ใช้เวลากว่า 2 ชม.พิจารณา อ.ก.พ. สป.ศธ.มติเอกฉันท์ไล่ขรก.โกงกองทุนเสมาฯ
คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงประชุมพิจารณา ก่อนลงมติเอกฉันท์ ไล่ขรก.โกงกองทุนเสมาฯ ส่วนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ระบุ จะมีคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหาข้อมูลต่อไป
วันที่ 26 มีนาคม นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ( อ.ก.พ. สป.ศธ.) เพื่อพิจารณาโทษวินัยอย่างร้ายแรง กรณีนางรจนา สินที วัย 59 ปี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัด ศธ. หลังถูกกล่าวหาทุจริตเงินงบประมาณในโครงการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ช่วงเวลา 10 ปี (ปี 2551-2561) จำนวนกว่า 118 ล้านบาท ว่า ผลสรุปของอ.ก.พ. สป.ศธ. มีมติเอกฉันท์ไล่ นางรจนา ออกจากราชการ ฐานทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในการพิจารณา
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงผลการสอบสวนข้าราชการรายดังกล่าวได้รับสารภาพข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนางรจนา สินที เป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และฐานรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ฐานกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) มาตรา 83 (1) ประกอบมาตรา 85 (1) (4) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
"เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ว 234 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536 จึงมีมติให้ลงโทษไล่นางรจนา สินที ออกจากราชการ มีผลทันที" นายการุณ กล่าว และว่า เมื่อนางรจนารับสารภาพ จึงลงโทษวินัยร้ายแรงไปก่อนเบื้องต้น ส่วนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ จะมีคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหาข้อมูลต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกัน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.พร้อมมีบทลงโทษทางวินัยกรณีเกิดการกระทำผิด เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้นอีก สิ่งสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบต่าง ๆ ก็คือ “การข่าว” ที่จะขอให้หลาย ๆ ฝ่ายช่วยกันแจ้งเข้ามา เช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีให้ประชาชนช่วยแจ้งข่าวมายังส่วนกลาง เพราะประเทศเราจะโปร่งใสได้ทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่งานของกระทรวงที่จะปราบได้หมดจดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีขั้นตอนการปรามและการนำเหตุการณ์ต่าง ๆ มาเป็นบทเรียนด้วย
ที่มา:http://www.moe.go.th