รพ.จุฬาฯ พบโรคหัวใจ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน
รพ.จุฬาฯ ตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง 1 ใน 2 แห่ง ของอาเซียน หวังพัฒนาแพทย์ไทย ช่วยเหลือผู้ป่วยมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์โรคหัวใจ พบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน
วันที่ 29 มี.ค. 2561 ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว “ศูนย์การเรียนรู้และอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง” ณ ศูนย์โรคหัวใจ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ผศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์โรคหัวใจในประเทศไทย ว่าโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ของคนไทย รองจาก โรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคปอด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงถึง 18,922 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 2 คนต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจมีหลายประเภท ซึ่ง 5 อันดับ ของคนไทย คือ โรคลิ้นหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งอาการจะแสดงออกมาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ ตั้งแต่ ไม่มีอาการไปจนถึงอาการเหนื่อยหอบง่าย นอนราบแล้วอึดอัด จนต้องลุกขึ้นมานั่งช่วงกลางคืน เจ็บหน้าอก ใจสั่นเต้นเร็ว หรือเป็นลมหมดสติ และเสียชีวิตเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการนำมาก่อน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ จะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการใช้หูฟังเสียงหัวใจของแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีการวินิจฉัยที่ดี แต่บ่อยครั้งอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมที่ละเอียดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการตรวจเพิ่มเติมทางด้านหัวใจหลายประเภท เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจวิ่งสายพาน (Stress Test) การตรวจทางภาพถ่ายรังสีแบบธรรมดา จนถึงการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (CT scan cardiac MRI) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ แต่การตรวจที่สำคัญมากที่สุด คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography)
ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจและ Noninvasive
ด้านผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจและ Noninvasive โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echo) เป็นการทำแบบสามมิติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งแพทย์โรคหัวใจในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ดังกล่าวยังมีน้อย ด้วยเหตุนี้ ศูนย์โรคหัวใจ จึงร่วมกับบริษัท ฟิลิปส์ ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้และอบรมฯ ขึ้น เพื่อฝึกลงมือปฏิบัติจริง ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการตรวจวินิจฉัย และรองรับการฝึกอบรม
ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยได้ปีละ 30 คน และช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ยังรองรับการฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหลักสูตรภาษาอังกฤษ ซึ่งนำร่องไปแล้วกับประเทศอินโดนีเซีย และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
ขณะที่นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุเพิ่มเติมว่า ศูนย์การเรียนรู้และอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง เป็น 1 ใน 2 แห่งที่มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความพิเศษ สามารถตรวจผู้ป่วยจริงได้ด้วย เนื่องจากตั้งอยู่ในโรงพยาบาล ขณะที่อีกแห่งหนึ่ง คือ สิงคโปร์ ทำไม่ได้ เพราะตั้งอยู่ในสำนักงานใหญ่ของบริษัท ฟิลิปส์
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ศูนย์การเรียนรู้และอบรมการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง ประกอบด้วย 3 ห้อง คือ ห้อง Live Echo scanning เป็นห้องสำหรับการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ โดยเป็นการตรวจเพื่อดูหัวใจขณะเคลื่อนไหว บีบตัว และคลายตัว โดยใช้หลักการ Ultrasound ซึ่งเป็นคลื่นเสียงผ่านหน้าอกผู้ป่วยไปยังหัวใจ ทั้งนี้ ยังสามารถสร้างภาพ 3 มิติ แบบ real time สามารถทำให้เห็นพยาธิ สภาพของหัวใจอย่างละเอียด
ห้องหุ่นสอนการตรวจ สำหรับการเรียนการสอนให้กับแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ ได้ฝึกใช้เครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง กับหุ่นจำลอง ก่อนไปปฏิบัติงานจริงกับผู้ป่วย
ห้อง 3D workshop สำหรับการเรียนการสอน การทำภาพ 3 มิติ โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง และยังสามารถถ่ายทอดภาพจากห้อง Live Echo scanning มาได้อีกด้วย .