น่าห่วง! ยูนิเซฟชี้สถานการณ์เด็กในแคมป์ก่อสร้าง เข้าไม่ถึงสาธารณสุข-การศึกษา
ยูนิเซฟ รายงานสถานการณ์เด็กในแคมป์ก่อสร้างยังมีความท้าทาย ขาดโครงสร้างพื้นฐาน ห้องน้ำ เข้าถึงระบบสาธารณสุข การศึกษาไม่เพียงพอ
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.61 ยูนิเซฟ และมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก ได้นำเสนอผลรายงานการวิจัยและข้อเสนอแนะจากรายงาน "สร้างสรรค์อนาคตประเทศไทย เกื้อหนุนชีวิตเด็กในแคมป์ก่อสร้าง" ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะสุโกศล
นายนิโคลา ครอสตา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายบ้านเด็ก ได้นำเสนอรายงาน "สร้างสรรค์อนาคตประเทศไทย เกื้อหนุนชีวิตเด็กในแคมป์ก่อสร้าง" ซึ่งในรายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของปัญหาใน 4 ประการ ได้แก่
1. ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม เช่น ห้องอาบน้ำและห้องสุขาที่ไม่เพียงพอ ห้องน้ำที่ไม่แยกเพศ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
2. สิทธิ พบว่า มีความเสี่ยงด้านการถูกกีดกันทางสังคมมากขึ้น รวมถึงการถูกแบ่งแยก การถูกละเลย และการใช้ความรุนแรง โดยพบว่าเด็กจำนวน 9 ใน 10 คนที่ให้สัมภาษณ์ในรายงาน เคยเห็นผู้ใหญ่ทะเลาะกันและใช้ความรุนแรง หรือประสบกับความรุนแรงจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
3. สุขภาพ การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งในห้าคนที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานกล่าวว่า บุตรหลานในครอบครัวไม่ได้รับวัคซีนพื้นฐาน และเกือบครึ่งกล่าวว่า ลูกหลานของตนไม่มีบัตรประกันสุขภาพ
4. การศึกษา เด็กในแคมป์ก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนและได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดหลายประการ เช่น การย้ายถิ่นฐานเป็นประจำ การไม่รู้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาของตัวเอง การไม่เข้าใจภาษาและไม่สามารถสื่อสารได้ รวมถึงไม่มีเงินจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนที่การสนับสนุนของรัฐไม่ได้ครอบคลุมถึง
นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าวยังได้เสนอแนะ 12 แนวทางปฎิบัติที่บริษัทหรืออุตสาหกรรมก่อสร้างนำไปวางแผนและลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง อาทิ การเอื้อเฟื้อวัสดุก่อสร้าง โครงการฝึกทักษะชีวิตโดยมุ่งเน้นเรื่องสิทธิและการคุ้มครองเด็ก โครงการรณรงค์เรื่องวัคซีน การรณรงค์ทำบัตรสุขภาพ ความช่วยเหลือเรื่องการลงทะเบียนเข้าเรียนในโรงเรียน เป็นต้น
"เด็กหลายคนอาศัยอยู่ในแคมป์ที่พักคนงานก่อสร้างที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคและความท้าทายในการเข้าถึงความเป็นอยู่ในขั้นพื้นฐานที่ดี รายงานฉบับนี้จึงเสนอข้อมูลในด้านปัญหาและความท้าทาย พร้อมตัวอย่างแนวทางการแก้ปัญหาและกรอบปฏิบัติการ เพื่อเป็นการแนะแนวทางในอนาคตในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือการดำเนินงานที่ทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์ ประโยชน์ที่เด็ก สังคม หรือประเทศไทยจะได้รับ โดยใช้ปัญหาให้เป็นโอกาส"นายนิโคลา กล่าว
ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุ จากการสัมภาษณ์ พ่อแม่และเด็กๆ ต่างชาติจำนวนทั้งหมด 119 คน ที่อาศัยอยู่ในที่พักคนงานก่อสร้าง 21 แห่ง ผู้ร่วมวิจัยส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองเป็นคนรัฐไทใหญ่ (55% ) หรือชาวปะหล่อง/ดาราอั้ง (32%) มีผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนน้อยเป็นชาวกัมพูชา (3%) ชาวว้า (3%) ชาวปะโอ (3%) ชาวพม่า (2%) และกลุ่มชาติพันธ์ทั้งไทใหญ่ผสมปะโอ (1%)
โดยเฉลี่ย ผู้ให้สัมภาษณ์มีขนาดครอบครัวที่มีบุตร 2 คน เกือบทั้งหมดชองพ่อแม่ที่ถูกสัมภาษณ์จะแต่งงานแล้วและอยู่กินกับคู่ของตน (95%) ที่เหลือคือหย่าร้าง (2คน) หรือเป็นโสดและอยู่กับคู่ของตน (1 คน) มีผู้ให้สัมภาษณ์ที่อาศัยอยู่ในห้องรวม เฉลี่ย 3 คน (ตั้งแต่ 2-6 คน) และกว่า 40% อยู่ในห้องที่มีเด็กอยู่ด้วยมากกว่า 1 คน
เกือบครึ่งหนึ่งของแม่จำนวน 22 คนที่ถูกสัมภาษณ์เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวบอกว่า พวกเธอเคยมีประสบการณ์ความรุนแรงอย่างน้อยก็ทางคำพูดหรือทางร่างกาย แม่จำนวน 5 คนรายงานว่า เคยมีประสบการณ์ความรุนแรงทางร่างกายหนึ่งถึงสองรูปแบบ
กลุ่มผู้หญิงที่ให้สัมภาษณ์รายงานว่า เคยถูกผลักหรือเขย่าตัว ถูกขว้างปาข้าวของใส่ ถูกขู่ด้วยอาวุธมีดหรืออาวุธชนิดอื่น หรือถูกตบหรือตี ผู้หญิงสามคนรายงานว่า เคยถูกผู้ชายบังคับให้ทำกิจกรรมทางเพศที่พวกเขาไม่อยากทำ
การศึกษานี้พบว่า รูปแบบการละเมิดหรือกระทำรุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้นในระดับชุมชน ไม่เฉพาะในระดับครอบครัวเท่านั้น มีผู้หญิงบางคนรายงานว่า เคยถูกกระทำรุนแรงทางคำพูดหรือทางร่างกายจากคนอื่นที่าศัยอยู่ในที่พักคนงาน นอกเหนือจากสามีและสมาชิกครอบครัว ผู้หญิงบางรายงานเช่นกันว่า ถูกกระทำรุนแรงทางคำพูดหรือทางร่างกายจากเจ้านายหรือคนที่เธอทำงานด้วย
เมื่อพูดถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ไม่ใช่ตนเอง ผู้หญิง 11 คนรายงานว่าพวกเธอรู้จักเพื่อนสมาชิกครอบครัวหรือคนอื่นๆ ในชุมชนที่ถูกสามีกระทำรุนแรงทางร่างกาย ที่สำคัญ เกือบทั้งหมดของผู้ให้สัมภาษณ์ที่เป็นผู้หญิงตอบว่า พวกเธอคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สามีของพวกเธอต้องเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำรุนแรงทางร่างกาย