หมอชนบทโวย สธ.ไฟเขียว รพ.เอกชนเก็บฉุกเฉินได้เกิน 1.05 หมื่นสูบกองทุนสุขภาพ
รพ.เอกชน ขออัตรา 1.05 หมื่นบาทเฉพาะฉุกเฉินไม่ร้ายแรง ส่วนโรคร้ายแรงขอเพิ่ม ปลัด สธ.ให้เก็บเพิ่มได้หากส่งต่อต้นสังกัดไม่ทัน 24 ชม. หมอชนบทออกโรงโวยเปิดทางสูบกองทุนสุขภาพ
วันที่ 25 เม.ย.55 มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(บอร์ด สพฉ.) ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนเรียกร้องปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินตามกลุ่มโรคร้ายแรงในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวที่เริ่มตั้งแต่ 1.05 หมื่นบาท และให้ส่งต่อผู้ป่วยกลับโรงพยาบาลต้นสังกัดเมื่อพ้นภาวะวิกฤติ
โดย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้แนวทางว่ากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินทั่วไปยังคงให้ยึดอัตราการจ่ายที่ 1.05 หมื่นบาทต่อไป และเมื่อผู้ป่วยพ้นวิกฤตชีวิตจะพยายามหาระบบส่งต่อกลับไปโรงพยาบาลต้นสังกัดภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้ใน 24 ชั่วโมง จะให้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลได้ตามต้นทุนการรักษาที่แท้จริงจาก 3 กองทุนสุขภาพ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกลูเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้โรงพยาบาลเอกชนแสวงหากำไรอย่างเต็มที่ โดยเป็นไปได้ที่จะมีการยื้อคนไข้เพื่อให้การรักษาเกินความจำเป็น ซึ่งจะกระทบต่อภาระงบประมาณที่จะบานปลาย
“ชมรมไม่เห็นด้วยที่ สธ.และโรงพยาบาลเอกชนจะมาต่อรองผลประโยชน์กัน ต้นทุนการรักษาจริงๆก็ไม่เกิน 9,000- 1 หมื่นบาทดังนั้นการจ่ายที่ 1.05 หมื่นบาทถือว่าเพียงพอ”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบประกันสังคม เปิดเผยว่า อัตราการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มโรคร้ายแรงกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวซึ่งเริ่มที่ 1.05 หมื่นบาท อาจไม่เพียงพอสำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือระดับพรีเมี่ยม เพราะการรักษาผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินต้องใช้งบประมาณมากกว่าการรักษาปกติ โดยเฉพาะการเปิดบริการ 24 ชั่วโมง หากมีผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็ต้องตามมาทันทีแม้ว่าจะออกเวรแล้วก็ตาม
แต่อัตราการจ่ายเงิน 1.05 หมื่นบาทให้ค่าแพทย์น้อยมาก ในโรคเดียวกันจากเดิมที่แพทย์สามารถเบิกได้ 2 หมื่นบาทอาจเหลือเพียง 2,000 บาทเท่านั้น ถามว่าแพทย์คนไหนจะมารักษา ดังนั้นจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับแพทย์ด้วย
นพ.กำพล กล่าวอีกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกของชมรมฯ เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการคือโรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยม จึงเสนอให้ปรับระบบการจ่ายเงินเป็นลักษณะขั้นบันไดตามโรค เช่น หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่ร้ายแรงให้จ่าย 1.05 หมื่นบาท หากเป็นโรคที่รุนแรงขึ้น อาทิ ผ่าตัดสมองก็ให้สูงกว่า 1.05 หมื่นบาท อย่างไรก็ตามยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าโครงการฯ มีข้อบกพร่องอย่างไร จำเป็นต้องให้ระบบเดินไปข้างหน้าอีกสักระยะ ขณะนี้ชมรมฯ อยู่ระหว่างเก็บข้อมูล .