ปิดเทอมสุดท้าย…ความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
ม.3 ไปสอบ รถเฉี่ยวชน ทับดับคาที่
สลด! รถบัสทับด็กนักเรียนเสียชีวิต ขณะขับรถจักรยานยนต์ไปสอบ
หนูจะไปสอบ..สุดสลด เกิดเหตุรถกระบะพุ่งชนรถ จยย.นักเรียนหญิง 4 คนที่กำลังเตรียมไปสอบกลางภาค เจ็บ3 ดับคาที1..!!
สาว ม.5 ซิ่งจักรยานยนต์จะไปรับเพื่อนฉลองปิดเทอม เสียหลักชนต้นไม้ดับคาที่
สลด!!!เด็กชายวัย 12 ขวบ ตามมาอยู่กับพ่อที่ทำงานก่อสร้าง เนื่องจากโรงเรียนปิดเทอม ไม่มีใครดูแล!! ยืมจักรยานยนต์เพื่อนไปซื้อขนม ถูกชนเสียชีวิตคาที่
พาดหัวข่าวข้างต้นเป็นข่าวที่พบเห็นได้บ่อยในช่วงก่อนและระหว่างปิดเทอม (ช่วงสอบและช่วงปิดเทอม) ได้แก่ เดือนมีนาคม - พฤษภาคม และเดือนตุลาคม ข้อมูลจากใบมรณบัตรและหนังสือรับรองการตายปี 2559 ระบุว่า เด็กอายุตั้งแต่ 19 ปี ลงมา เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 2,184 ราย (เฉลี่ย 6 คน/วัน) สาเหตุหลักของการเสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ โดยพบว่าเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นเดือนที่มีเด็กเสียชีวิตสูงสุด (เฉลี่ย 8-10 คน/วัน) และ แนวโน้มการเสียชีวิตจะสูงขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวสัมพันธ์กับช่วงเวลาสอบและปิดเทอมของสถานศึกษา ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
กรณีล่าสุด วันที่ 5 มีนาคม 2561 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นักเรียนชาย ม.3 ขี่รถจักรยานยนต์ไปสอบปลายภาค ระหว่างทางเกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์จนเสียหลักล้มกระเด็นไปกลางถนน ถูกรถสองแถวเหยียบซ้ำเสียชีวิต ภาพที่ทุกคนได้เห็นคือ พ่อแม่เด็กนักเรียนทรุดลงกับพื้น เข้าไปกอดร่างลูกและร้องไห้คร่ำครวญ คนเป็นแม่พูดซ้ำๆ ว่า “ขอโทษ” ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจจะโทษว่าเป็นความผิดของตนเองที่ไม่ดูแลลูกให้ดี ลูกจึงต้องมาจบชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ประเด็นสำคัญคือ ภาพและคำพูดเหล่านี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ในแต่ละปีมีพ่อแม่ 2,509 ครอบครัว ที่ต้องเสียน้ำตาและรู้สึกผิดกับการจากไปของบุตรหลาน การเสียชีวิตของเด็กไทยไม่เคยมีแบบแผนที่ต่างไปจากเดิม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือผู้ขับขี่อายุน้อยลงไปทุกวัน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นเด็กอายุ 7 ขวบ ขี่รถจักรยานยนต์ในชุมชน
ทำไมช่วงปิดเทอมถึงมีความเสี่ยง
หากจะพูดถึงความเสี่ยงช่วงปิดเทอมต้องแบ่งเวลาออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงสอบ และ ช่วงปิดเทอม
1. ช่วงสอบ และ ช่วงมาทำกิจกรรมเสริมต่างๆ
จากข่าวจะเห็นได้ว่า พาหนะที่เด็กใช้ในการเดินทางไปสอบหรือกิจกรรมเสริม เรียนพิเศษเพิ่มเติม สอบซ่อม ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ ความเสี่ยงที่พบเป็นเรื่องของการขับขี่ด้วยความเร็ว บรรทุกเกิน (ซ้อนสองหรือสามคน) ขาดทักษะในการขับขี่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ฯลฯ จะพบหลายเหตุการณ์ที่ต้องเร่งรีบเพื่อไปทันสอบ เพราะถือเป็นช่วงสำคัญของชีวิต ทำให้ขาดความระมัดระวังในการเดินทาง และส่วนใหญ่อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่สามารถทำใบขับขี่ได้ แต่กลับขี่รถจักรยานยนต์ไปโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเดินทางไปสอบกับเพื่อน จึงทำให้เกิดปัญหาบรรทุกเกินตามมา
นอกจากนี้ ยังพบกิจกรรมที่โรงเรียนจัดพานักเรียนไปทัศนศึกษาช่วงปิดเทอม ซึ่งมักจะต้องประหยัดเวลาเดินทางทำให้มีความเสี่ยง เช่น เลือกใช้รถสองชั้นเพราะบรรทุกได้มาก นัดเดินทางกลางคืน (ประหยัดค่าที่พัก) และการมีคนขับเพียงคนเดียว ซึ่งมาตรการของ สพฐ. ได้กำหนดให้เขตพื้นที่การศึกษาและทุกโรงเรียนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังพบเห็นอยู่เป็นระยะๆ
กรณีล่าสุด วันที่ 22 มี.ค. 2561 โรงเรียนบ้านโนนใหญ่ อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชรได้จัดทัศนศึกษาเพื่อไปจังหวัดชลบุรี โดยใช้รถบัส 2 ชั้นและนัดนักเรียนเดินทาง 5 ทุ่ม โดยเกิดเหตุเวลาตี 4 คนขับหลับในตกข้างทางเป็นเหตุให้มีนักเรียนและครูบาดเจ็บ 39 ราย (https://www.thairath.co.th/content/1235264)
2. ช่วงปิดเทอม
เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม สถิติการเสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการปิดเทอมใหญ่ ระยะเวลาเกือบ 3 เดือน ที่เด็กว่างเว้นจากการเรียนหนังสือ หากเป็นเด็กที่มีกิจกรรมทำช่วงปิดเทอม เช่น เรียนพิเศษ เข้าค่าย หรือเข้าอบรมในโครงการต่างๆ ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับเด็กที่ต้องอยู่บ้านทุกวัน ในความรู้สึกของผู้ปกครองอาจคิดว่า บ้านเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากที่สุด แต่การที่เด็กอยู่บ้านทุกวัน ไม่มีกิจกรรมทำ จึงไม่แปลกที่เด็กจะออกไปรวมตัวกับเพื่อนๆ เพื่อนัดหมายกันไปเที่ยวเล่นฉลองปิดเทอมและยานพาหนะที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายย่อมหนีไม่พ้นรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยเสมอมา
โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ เด็กและเยาวชนจะนำรถจักรยานยนต์ออกมาขี่ (บางส่วนนั่งปิกอัพเล่นสงกรานต์)แต่ที่น่าห่วงจะพบว่า มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าสงกรานต์ปี 60 มีเด็กและเยาวชน บาดเจ็บและดื่มร่วมด้วยเข้ารับการรักษาถึง 1,703 ราย (โดยช่วงฉลองสงกรานต์ 13-15 เมย. จะพบเด็กบาดเจ็บและดื่มร่วมด้วย เฉลี่ย 388.6 คน/วัน หรือ ชั่วโมงละ 16 คน)
หากจะโทษว่าเป็นความคึกคะนองของเด็กคงไม่ถูกต้องนัก ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้หรือใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากนัก เราไม่มีห้องสมุดครอบคลุมทุกพื้นที่ มีหนังสือดีๆ ให้อ่าน มีพิพิธภัณฑ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ หรือมีพื้นที่ทางสังคมให้เด็กและชุมชนได้ร่วมทำกิจกรรม หากเด็กสักคนจะหากิจกรรมแก้เหงาและคลายเบื่อ การขี่รถจักรยานยนต์ออกไปเที่ยวเล่น จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและจ่ายในราคาถูกที่สุด
ผู้ปกครอง สถานศึกษาและท้องถิ่น-ชุมชน จะทำอะไรได้บ้าง
(1) สิ่งที่ผู้ปกครองจะทำเพื่อปกป้องชีวิตบุตรหลานได้คือ การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด สิ่งแรกที่ผู้ปกครองต้องทราบคือ รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กและเยาวชน ..
ย้ำเตือนผู้ปกครองว่า เด็กที่จะสามารถขี่รถจักรยานยนต์ได้ต้องมีอายุครบ 15 ปี มีใบขับขี่ชั่วคราวและสามารถขับขี่รถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 110 ซีซี แต่รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายและใช้กันในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีขนาดเริ่มต้นที่ 125 cc ซึ่งการขับขี่รถจักรยานยนต์ให้ปลอดภัย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้ ฝึกทักษะและประสบการณ์ในการขับขี่อย่างถูกวิธี จึงจะสามารถตัดสินใจได้ในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะรถซีซีสูงตั้งแต่ 150 ซีซีขึ้นไป ยิ่งต้องเพิ่มทักษะในการขับขี่มีการอบรมที่เพียงพอจึงจะสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย แต่ในความเป็นจริง มีไม่ถึง 10% ที่ผ่านการอบรมอย่างถูกวิธี ส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้กันเองจากผู้ปกครองหรือเพื่อนๆ ในขณะที่ความเสี่ยงบนท้องถนน ต้องการความพร้อมและทักษะในการตัดสินใจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หยุดกระทันหัน (สุนัขตัดหน้า จยย.ตัดหน้า ฯลฯ) ต้องรีบเร่งไปสอบ มีเพื่อนมานั่งซ้อนท้าย ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงที่พบเห็นอยู่ตลอดบนถนนและส่งผลต่ออุบัติเหตุกับเด็กและเยาวชนเป็นรายวัน
ดังนั้น ช่วงปิดเทอมผู้ปกครองจำเป็นต้องวางแผนกับบุตรหลานถึงการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยพิจารณาจากความสนใจของบุตรหลานว่าสนใจกิจกรรมด้านใด เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจในการขี่รถจักรยานยนต์ไปเที่ยวเล่นข้างนอก ผู้ปกครองเพิ่มบทบาทเข้ามาให้คำปรึกษากับบุตรหลานถึงประเด็นความสนใจหรือหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้และส่งเสริม เช่น ไปร่วมเข้าค่ายฝึกอบรมเรื่องต่างๆ ที่เด็กสนใจ
(2) ท้องถิ่น-ชุมชน ควรเข้ามามีบทบาทสร้างพื้นที่และกิจกรรมเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน โดยอาจจะจัดร่วมกับผู้ปกครองในชุมชน เช่น จัดค่ายเรียนรู้ในด้านต่างๆ
(3) สถานศึกษา หากเป็นโรงเรียนในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุกโรงเรียนจะมีระบบดูแลและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ซึ่งระบบดังกล่าวจะมีการเก็บข้อมูลการเดินทางของนักเรียนทุกคนว่า เดินทางด้วยพาหนะประเภทใด ระยะทางจากบ้านมาโรงเรียนมีระยะเท่าใด หากโรงเรียนนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์จะทำให้ทราบว่า นักเรียนคนใดมีความเสี่ยงจากการเดินทางบ้าง ทางโรงเรียนจึงควรมีบทบาทสร้างการเรียนรู้และเน้นย้ำนักเรียนตระหนักด้านความปลอดภัยในการใช้จักรยานยนต์ (ถ้าจำเป็นต้องใช้) ได้แก่ สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ไม่ขี่เร็ว ต้องมีใบขับขี่ ไม่ดัดแปลงสภาพรถ ทั้งนี้อาจจะมีการบ้านหรือกิจกรรมที่มอบหมายให้เด็กๆ ได้มานำเสนอในช่วงเปิดเทอม ว่าได้ทำกิจกรรมอะไรที่สร้างความปลอดภัยในการเดินทางของตนเองและครอบครัว เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ในอีกทางหนึ่ง
ท้ายที่สุดแล้ว เด็กทุกคนมีความฝัน มีความหวังที่จะเติบโตมาเป็นใครบางคนที่อาจจะมีพลังอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศ คงไม่มีเด็กคนไหนคาดคิดว่า การขี่รถจักรยานยนต์ไปโรงเรียน หรือ ไปเที่ยวเล่นจะเป็นจุดจบของชีวิต และ คงไม่คาดคิดว่าปิดเทอมนี้จะเป็นเทอมสุดท้ายของชีวิตที่จะไม่ได้กลับมาเจอเพื่อนๆ อีก หนทางเดียวที่จะหยุดปัญหานี้ได้คือ ความใส่ใจของผู้ปกครองและระบบจัดการความปลอดภัยของสถานศึกษา
1 http://www.thaipost.net/main/detail/4344
2 https://news.mthai.com/general-news/463133.html
3 http://www.tnews.co.th/contents/399106
4 https://www.thairath.co.th/content/1092600
5 http://www.tnews.co.th/contents/313310
6 ชลธิชา คำสอ และ ปัญณ์ จันทร์พาณิชย์, 2561, สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยปี 2559
7 http://www.thaipost.net/main/detail/4344
8 สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, ข้อมูลจากใบมรณบัตรและหนังสือรับรองการตายปี 2554-2557
9 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thaipost