ไม่ต้องออก ม.44 บ่อย! 'ฐากร'ลั่นเล็งเยียวยาทีวีดิจิทัล แก้กม. ไฟเขียวโอนเปลี่ยนมือ- คืนใบอนุญาต
ได้ไม่ต้องออกม.44 บ่อย 'ฐากร' เลขาธิการ กสทช.ลั่นเล็งแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล แก้กม. ไฟเขียวโอนเปลี่ยนมือ- คืนใบอนุญาต พร้อมเตือนสื่อปรับตัวรองรับเทคโนโลยี 5G
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2561 ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ 1 ชั้น 2 อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดีรังสิต ผู้รับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงรุ่น 1 - 7 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัด “สัมมนาวิชาการ-รวมใจพี่น้อง บสส.”
นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล ประธานชมรมผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (ชบสส.) และนางสาววิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอิศรา กล่าวเปิดเวทีเสวนา
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวถึงสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากนี้ไปจะเปิดพื้นที่ทำงานร่วมกับเพื่อนสื่อสารมวลชนให้มากขึ้น โดย10 ปีต่อจากนี้ไปต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่าย พร้อมกับตั้งเป้าไม่เกิน 3 ปี ไทยพีบีเอส จะกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน
จากนั้นมีเวทีสัมมนาวิชาการ ทางรอด “อุตสาหกรรมสื่อไทยในยุคดิจิทัล”
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปี 2563 จะมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาแล้ว อุตสาหกรรมสื่อทีวีดิจิทัลจะหนักกว่าเดิม ฉะนั้นสื่อทีวีจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งการแจกคูปอง และการขยายเครือข่ายถือเป็นเรื่องเล็กน้อย
"วันนี้สื่อทีวีดิจิทัลทีปัญหา มาจาก 3 ประเด็น 1. เทคโนโลยีเปลี่ยน 2.ผลการประมูลทีวีราคาประมูลสูงขึ้น 3.2 เท่า และ 3.ช่องรายการมีมากเกินไป" นายฐากร กล่าว และว่า สภาพตลาดโฆษณาผ่านสื่อในปัจจุบัน สื่อสิ่งพิมพ์นับได้ว่า ประสบปัญหามากที่สุด ขณะที่งบโฆษณาสื่อดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นไปอีก
เลขาธิการ กสทช. กล่าวด้วยว่า กสทช.พยายามจัดลำดับความสำคัญของทีวีดิจิทัลก่อน ทั้งกฎเกณฑ์ กติกา เรื่องโครงข่ายดาวเทียม ภาคพื้นดิน และเรื่องการโอนเปลี่ยนมือ หรือคืนใบอนุญาติ นี่คือแนวทางพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องอยู่ที่สภาฯ โดยขอให้เพิ่มมาตรานี้ เพื่อไม่ต้องออกมาตรา 44 บ่อยครั้ง
"มาตรา 44 ที่ออกเมื่อปี 2559 ยืดแผนแม่บทวิทยุดิจิทัลออกไป 5 ปี เพราะมองว่า สื่อทีวีดิจิทัลยังไม่รอด หากมีวิทยุดิจิทัลอีกจะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้มีปัญหาไปใหญ่"
ด้านดร.สรายุทธ มหวลีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวสื่อสิ่งพิมพ์ กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ประสบปัญหานั้น เชื่อว่า สื่อไม่มีวันตายและรอดอยู่แล้ว
"สื่อมีความมั่นคงและยิ่งใหญ่ในเนื้อหา เราค่อยๆปรับตัวมาตลอด จากอดีตสื่อแย่งข่าวกันด้วยความเร็ว วันนี้สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือเนื้อหา ปรับตัวเองไปอยู่บนโลกออนไลน์"ดร.สรายุทธ กล่าว และว่า สยามสปอร์ต นำเสนอเนื้อหากีฬา จากไม่มีใครทำ กลายเป็นว่า ทุกสื่อมีหน้ากีฬาหมดทุกฉบับ เราขายเนื้อหากีฬาก่อนการแข่งขัน แต่เมื่อเทคโนโลยีมา บวกคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง ก็เลยถือว่า ถดถอยลงอย่างช้าๆ"
ดร.สรายุทธ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าทุกสื่อ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์มองไปในทิศทางเดียวกันไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว สื่อสิ่งพิมพ์จะถดถอยลง ด้วยคนสื่อสารผ่านเทคโนโลยี จึงมองว่า อุตสาหกรรมสื่อไทยนี้ มีการเกษียณมาก่อนก็เกษียณก่อน แต่ก็มีผู้สืบทอด ฉะนั้นวันนี้การทำข่าวต้องวิ่งตามผู้บริโภคถึงจะรอด วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ผู้อ่าน คนรับสารที่เปลี่ยนไป ต้องใส่ของที่เขาอยากอ่านเข้าไปด้วย
พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอแนะเนื้อหาสำคัญมาก และบิ๊กดาต้าที่พูดถึงกันถามว่า สำคัญตรงไหน มีเพื่อให้รู้ว่าคนอ่านคนดูต้องการอะไร เรารู้ไหมว่าคนในประเทศต้องการอะไร สื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออื่นที่ผ่านมาได้ทำหรือยัง
"กรณีช่อง 3 ผมชอบที่คุณประวิทย์ พูดว่าเราจะต้องสร้างปรากฏการณ์ทุกปี ปีที่แล้วนาคี ปีนี้บุพเพสันนิวาส ผมไม่รู้ว่าฟลุ๊คหรือเปล่าแต่เป็นสิ่งที่ตรงกระแสตรงใจคนปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเรามีเนื้อหาที่จะรับเยอะไปหมด ดังนั้นต้อง’เจ๋ง’จริงๆคนถึงจะเลือก’รับ’ เพราะยากที่จะมีอะไรทะลุขึ้นมา content จึงสำคัญ บิ๊กดาต้ามีหน้าที่นี้
อีกส่วนคือการทำตลาด ‘สื่อ’ไม่ค่อยทำการตลาด แม้ content ดีจึงไม่มีคนดูเพราะคนไม่รู้ ต้องทำการตลาด ซึ่งมีหลายวิธี ทั้งออนไลน์ ออนแอร์ ออนกราวน์ อย่างช่อง3ออนไลน์ช่วยมาก"
ส่วนนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท. กล่าวว่า สื่อไทยจำเป็นต้องถามตัวเองว่า เคยปรับตัวหรือไม่ เพราะหากใครปรับตัวเร็ว เชื่อว่า จะแก้ปัญหาได้เร็ว
"ทางรอดอุตสาหกรรมสื่อไทย คือเนื้อหา ยกกรณีข่อง 3 เรตติ้งนำช่อง 7 ในรอบ 20 ปี ก็มาจากละคร ซึ่งข่าวย้ายเรามองมิติเดียวเสมอในเชิงธุรกิจไม่คุ้ม แตกต่างจากต่างประเทศมีวิถีคิด ดังนั้นอยู่ที่ว่า เราจะคิดอย่างไร ตัวเนื้อหา ต้องคิดหลายมุม นำเสนอได้หลายแพลตฟอร์ม"
นายเขมทัตต์ กล่าวถึงทักษะคนข่าวด้วยว่า ส่วนใหญ่ยังทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งสามารถพัฒนาให้มีทักษะที่หลากหลายได้ รวมถึงมุมมองทางการเงิน การตลาด สื่อสิ่งพิมพ์เดิม แม้จะรักในอาชีพ อยากขายหนังสือพิมพ์ให้ได้ แต่ก็มีนายทุน ไม่ว่ารัฐ หรือเอกชน หากคนทำสื่อใช้จ่ายเงินมากมายก็เกิดปัญหาได้
"กฎหมาย กฎ กติกา ที่เข้มงวด ไม่มีความพอดีในสังคมไทย ทั้งหมดรวมกันเป็นเรื่องทิศทางขององค์กรสื่อ ต้องแก้ให้ได้ และกระจายความเสี่ยงไปธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เทคโนโลยีใหม่ เชื่อว่าจะรอด ราบลื่น รุ่งเรือง"
สุดท้ายนายไตรลุจน์ นวะมรัตน นายกสมาคม มีเดียเอเจนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงบโฆษณา กับความท้าทายอุตสาหกรรมสื่อไทยในยุคดิจิทัล จากงบฯ ที่ดูสวยหรู เมื่อปี 2558 เกินครึ่งงบโฆษณาอยู่ที่ทีวี 6-7 หมื่นล้านบาท
"มาปี 2559 งบโฆษณาลดลงไป 10% ส่วนแบ่งการตลาดไปลงที่ทีวีใกล้เคียง แต่ตัวเงินลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจ การเงิน คนไม่ใช้เงิน ของขายไม่ได้ ซึ่งงบที่ถูกตัดก่อนคืองบโฆษณา
ปี 2560 งบโฆษณาเหลือไม่ถึงแสนล้านบาท ปี 2561 ส่วนแบ่งทางการตลาดเริ่มเปลี่ยนไป มีหน้าใหม่เข้ามา คือ ออนไลน์ หรือสื่อดิจิทัล มาแบ่งส่วนแบ่งทางตลาดทางสื่อสิ่งพิมพ์ โรงภาพยนต์"
นายไตรลุจน์ กล่าวต่อว่า จากจำนวนทีวีที่เพิ่มขึ้น จาก 4 ช่อง เป็น 24 ช่อง งบโฆษณาก็ยังตกไปอยู่ที่ช่อง 3 และช่อง 7 เสียส่วนใหญ่ คนที่โดนดึงเงินไปคือ สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ ขณะที่สื่อออนไลน์ เหมือนทีวี ไลฟ์เร็วกว่าทีวี ขายของได้ และยังเหมือนโรงภาพยนตร์ เหมือนหนังสือพิมพ์มีข่าวให้อ่าน มีภาพเคลื่อนไหว นี่คือปัจจัยมาดึงแชร์ทางการตลาดไป งบโฆษณาจึงเหลือน้อยลง ส่วนสื่อนอกบ้าน เช่น บิลบอร์ด โฆษณาบนรถไฟฟ้า รถเมล์ กลับได้รับผลกระทบน้อยสุด
"ฉะนั้นผมให้ความหวัง ปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมจะขึ้นมาอีก 4%"