นิตยสารบนออนไลน์ ‘เว็บอ่านเอา’ คอมมิวนิตี้สำหรับคนรักนิยาย
เว็บไซต์ อ่านเอา จะเปิดตัวพร้อมกันในวันที่ 2 เม.ย. 2561 ซึ่งเป็นฤกษ์มหามงคล วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผู้อ่านจะได้สัมผัสผลงานของนักเขียน เช่น ปิยะพร ศักดิ์เกษม เรื่อง ดวงใจระบายสี, พงศกร เรื่อง Irrawaddy...เกลียวกระซิบ, กิ่งฉัตร เรื่อง นิลนาคินทร์...
จากไอเดียเล็ก ๆ ของ ‘หมอโอ๊ต’ นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ เจ้าของนามปากกา ‘พงศกร’ ที่อยากสร้างคอมมิวนิตี้ออนไลน์ ขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนและนักอ่าน หลังจากนิตยสารที่เคยตีพิมพ์นวนิยายปิดตัวลงเกือบหมด ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงสองฉบับก็ว่าได้ คือ ‘กุลสตรี’ และ ‘แปลก’
จึงก่อเกิดเป็นเว็บไซต์ ‘อ่านเอา’ (anowl) ซึ่งเป็นการรวมตัวระหว่างนักเขียนรุ่นกลางระดับท๊อปของเมืองไทย นอกจากจะมีหมอโอ๊ต พงศกร แล้ว ยังมี ‘เอียด’ นันทพร ศานติเกษม เจ้าของนามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม และ ‘ปุ้ย’ ปาริฉัตร ศาลิคุปต์ เจ้าของนามปากกา กิ่งฉัตร ร่วมด้วยสหายในวงการผู้อยู่เบื้องหลังอีกหลายท่าน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นัดเจอพวกเขาและเธอที่ล็อบบี้ของโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งย่านสีลมในวันฝนตกรถติด เพื่อพูดคุยถึงความเป็นมา จุดเด่น ของเว็บไซต์นวนิยาย www.anowl.co (อ่านเอา)
ปุ้ย กิ่งฉัตร เริ่มต้นบอกเล่าว่า ความจริงแล้ว คนที่ต้องการจริง ๆ คือ หมอโอ๊ต มาชวนว่า นิตยสารปิดตัวไปเยอะ จึงไม่มีจุดที่จะสื่อสารกับคนอ่าน ซึ่งถามว่า นวนิยายแนวนี้ยังมีหรือไม่ คำตอบคือมี แต่ปัญหาอยู่ที่ปัจจุบันมีนักเขียนเกิดขึ้นจำนวนมาก ฉะนั้น เหมือนกับว่า หากเราเหวี่ยงก้อนหินลงไป มันจะจมหายไปเลย
จึงหันมามองกัน โดยวัดจากตัวเรา ซึ่งเป็นคนเขียนหนังสือและเป็นคนอ่านไปพร้อมกันด้วยว่า เวลาเราอยากอ่านงานสไตล์เรา มักหายากมาก จะให้ไปควานหา ค่อนข้างจะลำบาก จึงตกลงกันว่า เรามารวมกลุ่มกันและสร้างจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมา สำหรับนักอ่านและนักเขียนสไตล์เดียวกันกับเรา พร้อม ๆ กันนั้น ยังช่วยทดแทนความสูญเสียของนิตยสารอีกด้วย
“ประชุมกันนานมาก กว่าจะตัดสินใจทำ แต่จริง ๆ บอกตรง ๆ ว่า สิ่งที่กำลังทำค่อนข้างหนักสำหรับเรา เพราะหากเราอยู่เฉย ๆ จะสบาย ไม่มีอะไรมาก เขียนออกมา รวมเล่ม คนอ่านยังสนับสนุนอยู่ แต่สิ่งที่เราอยากทำมากกว่านั้น คือ การเปิดอีกประตูหนึ่งให้กับนักเขียนและนักอ่านได้มีโอกาสมาคุยกันมากกว่า”
สำหรับจุดเด่นของเว็บไซต์นี้ เธอพูดคุย คือ นวนิยาย โดยเราจะไม่เปิดกว้างให้กับทุกคน แต่ช่วงแรกจะคัดเลือกเรื่องจากนักเขียนที่เชิญมาร่วมด้วย ทั้งนี้ จะมีบรรณาธิการ พิสูจน์อักษร จัดหน้า เรียกว่า ทำทุกอย่างให้มีความสมบูรณ์แบบเหมือนกับนิตยสารฉบับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ต้องสร้างความเข้าใจว่า เว็บไซต์อ่านเอาไม่ใช่เว็บไซต์นวนิยายอ่านฟรี แต่เป็นเว็บไซต์นิตยสารออนไลน์ เพราะเมื่อคุณเปิดมาอ่าน จะได้อ่านนวนิยาย เรื่องสั้น รวมถึงคอลัมน์ต่าง ๆ ที่เคยมีในนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ เดินทาง ปกิณกะ
ปุ้ย กิ่งฉัตร บอกต่อว่า ที่มากไปกว่านั้น คือ รายการออนไลน์ ช่วง อ่านอร่อย ซึ่งจะนำเมนูเด่นในนวนิยายชื่อดังมาปรุงให้ชม เพื่อจะได้นำไปทำตาม มีการจัด Podcast หรือรายการวิทยุ Streaming พูดคุยให้ความรู้สาระ ความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายและการเขียน อีกทั้งในอนาคต ยังจะมีกิจกรรมเวิร์คช้อปให้นักเขียนและนักอ่านมาพบเจอกัน สร้างเป็นคอมมิวนิตี้
แล้วชื่อ ‘อ่านเอา’ มาได้อย่างไร
ปุ้ย กิ่งฉัตร เล่าว่า ชื่อนี้เป็นความคิดของ คุณเอียด ปิยะพร ศักดิ์เกษม วันนั้นนั่งประชุมกัน อยู่ดี ๆ คุณเอียดวิ่งไปเข้าห้องน้ำ หายไปครึ่งชั่วโมง เรานึกว่าเป็นลมในห้องน้ำ (หัวเราะ) กำลังจะเดินไปตาม สักพักเดินกลับมาเอง พร้อมกับชื่อเว็บไซต์ ‘อ่านเอา’
ปิยะพร นั่งอยู่ข้าง ๆ กล่าวเสริมว่า ปกติเป็นคนชอบคิดอะไรในห้องน้ำ ยิ่งเวลาสระผม ไอเดียจะกระฉูด ซึ่งชื่อของเว็บไซต์นั้น ได้พยายามคิดชื่อที่เขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งคำว่า อ่านเอา เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Anowl ออกเสียงแบบไทย ๆ ว่า แอน เอาล แปลว่า นกฮูก เป็นสัตว์ตัวแทนความฉลาด ได้ด้วย
ขณะที่ ‘หมอโอ๊ต’ พงศกร บอกเล่าเพิ่มเติมในส่วนของเรื่องสั้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ในเว็บไซต์ โดยได้ ‘พจมาน พงษ์ไพบูลย์’ น้องสาวของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ เคยเป็นกรรมการตัดสินนวนิยายและเรื่องสั้นจากหลายเวที ให้เกียรติมาช่วยคัดกรองดูแลต้นฉบับ
ทั้งนี้ คุณสมบัติของเรื่องสั้นที่จะส่งเข้ามา ต้องอ่านแล้วสนุก ให้ข้อคิด ไม่จำเป็นต้องแนวไหนชัดเจน เป็นเรื่องผีก็สนุกได้ เรื่องรักก็สนุกได้ เพื่อสังคมก็สนุกได้ แต่ต้องอ่านแล้วสนุก และมีวรรณศิลป์
“เรามองว่าเรื่องสั้นจะมีความแตกต่าง บางทีนิตยสารรายสัปดาห์ลงได้เรื่องเดียว แต่หากเป็นเว็บไซต์สามารถลงเยอะแค่ไหนก็ได้”
เขากล่าวด้วยว่า สำหรับใครที่ประสงค์จะส่งผลงานเรื่องสั้นเข้ามา ขอให้อดใจรอ แต่จะไม่มีค่าตอบแทนให้ นอกจากจะเป็นเสมือนคลินิกในการช่วยวิพากษ์วิจารณ์ผลงานกลับไปยังผู้เขียน สำหรับพัฒนางานเขียนให้แข็งแรงขึ้นต่อไป และหากกระแสตอบรับดี ปลายปีอาจมีการจัดประกาศรางวัล ‘อ่านเอาอวอร์ด’ ก็ได้
สำหรับเว็บไซต์ อ่านเอา จะเปิดตัวพร้อมกันในวันที่ 2 เม.ย. 2561 ซึ่งเป็นฤกษ์มหามงคล วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โดยผู้อ่านจะได้สัมผัสผลงานของนักเขียน 10 ท่าน ได้แก่ ปิยะพร ศักดิ์เกษม เรื่อง ดวงใจระบายสี, พงศกร เรื่อง Irrawaddy...เกลียวกระซิบ, กิ่งฉัตร เรื่อง นิลนาคินทร์, มาลา คำจันทร์ เรื่อง สร้อยหงส์แสง, ภัสรสา เรื่อง เกมอาชา, ปราปต์ เรื่อง ลิงพาดกลอน, ทอม สิริ เรื่อง สาปเคหาสน์, กานต์ เรื่อง นิยาย (รัก) ไม่มีวันจบ, ปองวุฒิ เรื่อง บ่วงสุคนธา และ นาคเหรา เรื่อง ภูษาแห่งราชา
จึงนับเป็นอีกก้าวของโลกงานเขียนเปลี่ยนผ่านจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่ ในรูปแบบ นิตยสาร (อ่านเอา) บนโลกออนไลน์ .