศทางใดในอนาคต
“จัดเสวนาครั้งนี้เพื่อนำเสนอกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากพื้นที่ที่มีการพัฒนามาต่อเนื่อง โดยมีชุมชนเป็นแกนหลัก แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น นำไปสู่การสร้างถิ่นการจัดการตนเองในอนาคต ซึ่งจะจัดให้มีต่อเนื่องโดยครั้งต่อไปในวันที่ 10 พ.ค.จะคุยกันเรื่องแผนชีวิตชุมชนและเป้าตัวชี้วัดความสุข วันที่ 24 พ.ค. เรื่องการพัฒนาคนจนในเมือง-บ้านมั่นคง 7 มิ.ย. เรื่องการเงินกองทุนเพื่อการพัฒนา (การเงินชุมชนฐานราก องค์กรที่ใช้การเงินกองทุนเป็นเครื่องมือในการพัฒนา) 21 มิ.ย. เรื่องสวัสดิการชุมชน 5 ก.ค. เรื่องการจัดการภัยพิบัติ โดยชุมชนท้องถิ่น 19 ก.ค.เรื่องสภาองค์กรชุมชน 9 ส.ค. เรื่องคนรุ่นใหม่ในงานพัฒนา” ผอ.พอช. กล่าว
รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า อ.ไพบูลย์มีความสนใจจะสืบทอดเจตนารมณ์อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์(ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนแรก) ตั้งแต่ปี 2529 โดยเริ่มศึกษาจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง, บัณฑิตอาสาสมัคร ,มูลนิธิบูรณะชุมชน ก่อนจะเรียนรู้ในส่วนชุมชนจับงานด้านการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนามาตราบเท่าทุกวันนี้
“ท่านไม่ใช่ครูผู้ยิ่งใหญ่ แต่เป็นนักเรียนรู้ เพราะท่านไม่มีภูมิหลังเรื่องการพัฒนาชนบท ทั้งนี้การสืบทอดเจตนารมณ์ต้องมีการเรียนรู้จากสิ่งที่ท่านทำ โดยปัจจุบันรัฐบาลใช้แนวทางการพัฒนาสมัยใหม่ ทั้งเทคโนโลยี ระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ชุมชนจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยใช้ความเข้มแข็งของตัวเอง ทำให้ระบบที่เปลี่ยนไป นำมาปรับให้เข้ากับชุมชนให้ได้ในรูปแบบการพึ่งตนเอง เพราะถ้าประชาชนเป็นคนที่เริ่มต้นคิด สร้างความเข้มแข็งด้วยตนเองก็จะมั่นคงอย่างยั่งยืน” อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ มธ. กล่าว
ด้าน นายศิวโรฒ จิตนิยม ตัวแทนองค์กรชุมชนตำบลหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ลืมคืออุดมการณ์และหลักคิดอาจารย์ไพบูลย์ที่สอนกระบวนการ ทุกคนต้องร่วมกันและใช้เป้าหมายเดียวกัน งานพัฒนาจะสำเร็จได้อุดมการณ์ต้องยิ่งใหญ่ ฝันให้ไกลไปให้ถึง รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่ การมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน ใช้หลักคิดให้เรื่องทุกเรื่องเป็นของคนในชุมนไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านคิดว่าหนองสาหร่ายเป็นประเทศ ทำให้ง่ายต่อการจัดการตนเอง เมื่อเดินหน้าไปต้อง หยุดคิดทบทวนในสิ่งที่ทำมา เราเป็นยังไงมีความสุขไหม คนหนองสาหร่ายจำแนวทางอ.ไพบูลย์แนะนำแล้วนำมาปฏิบัติ วันนี้คนหนองสาหร่ายบอกได้เต็มปากว่าเป็นชุมชนจัดการตนเองได้
“ภายในปีนี้เราใช้ความสุขเป็นเป้าหมายการพัฒนา ตั้งธนาคารความดี ลดหนี้สินชุมชน ทำตำบลพอเพียง ทำความมั่นคงเรื่องอาหาร ความมั่นคงเรื่องพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศขึ้นราคาหรือขาดแคลนเราอยู่ได้ เพราะเรามีทรัพยากรมีการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เอง เราอยู่ออย่างพอเพียง การสืบทอดอุดมการณ์อาจารย์ไพบูลย์ เราต้องจัดการตนเองให้ได้ เราทำแบบนี้ทุกคนจัดการตนเองได้ สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน สังคมมีความสุข”
อนึ่ง นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เคยทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในรัฐบาลชั่วคราวของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.49 และรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกตำแหน่ง เมื่อวันที่ 7 มี.ค.50 เป็นนักพัฒนาสังคม-ชุมชน ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา กรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ และตำแหน่งทางสังคมอีกมากมายเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับอ่อนเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 55 เวลา 13.43 น. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในวัย 71 ปี..