เปิด 9 ประเด็น 'กสทช.' หนุน 'คสช.'อุ้ม 'TRUE-AWN' ชี้รัฐได้ดอกเบี้ย-เงินประมูล
สืบเนื่องจาก ผู้บริหารบริษัททรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดหรือ TUC (Truemove H Universal Communication) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เวส เนทเวิร์ต หรือ AWN (Advance Wireless Network) ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอผ่อนผันการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นความถี่จากเดิมต้องจ่ายงวดที่ 4 เป็นงวดสุดท้ายในปี 2563 เป็นทยอยจ่ายออกไปอีก 5 งวดจนถึงปี 2567
ในที่ประชุม คสช.และคณะรัฐมนตรียังไม่ได้ข้อสรุป และให้สำนักงานกสทช.นำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งก่อนจะพิจารณาอีกครั้ง
ต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากคณะทำงานของสำนักงานกสทช.พิจารณาว่า หากคสช.จะมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลออกไป หรือคสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่างวดจะเกิดผลใน 9 ข้อดังนี้
1.บริษัททรูมูฟ และบริษัท แอดวานซ์ วางเงินประกันให้กับสำนักงานกสทช.ครบถ้วนราว 130,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ทั้งบริษัท TUC และ AWN รับภาระหนี้จากการกู้เงินธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 (ดูในตารางที่ 1)
2.หาก คสช.มีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช.ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลของทั้งสองบริษัทออกไปจากปี 2563 เป็นปี 2567 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 1.5 รัฐจะรายได้เพิ่มจากการเก็บอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 3,593.76ล้านบาท (ตารางที่2 )
3.เมื่อทั้งสองบริษัทได้รับสิทธิในการขยายระยะเวลาชำระค่างวดออกไป มีความเป็นไปได้สูงว่าบริษัทจะกลับมาเข้าร่วมแข่งขันประมูล เนื่องจากวงเงินกู้จากสถาบันการเงินได้รับการขยายออกไปด้วยเช่นกันและบริษัทยังมีโอกาสเฉลี่ยต้นทุน
4.คณะทำงานเชื่อว่า หากกสทช.เปิดประมูลคลื่น บริษัท TUC ,AWN และบริษัทดีแทค ไตรเนต เน็ตเวิร์ก จำกัด หรือDTN (DTAC Trinet Network ) เข้าร่วมประมูลด้วยจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ถ้าประมูลได้ทั้ง 3ใบอนุญาต รัฐจะได้เงิน 120,477.72 ล้านบาท
ประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 80,318.48 ล้านบาท
ประมูล 1 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 40,159.24 ล้านบาท (ตารางที่ 3)
5. กรณีไม่มีการประมูลและคสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำนักงานกสทช.จะมีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน รวมถึงปี 2567 เป็นยอดเงิน 166,991.16 ล้านบาท (ตาราง 4)
6.หากจัดประมูลคลื่น 1800 MHz โดยคสช.มีคำสั่ง ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีก รัฐจะมีรายได้รวมถึงปี 2567 ในกรณีใบอนุญาต 3 ใบ รัฐจะมีรายได้ 291,314.20 ล้านบาท (ตารางที่ 5)
7.หากจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และขยายเวลาชำระหนี้ออกไป รัฐจะมีรายได้ รวมถึงปี 2567 กรณีใบอนุญาต 2 ใบ รัฐจะมีรายได้ 251,154.96 ล้านบาท (ตารางที่ 6 )
8. ส่วนในกรณีจะเกิดการฟ้องร้องในภายหลังหรือไม่ หาก คสช.เห็นชอบให้ขยายเวลาชำระค่างวดออกไป
การฟ้องร้องไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทที่เคยชนะประมูลแต่ทิ้งใบอนุญาตคือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ขาดสิทธิในการฟ้องร้อง ส่วนบริษัท DTN จะได้รับสิทธิในเงื่อนไขการชำระค่าประมูล ที่กสทช.กำหนดไว้ในการประมูลครั้งต่อไปทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม
อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัท DTN ยืนยันผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6เท่าตัว ดังนั้นการขยายระยะเวลาการชำระเงินให้กับผู้ชนะประมูลทาง DTN ไม่ขัดข้อง แต่ให้นำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไปใส่ในการประมูลคลื่น 1800 หรือ 900MHz ในครั้งต่อไป
9. หากนำคลื่น 1800 MHz มาเปิดประมูล จะทำให้ประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ เพิ่มขึ้นอีก 90 MHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5จี , Internet of Things จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น
สรุปการเสนอขยายเวลาการชำระเงิน TUC และAWN
หากคสช.มีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไปอีก 5 งวดจนถึงปี 2567 รัฐไม่เสียหายเนื่องจาก กสทช.กำหนดเงื่อนไขให้จ่ายดอกเบี้ยให้กับรัฐตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 1.5จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มอีก 3,593.76ล้านบาท
ผลจากการขยายระยะเวลาออกไปนั้น จะทำให้วงเงินกู้ของบริษัท TUCและ AWN ได้รับการขยายออกไปด้วย เปิดโอกาสให้บริษัทฯเข้าร่วมประมูลกับ กสทช.ได้อีก แต่ถ้าไม่มีการขยายระยะเวลาการชำระเงิน บริษัทฯมีวงเงินกู้เต็มเพดาน
กสทช.เปิดประมูลคลื่น มี 3 บริษัทเข้าร่วม ราคาประมูลย่อมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกิดการแข่งขันกัน รัฐจะมีรายได้จากค่าประมูลเพิ่มขึ้น จำนวนคลื่นมีมากขึ้น รองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่น 5 จีและ Internet of Things ผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้ย่อมมีสูงกว่าการไม่ขยายระยะเวลาการชำระค่างวด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://goo.gl/dEH74B