ถอดบทเรียนอังกฤษ-เนปาล ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร ทำแท้งปลอดภัยต้องถูกกฎหมาย
ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร ทำแท้งปลอดภัยต้องถูกกฎหมาย ถอดบทเรียน อังกฤษ เนปาล เกิดอะไรขึ้นหลังยกเลิกโทษอาญาหญิงทำแท้ง ย้อนดูความหวังสังคมไทย จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร เพื่อลดอัตราการตายของสตรีจากหมอเถื่อน รวมไปถึงข้อเรียกร้องเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ
ประเด็นเรื่องการทำแท้งยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคมไทยมาระยะใหญ่ๆ ทุกครั้งที่มีการหยิบยกประเด็นนี้ แน่นอนว่ามีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หนึ่งในเหตุผลที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมักยกขึ้นมาเสมอๆ นั่นคือ ศีลธรรม ความดี ความถูกต้อง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนพยายามชูประเด็นความเท่าเทียม รวมไปถึงสิทธิในการดูแลตัวเอง และการช่วยเหลือ
ในงานเสวนา “ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร ทำแท้งปลอดภัยต้องถูกกฎหมาย” เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีกลุ่มทำทาง มูลนิธิมานุษยะ สถานทูตอังกฤษ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และเครือข่ายทางเลือกเพื่อผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ร่วมถกกันว่า ทางออกของเรื่องนี้ควรไปในทางใด
กรณีศึกษากฎหมายทำแท้ง จากอังกฤษและเนปาล
“ประเทศอังกฤษ ได้มีการยกเลิกการลงโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ทำแท้ง เดิมกฎหมายทำแท้งมีขึ้นในปี 1967 โดยใช้แพทย์ 2 คนพิจารณาการทำแท้ง รวมทั้งผู้หญิงที่ทำแท้งต้องแสดงหลักฐานว่า สภาพร่างกายหรือจิตใจไม่พร้อมมีบุตร โดยบริการทำแท้งสามารถเข้าถึงได้โดยสำนักงานให้บริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS)” Kaitlyn Mccoy ตัวแทนกลุ่มทำทาง กล่าวถึงกรณีศึกษาเรื่องกฎหมายทำแท้งของอังกฤษ
เธอบอกว่า หลังจากยกเลิกการลงโทษทางอาญาทำให้มีปริมาณผู้เสียชีวิตจากการทำแท้งลดลง เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยลดลง แต่ปัญหาสำคัญในอังกฤษที่ทำให้มีการยกเลิกความผิดทางอาญานอกจากการเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยปีละ 30 – 50 คนต่อปีแล้ว ประเทศอังกฤษยังมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงที่สุดในทวีปยุโรปซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรทำให้แม่ที่ตั้งครรภ์ต้องออกจากโรงเรียน ไม่สามารถเรียนต่อได้ ประสบปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ต้องรอรับความช่วยเหลือจากรัฐ
เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายกำหนดพระราชบัญญัติด้านการทำแท้งก็ไม่มีปัญหาเรื่องต่อต้านหรือการประท้วง เพราะจากการศึกษาเมื่อปี 2017 พบว่า 94% ของประชากรเห็นด้วยว่าผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ถ้าชีวิตตกอยู่ในอันตราย อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าผู้หญิงที่ไม่สามารถที่จะเป็นแม่หรือไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ก็สามารถทำแท้งได้
บริการทำแท้งของอังกฤษเป็นบริการทำแท้งฟรีและเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพพื้นฐานของอังกฤษ
นอกจากนั้นยังมีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัย มีการระบุสถานที่ที่รับบริการ ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่สามารถตัดสินใจ สามารถรับบริการรับคำปรึกษาจากผู้ให้บริการได้ รวมทั้งมีการระบุความเสี่ยงและให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการในการทำแท้ง
Kaitlyn กล่าวเสริมว่า นอกจากแก้ไขปัญหาเรื่องการทำแท้งแล้ว ในประเทศอังกฤษยังมีการปรับเปลี่ยนระบบการสอนเพศศึกษาโดยเน้นการให้การศึกษาแบบองค์รวม ทั้งเรื่องการคุมกำเนิด การป้องกันการตั้งครรภ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทางอินเตอร์เน็ต นอกจากนั้นในพื้นที่ที่ยังมีประชากรที่ไม่ใช้อินเตอร์เน็ตก็มีการประชาสัมพันธ์ผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์
“ขณะนี้ประเทศอังกฤษกำลังมีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะลดภาระของผู้หญิงในการที่จะต้องแสดงข้อมูลทางด้านสุขภาพว่าตนเองมีสภาพร่างกายหรือสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมต่อการมีบุตร เพราะว่าหลายคนใช้วิธีการให้ข้อมูลเท็จต่อแพทย์เพื่อที่จะใช้บริการการทำแท้ง โดยจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะยอมรับสิทธิของผู้หญิงในการตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองมากขึ้น” เธอกล่าว
ขณะที่ของประเทศเนปาล ที่ได้มีการเปิดให้ทำแท้งอย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งต่างจากกรณีของประเทศอังกฤษเนื่องจากการทำแท้งเป็นทางเลือกของผู้หญิงทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่า ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์มีสุขภาพกายหรือจิตใจที่ไม่พร้อมต่อการมีบุตร โดยการทำแท้งเสียค่าใช้จ่าย 500 บาทไทย ถ้าไม่มีเงินสามารถรับบริการฟรีได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
Kaitlyn เผยว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายด้านการทำแท้งของประเทศเนปาลคืออัตราการเสียชีวิตของแม่ในประเทศเนปาลสูงที่สุดในโลก พบว่า 50% ของการเสียชีวิตมาจากการทำแท้งผิดกฎหมาย หลังจากที่เปิดโอกาสให้มีการดำเนินการทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายพบว่า อัตราการเสียชีวิตของมารดาลดลง 50% จาก 548 รายต่อปี เหลือเพียงส 200 กว่ารายภายในปีแรกที่มีการแก้ไขกฎหมายการทำแท้ง
หลังจากแก้ไขกฎหมาย ไม่พบว่า มีการต่อต้านหรือการประท้วงจากประชาชนในสังคม เนื่องจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้หญิงในประเทศเนปาลได้มีการรณรงค์ให้ความรู้ว่า มีผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นจำนวนเท่าไหร่ต่อปี การใช้หลักการนี้ทำให้ไม่มีการประท้วงหรือการโจมตีรัฐบาลจากการเปลี่ยนนโยบายการทำแท้ง เนื่องจากสังคมเห็นว่า การรักษาชีวิตไม่ให้ผู้หญิงต้องเสียชีวิตจากการทำแท้งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
อีกทั้งในประเทศเนปาลมีโรงพยาบาลไม่มากพอที่จะกระจายไปถึงพื้นที่ห่างไกล รัฐบาลจึงใช้วิธีการติดเครื่องหมายรับรองคลินิกว่าแพทย์ พยาบาลหรือบุคลากรที่ให้คำปรึกษาด้านการทำแท้ง ถ้าไปคลินิกแล้วเห็นเครื่องหมายรับรองแสดงว่า เป็นคลินิกที่ทำแท้งได้อย่างปลอดภัย ส่วนข้อมูลเรื่องการทำแท้งมีอยู่ในเว็บไซต์เพียงแห่งเดียวแต่ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ประชาชนเข้าถึงยาก เพราะ 81% ของประชากรในประเทศเนปาลอยู่ในชนบท มีปัญหาเรื่องของการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต จึงใช้วิธีการสื่อสารแบบตัวต่อตัวหรือการสื่อสารแบบเคาะประตูบ้าน
การนำเอาความรู้การทำแท้งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์ เพื่อที่จะทำให้ผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับความรู้ในเรื่องของสิทธิในการทำแท้ง รวมทั้งมีการเผยแพร่ความรู้เรื่องการทำแท้งอย่างเป็นระบบ
“จะเห็นว่าในทั้งประเทศอังกฤษและประเทศเนปาล พบว่า เวลามีการใช้กฎหมายที่อนุญาตให้มีการทำแท้ง ประชาชนไม่ได้มีการต่อต้านเพราะว่ามีการนำเสนอข้อมูลสนับสนุนการทำแท้งมันสามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง” Kaitlyn กล่าวทิ้งท้าย
การต่อสู้ของกลุ่มสตรีนิยมในเบลเยี่ยม
“ในประเทศเบลเยี่ยมอาจจะไม่ใช่ประเทศตัวอย่างเรื่องของกระบวนการยกเลิกการลงโทษทางอาญาผู้ที่ทำแท้งเหมือนประเทศอังกฤษ เพราะมีการต่อสู้อย่างยาวนานจนทำให้กระบวนการการยกเลิกโทษอาญาในประเทศเบลเยี่ยมเกิดขึ้นช้ากว่าประเทศอังกฤษ” Lot Debruyne ตัวแทนจากสถานทูตเบลเยี่ยม พูดถึงกระบวนการแก้ไขกฎหมายและเปลี่ยนแปลงกฎหมายทำแท้งในประเทศเบลเยี่ยม
เธอกล่าวอีกว่า กระแสเรื่องของการทำแท้งที่ชอบด้วยกฎหมายมีที่มาจากกระบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง ซึ่งคลื่นลูกแรกรณรงค์เรื่องสิทธิในการเลือกตั้ง กระบวนการแก้ไขกฎหมายในการทำแท้งในประเทศเบลเยี่ยมเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณปี 1970 ในช่วงนั้นมีการจับกุมแพทย์ที่มีการทำแท้งผิดกฎหมาย การจับกุมครั้งนี้ทำให้คนในสังคมมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่เกิดการโต้เถียงเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในช่วงปี 1977 นักกิจกรรมหญิงที่สนับสนุนการทำแท้งในประเทศเบลเยี่ยมถูกจับกุมเนื่องจากตำรวจค้นรถยนต์แล้วเจอใบปลิวสนับสนุนการเข้าถึงบริการทำแท้งและใบปลิวที่อธิบายการใช้บริการคลินิกทำแท้งในประเทศอังกฤษและประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากในช่วงนั้นประเทศเบลเยี่ยมไม่มีการอนุญาตให้ทำแท้งได้โดยถูกกฎหมาย จึงเกิดการข้ามพรมแดนเข้าไปใช้บริการทำแท้งในประเทศอังกฤษและประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกันในสังคม
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ได้มีการพยายามนำเสนอกฎหมายรวมทั้งการแก้ไขกฎหมายทางอาญาที่ให้ยุติการลงโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ทำแท้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการหรือผู้รับบริการ แต่ว่ากฎหมายเหล่านั้นไม่ผ่านสภาประเทศเบลเยี่ยม จึงทำให้ประเทศเบลเยี่ยมและประเทศไอร์แลนด์เป็นเพียงสองประเทศในสหภาพยุโรปที่ไม่เปิดให้มีการแก้ไขกฎหมายให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย
ต่อมาในปี 1990 ได้มีการออกกฎหมายที่สร้างกระแสความไม่ลงรอยในประเทศเบลเยี่ยมเป็นอย่างมาก ณ ขณะนั้นรัฐสภาตัดสินใจผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้มีการทำแท้งโดยชอบทางกฎหมาย แต่คริสตจักรคาทอลิกนั้นไม่เห็นด้วย รวมถึงพระมหากษัตริย์ของประเทศเบลเยี่ยม ณ ขณะนั้น ปฏิเสธที่จะลงพระนามในกฎหมาย เมื่อรัฐสภาตัดสินใจที่จะไม่ถอนกฎหมาย ซึ่งประเทศเบลเยี่ยมกฎหมายที่จะผ่านได้ต้องมีพระมหากษัตริย์ลงพระนามและให้รัฐบาลลงนาม ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ได้ลงพระนามในกฎหมายฉบับนี้แต่ว่ารัฐสภาไม่ได้ดำเนินการถอนกฎหมาย ซึ่งกฎหมายสามารถผ่านได้เนื่องจากใช้สิทธิวีโต้ (Veto) ผ่านรัฐสภา
“กฎหมายนี้ได้ระบุไว้ว่า การตัดสินใจเป็นการตัดสินใจของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว คนที่เป็นพ่อเด็กไม่สามารถแทรกแซงการตัดสินใจได้ อีกทั้งกำหนดให้แพทย์มีสิทธิปฏิเสธการทำแท้งได้ ถ้าแพทย์ไม่เห็นด้วยซึ่งกฎหมายข้อนี้เขียนเอาใจคริสตจักร แต่กรณีนี้แพทย์ต้องแจ้งผู้เข้ารับบริการว่าปฎิเสธด้วยเหตุผลอะไร และผู้เข้ารับบริการสามารถพบแพทย์คนใหม่ได้ ซึ่งบุคลากรของแพทย์ทุกคนต้องรักษาความลับของผู้เข้ารับบริการอย่างเคร่งครัด”
มุมมองจากผู้หญิงที่เคยทำแท้ง
“ครั้งแรกที่ทำแท้ง ไม่อยากจะยอมรับว่ามันเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นกับชีวิตเรา เราเลยผ่านมันไปแบบแกล้งทำเป็นเบลอๆ ไม่ค่อยรู้เรื่อง ให้ผู้ชายไปหาข้อมูลว่าทำยังไง ชีวิตผ่านไปเหมือนความฝัน” นี่คือประสบการณ์ตรงของ หญิงผู้ที่กล้าเปิดเผยว่า เคยทำแท้งถึงสองครั้ง
“คนทั่วไปคงคิดว่าการทำแท้งเพียงครั้งเดียวก็น่าจะเรียนรู้ ทำไมจึงมีครั้งที่สองและครั้งอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุเวลาคนวิพากษ์กันว่าจะทำให้คนไม่เรียนรู้ จะอยากมาทำแท้งกันเยอะๆ แต่ความรู้สึกของผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ได้แตกต่างจากความรู้สึกของคนที่ไม่ได้ทำแท้ง คิดว่าคำว่า ทำแท้งเสรีไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในโลกนี้เพราะความรู้สึกของผู้หญิงไม่ได้มีเสรีขนาดนั้น ผู้หญิงคิดเยอะมากก่อนที่จะตัดสินใจทำแท้ง” เธอเผยความรู้สึก
ขณะที่ทางด้านผู้หญิงอีกคน ที่เคยทำแท้งและเป็นนักกิจกรรมที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาผู้หญิงจากกลุ่มทำทาง พูดถึงเรื่องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเราอาจจะไม่ได้เอามานึกดีๆว่า แท้จริงแล้วกฎหมายมีผลกระทบชีวิตผู้หญิงมากมายหลายมิติกว่าที่เราคิด กฎหมายมาตรานี้บอกชัดเจนว่า ผู้หญิงคนไหนทำให้ตัวเองแท้งมีความผิดทางอาญา
“สมมติว่าผู้หญิงคนหนึ่งบอกกับคนรอบตัวว่าฉันท้อง จะทำยังไงดี คุณคิดว่าจะได้ยินคำแนะนำอะไรจากคนรอบตัวเธอ บอกพ่อแม่ยังไงดี ฝากท้องที่ไหน ผู้ชายไปไหน แต่ไม่มีคำที่เราได้ยินว่า พร้อมไหม อยากจะไปรับบริการหรือเปล่า เพราะว่าทุกคนรู้ว่า การทำแท้งมีโทษในกฎหมายข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อผู้หญิงไม่ได้ทราบทางเลือกที่ควรจะมี ผลกระทบที่ตามมาคือเมื่อไม่พร้อมจึงเสาะหาทางเลือกด้วยตัวเอง อาจจะไปค้นหาในอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เขาจะเจอคือ 1) เว็บไซต์ขายยาทำแท้ง 2) ความเห็นที่บอกว่าการทำแท้งเป็นบาป ทำไปแล้วไม่เจริญ 3) ทำแล้วตกเลือดตาย ถ้าผู้หญิงคนนี้ไม่ได้เจอข้อมูลที่เชื่อถือได้แล้วไปสู่ช่องทางที่เสี่ยง เช่น ใช้ยาผิดกฎหมาย การไปคลินิกที่ไม่ปลอดภัย เขาอาจจะเจอความเสี่ยงอย่างมากมาย ความโชคร้ายน้อยที่สุดที่จะเกิดคือซื้อยามาใช้เองแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าโชคร้ายมาก ใช้ยาแล้วแท้งไม่สมบูรณ์ มีอาการแทรกซ้อน เขาจะทำยังไงต่อ ถ้าไปหาหมอ หมอจะถามด้วยสายตาแบบไหน หรือถ้าไม่ไปหาหมอ รอให้ใครสักคนมาเจอก็คือความเสี่ยงที่อันตรายถึงชีวิต”
ราคาคือกำแพง
เธอมองว่าในฐานะที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาผู้หญิง ราคาที่แพงจะมาจากบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะไม่มีมาตรฐานของราคาที่แน่ชัด ผู้ขายยาบนเว็บไซต์จึงจะคิดราคาเท่าไหร่ก็ได้ ความแพงจึงเกิดจากการที่ผู้หญิงต้องจ่ายซ้ำๆเนื่องจากบริการนั้นไม่ได้ผล ซึ่งสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งมากกว่าเรื่องราคาคือ อายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น ถ้าค่าบริการแพงแล้วไม่ทำให้ทำแท้ง ทำให้อายุครรภ์เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องหาเงิน และสิ่งที่อันตรายที่สุดคือการขายข้าวของส่วนตัวที่จำเป็นเพื่อหาเงินเพราะจะไปทำแท้ง
จากราคาในการรับบริการที่กลายเป็นกำแพงในการเข้ารับบริการของผู้หญิงเหล่านี้ ปัจจุบันค่าบริการในโรงพยาบาลรัฐถูกลงมากแล้ว เมื่อเทียบกับการไปหาหมอทำแท้งเถื่อนหรือหาซื้อยาเถื่อนมากินเอง
ด้านน.พ.นิธิวัชร์แสงเรืองแพทย์จากเครือข่ายแพทย์พยาบาลอาสา R-SA (Referral system for Safe Abortion) ได้เรียกร้องถึงนักกฎหมายว่า อยากให้แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 302 ซึ่งดำเนินการกับผู้ที่ทำแท้งและแพทย์ที่ดำเนินการ เพราะไม่มีกฎหมายอาญาไหนที่บอกว่าหากตัดมือตัดแขนตัวเองหรือฆ่าตัวตายแล้วผิดกฎหมาย โดนจำคุกหรือโดนปรับ แต่เมื่อพอผู้หญิงทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตตัวเองกลับมีความผิด จึงมองว่าเป็นเรื่องของสุขภาพ ไม่ใช่ความเป็นอาชญากรที่ทำให้ศีลธรรมจรรยาบ้านเมืองเสื่อมเสีย
ส่วนอีกประเด็นที่ น.พ.นิธิวัชร์ ต้องการเรียกร้อง คือบุคคลในแวดวงสาธารณสุข อยากให้บริการยุติการตั้งครรภ์เป็นบริการสุขภาพจริงๆ ไม่ต้องมีการตีตราจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
“อยากให้ทุกท่านคิดว่า นี่เป็นภาวะหนึ่งที่เราจะต้องให้การดูแลช่วยเหลือ อย่าเอาทัศนคติของเราไปตัดสินผู้หญิง เอาใจเขามาใส่ใจเรา”น.พ.นิธิวัชร์ กล่าวทิ้งท้าย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ประชาสังคม เรียกร้องแก้ม. 301 เปิดช่องทำแท้งได้ถูกกฎหมาย สร้างความเท่าเทียม
ทิชา ยกเคสแม่ผลักลูกจมน้ำสะท้อนความล้มเหลวระบบรัฐสวัสดิการผู้หญิง-ครอบครัว
ความรุนแรงในครอบครัว ขยะใต้พรม ที่สวัสดิการรัฐไทยมองไม่เห็น