ถกปัญหาสร้างรัฐสภาใหม่งบบาน! วิลาศ ถามทำไมใช้วิธีพิเศษ-ซิโนไทย ปัดไม่เกี่ยวข้องระบบไอซีที
'วิลาศ' ถาม ทำไมใช้วิธีพิเศษ บ.เมอร์ลินฯ ได้วางระบบไอที รัฐสภาใหม่ ด้าน 'วัชระ' ชี้ หลังเลือกตั้งเตรียมยื่น ป.ป.ช. ตั้ง กก.สอบ แน่ 'อนุทิน' ยันขอบเขต ซิโน-ไทย ถึงสิ้นปี 62 ความคืบหน้าโครงการร้อยละ 52 แล้ว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.เวลา 10.00น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนาตรวจสอบปัญหาการทุจริตประพฤติชอบกรณีไอที-รัฐสภาแห่งใหม่ โดย นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายภาคภูมิ ศรีชำนิ ผู้จัดการใหญ่ ซิโน-ไทยและนายโชติจุฑา อาจสอน. ที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่กลุ่มนิติบุคคล เข้าร่วมเสวนา
นายวัชระกล่าวว่าปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.งบประมาณระบบไอทีที่จากเดิมกำหนดไว้ 3000 พันล้านบาท แต่ขณะนี้งบโป่งฟองเป็น 8 พันกว่าล้านบาท และ2.การขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างที่ดูพิศดารที่สุด เพราะขยายเวลาก่อสร้างถึง 3 ครั้ง รวมเป็น 1400 วันโดยประมาณ ซึ่งเป็นการขยายเวลาเกินกว่ากำหนดการสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 900 วันตามเงื่อนไขสัญญา ดังนั้นจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอื้อเอกชนเพื่อทุจริตหรือไม่ และขอถามว่า ในเมื่อบริษัทซิโน-ไทยฯทราบอยู่แล้วว่าทางสภาจะส่งมอบพื้นที่ไม่พร้อมกัน เหตุใดจึงยอมเป็นคู่สัญญา และจริงหรือไม่ที่มีการแก้ไขแบบการสร้างบริเวณถางกลางรัฐสภาแห่งใหม่จากที่เคยกำหนดให้รับลมจากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
นายวัชระกล่าวต่อว่าดังนั้นหลังจากการเลือกตั้งแล้วจะมีคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการก่อสร้างรัฐสภาอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมานั้น นายจเร พันธ์เปรื่อง อดีตเลขาธิการรัฐสภาที่มีความซื่อสัตย์ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกตั้งกรรมการสอบสวนกรณีสั่งให้ตรวจสอบการก่อสร้างรัฐสภา จนเป็นเหตุทำให้การก่อสร้างรัฐสภาล่าช้า แต่พอหลังจากการตั้งกรรมการสอบแล้วก็พบว่าไม่มีความผิด ตนเลยถามว่าทำไมถึงยังไม่คืนตำแหน่งให้กับนายจเร เข้าสู่ตำแหน่งเดิม และนอกจากนี้ยังมีข้าราชการอีก 18 คน พบว่าถูกกลั่นแกล้ง โดยสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนหนึ่งได้ออกคำสั่งไปยังนายสรศักดิ์ เพียรเวชเลขาธิการรัฐสภาคนปัจจุบันให้ตั้งกรรมการสอบฐานทำให้การก่อสร้างรัฐสภาล่าช้าอีก ทั้งๆที่เขาต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการก่อสร้างรัฐสภาว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดในกรณีนี้นั้นพบว่าหลังจากที่ตนแถลงข่าวไปแล้ว ก็พบว่าหยุดการตั้งกรรมการสอบไปแล้ว ซึ่งตนต้องขอขอบคุณไปยังนายสรศักดิ์ด้วย
ส่วนนายอนุทิน กล่าวว่ากรณีการก่อสร้างรัฐสภานั้นที่ผ่านมานั้นมีการประมูล การกำหนดงบประมาณรัฐสภานั้นเป็นยุคสมัยที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานรัฐสภา การกำหนดให้ทำงานให้เสร็จภายใน 900 วัน ก็เป็นสิ่งที่เกิดในยุคของนายสมศักดิ์ด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่านายสมศักดิ์นั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความล่าช้าแต่อย่างใดเพราะไม่ใช่ผู้ที่เป็นวิศวกรลงไปก่อสร้างรัฐสภา ทั้งนี้บริษัทซิโน-ไทย ก็ไม่ใช่ผู้ที่กำหนดเช่นกันว่าการก่อสร้างรัฐสภาจะต้องเสร็จภายใน 900 วันเช่นกัน ปัญหาของการก่อสร้างรัฐสภาล่าช้านั้นเกิดจากการส่งมอบพื้นที่ช้า ดังนั้นการนับเวลาการก่อสร้าง 900 วันนั้นจะต้องนับจากวันที่ได้รับมอบพื้นที่แล้วไปอีก 900 วัน วันที่รัฐสภาใหม่จะก่อสร้างเสร็จสิ้นก็จะเป็นภายในสิ้นปี 2562 ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ส่วนทำไมว่าผู้ส่งมอบพื้นที่ส่งมอบช้านั้นไม่ใช่เรื่องของบริษัทที่จะไปรับรู้ด้วย ท้ายที่สุดตนขอยืนยันว่าการก่อสร้างรัฐสภานี้เป็นสิ่งที่มีเกียรติ สามารถนั่งเข้าไปทำงานได้อย่างเต็มภาคภูมิแน่นอน
นายอนุทินกล่าวต่อว่าการที่นายวัชระเอาสิ่งที่เป็นส่วนของงบไอทีมาโยงกับงบประมาณก่อสร้างรัฐสภาที่โป่งพองนั้นขอย้ำว่าเรื่องนี้บริษัทซิโน-ไทย ไม่ได้เกี่ยวข้องเลยในด้านการวางระบบไอที บริษัทมีหน้าที่ทำงานในขอบเขตของตัวเองคือแค่สิ้นปี 2562 เท่านั้นเอง และในตอนนี้ก็คืบหน้าในส่วนของโครงการไปถึงร้อยละ 52 แล้ว
ทางด้านของนายวิลาศกล่าวว่าการก่อสร้างรัฐสภาชุดนี้ถือว่าเละมาก และทุกอย่างก็ไม่ค่อยมีการเปิดเผย ตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่มีการเปิดเผย สำหรับกรณีการต่อสัญญานั้นตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ตนไม่ได้ไปต่อว่าบริษัทชิโนไทยแต่อย่างใด แต่เป็นทางรัฐบาลและทางรัฐสภาที่ตนต้องไปตอบว่าไปต่อสัญญาได้อย่างไร และตนขอต่อว่าบริษัทที่ปรึกษาโครงการที่เสนอให้ต่อสัญญาเข้าไปได้อย่างไร ส่วนกรณีที่ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า โดยส่งเมื่อเดือน พ.ย. 2559 ในวันก่อนการส่งมอบนั้นการก่อสร้างรัฐสภาก็ดำเนินไปแล้วราวๆร้อยละ 28 ดังนั้นหลังจากส่งมอบไปแล้ว ตนเห็นว่าไม่ควรให้เวลา 900 วัน แต่ควรให้เวลาราวๆ 600-700 วันหรือแค่ร้อยละ 70 ก็เหมาะสมแล้ว นอกจากนี้ตนยังได้ข้อมูลมาว่าการจัดซื้อไมโครโฟนในห้องประชุมรัฐสภาแห่งใหม่นั้นใช้ข้อมูลไปถึง 1.2 แสนบาทต่อตัว ดังนั้นเรื่องนี้หลังจากการเลือกตั้งแล้วตนก็จะไปตั้งกรรมการสอบอีกเช่นกัน
ด้านนายภาคภูมิกล่าวตอบโต้นายวิลาศว่าที่นายวิลาศบอกว่าให้ต่อเวลาแค่ 600-700 วันก็พอนั้น นายวิลาศไม่ใช่วิศวกร ซึ่งตามหลักแล้วเขามีวิธีคำนวณอยู่ตามหลักวิศวกรนั้นไม่สามารถไปทดเวลาแบบนั้นได้ เพราะมีการคำนวณในส่วนที่เรียกว่าช่วงเวลาวิกฤติอยู่ ล ส่วนเรื่องการแก้ไขแบบนั้นขอยืนยันว่าไม่มีการแก้ไขอย่างแน่นอน และในเรื่องของการประมูลไอทีนั้นทางบริษัทซิโนไทยเป็นคนแจ้งกับทางรัฐสภาเองว่าการก่อสร้างในส่วนของบริษัทแม้จะก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วแต่สภาจะยังใช้งานไม่ได้เลยเพราะว่ายังไม่มีการวางระบบไอที
นายวิลาศกล่าวโต้กลับว่าแต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรจะนับหนึ่งใหม่หมดเลย เพราะอย่างน้อยก็มีการลงเสาเข็มไปบ้างแล้ว และในส่วนของระบบไอทีนั้นที่ผ่านมามีการประชุมในรัฐสภาว่า บริษัทเมอร์ลินโซลูชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เคยเสนอว่าค่าระบบไอทีอยู่ที่ 6,648 ล้านบาท ตนก็เคยแถลงข่าวไปแล้วว่าทำไมต้องเอื้อบริษัทนี้เข้ามาทำโดยวิธีพิเศษ ทางฝ่ายรัฐสภาก็ชี้แจงตนมาว่าเพราะความเร่งด่วนถึงต้องใช้วิธีพิเศษ แต่อย่างไรก็ตามโครงการนี้เริ่มมาตั้ง 4 ปี แล้ว ทำไมไม่ประกวดราคาไป ณ ตั้งแต่เวลาโครงการก่อสร้างรัฐสภามันเริ่มต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มีการกำหนดงบไปทีซึ่งขณะนี้ตนทราบว่าทางรัฐสภากำหนดงบประมาณเพิ่มขึ้นไป 8 พันกว่าล้านบาทแล้ว จากตอนแรกที่รัฐสภาได้วางงบไว้ที่ 3 พันกว่าล้านบาท ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขากำหนดตัวเลขกันด้วยวิธีอะไร ทางรัฐสภาเขาได้ไปอ้างว่าช่วงเวลาที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไป งบประมาณการวางระบบเทคโนโลยีเลยต้องสูงตนเลยขอถามว่าเลยตอนกำหนดงบตอนแรกเขาไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้เลยหรือ ถ้าเรื่องนี้ถ้าตนกลับไปเป็น ส.ส. คงต้องมีการตั้งกรรมาธิการสอบสวนเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้อย่างแน่นอน และตนจะไม่ร้องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในชุดนี้เรื่องกรณีการสร้างรัฐสภาใหม่อย่างแน่นอน แต่จะไปยื่น ป.ป.ช. หลังจากที่เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว
ทางด้านของนายศรีสุวรรณกล่าวว่าจริงๆตนเห็นว่าการส่งมอบควรจะส่งได้ไปในเดือน ส.ค. 2562 ไม่ใช่ในปลายปี 2562แต่อย่างใด ส่วนเรื่องงบไอทีนั้นตนเห็นด้วยกับนายวิลาศว่ามันมีการกำหนดงบประมาณโดยไม่มีที่มาที่ไป การก่อสร้างรัฐสภานั้นมีการละเมิดกฎหมายกันหลายกรณีมาก ต้องถามว่ารัฐสภาเขาไม่ควบคุมให้การก่อสร้างเป็นไปตามกฎหมายเลยหรือ อาทิเช่นกันการก่อสร้างห้ามกระทำในวันเสาร์อาทิตย์ การก่อสร้างจะกระทำได้ไม่เกินสี่โมงเย็น การก่อสร้างต้องมีการเอาผ้าคลุมมาคลุมเพื่อไม่ให้ฝุ่นกระจาย ข้อห้ามเหล่านี้ถูกละเมิดหมด ทำไมทางรัฐสภาถึงไม่เข้ามาทำกับดูแลด้วย ซึ่งในวันจันทร์หน้าตนจะไปแจ้งความที่ สถานีตำรวจเขตดุสิตเพื่อให้เอาผิดในเรื่องนี้
นายวัชระกล่าวต่อถึงกรณีบริษัทเมอร์ลิน ตนทราบว่าที่ผ่านมานั้นมีการจ่ายเงินให้กับตัวผู้ว่าจ้างเพื่อให้ได้รับสัญญา ดังนั้นบุคคลในคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้บริษัทเมอร์ลินจากบริษัทที่ปรึกษาไปเป็นบริษัทที่เข้ามาออกแบบระบบไอทีให้กับรัฐสภานั้นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกรณีนี้ด้วย ทั้งนี้ตนจะทำหนังสือไปถึงพล.อ.ประยุทธ์เพื่อให้สั่งการให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบกรณีนี้ต่อไป
ขณะที่นายโชติจุฑา กล่าวว่าในว่วนของงานก่อสร้างอาคารรัฐสภา ในส่วนของการขยายระยะเวลาเป้นจำนวน 3 ครั้ง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่ผูกพันกับสัญญาการส่งมอบพื้นที่จำนวน 4 ครั้ง สำหรับรายละเอียดของการขยายสัญญา 3 ครั้งนั้น ได้แก่ 1.การขยายเวลา 387 วัน เนื่องจากความล่าช้าในการขนดิน ทำให้กำหนดการสร้างสภาเสร็จเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2559 2. เกิดปัญหาว่าผู้ว่าจ้างไม่สามารถหาพี่พักหรือที่ขายดินจำนวน 1 ล้าน ลบ.ม. ได้ ทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต้องขยายเวลาไปอีก 421 วัน เป็นแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2561 ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะว่าผู้บริหารสภาชุดเก่ามีความลังเลว่าจะขายดินด้วยดีหรือไม่ ทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น และ 3.เนื่องจากได้รับผลระทบจากพื้นที่ก่อสร้างในการส่งมอบพื้นที่ในครั้งที่ 4 มีความล่าช้าจากกำหนดในสัญญา ทำให้ต้องมีการขบาบเวลาไปอีก 674 วัน ทำให้กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562