เถียงมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ ส.คลองไทย เผยผลสำรวจ 65% ปชช.หนุนรัฐตั้งทีมศึกษาคลองกระจริงจัง
เถียงมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ สมาคมคลองไทย เผยผลสำรวจ 65% ปปช.หนุนรัฐตั้งทีมศึกษาวิจัยโครงการคลองกระให้จริงจัง ชี้เส้นทาง 9A เริ่มจากจ.ตรัง ออกที่อ.ระโนด จ.สงขลา ระยะทางบก 135 กม. ดีสุด ผลการศึกษาม.ปักกิ่ง คาดใช้งบฯ 2 ล้านล้านบาท ระบุคลองไทยจะกลายเป็นต้นทางเดินเรือแทนที่สิงคโปร์ ลดต้นทุนการขนส่งได้ ลดระยะเวลาการเดินเรือได้อย่างมาก
วันที่ 24 มีนาคม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหารือและแลกเปลี่ยนใน เรื่อง “คลองไทย....ใครได้ ใครเสีย” เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปในประเด็นผลการศึกษาเรื่องคลองไทย ณ ห้องประชุม 1-301 ชั้น 3 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต
พลเอกพงศเทพ เทศประทีป นายกสมาคมคลองไทย กล่าวว่า ประเทศไทยรอคอยมาเกือบ 300 ปี ขุดคลองกระ หรือคลองไทย ประเทศต่างมาศึกษาผลดีผลเสียมากมาย ที่เห็นตรงกัน คือ คลองไทยเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมที่สุดเชื่อมทะเลสองฝั่ง เป็นการเดินเรือที่สั้นที่สุด จากมหาสมุทรอินเดีย ออกแปซิฟิก ในยุคก่อนมองเห็นคุณประโยชน์ตรงนี้ ฉะนั้นคนยุคนี้ควรสานต่อ
"คลองไทยหากเกิดขึ้นมาขอให้มองในแง่ดีเอาไว้ก่อน น่าจะได้ประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางบก เรือ อากาศ จำเป็นต้องศึกษาให้ลึกซึ้งและจริงจัง"
พลเอกพงศเทพ กล่าวอีกว่า โครงการคลองกระ หรือคลองไทย ขุดแล้วแบ่งประเทศหรือไม่ ขุดแล้วไทยได้อะไร คุ้มค่า กระทบสิ่งแวดล้อม หรือแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เป็นคำถามที่มักได้ยินบ่อยๆ จึงต้องนำคำถามเหล่านี้มาศึกษา โดยเฉพาะฝากความหวังให้รัฐบาลศึกษาเรื่องนี้ในเชิงลึกอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ สมาคมคลองไทย ได้มีการนำเสนอเส้นทางขุดคลองไทย 3 เส้นทาง คือ 2A 9A และ 7A โดยเส้นทาง 9A เริ่มจากจังหวัดตรัง ออกที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ระยะทางบก 135 กิโลเมตรดีที่สุด ผลการศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่ง คาดว่า ใช้งบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งคลองไทยจะกลายเป็นต้นทางเดินเรือแทนที่สิงคโปร์ ลดต้นทุนการขนส่งได้ ลดระยะเวลาการเดินเรือได้อย่างมาก ขณะเดียวกันคาดว่ามีผลกระทบวิถีชีวิตของผู้คน
สำหรับข้อดี-ข้อเสีย สมาคมคลองไทย ระบุว่า ได้ลงสำรวจข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น 2 ปี 65% ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนอยากให้รัฐบาลตั้งทีมขึ้นมาศึกษาโครงการคลองไทย กับความเป็นไปได้มาก มีความคุ้มค่าน้อยแค่ไหน ซึ่งสถานะโครงการคลองไทยวันนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาขั้นต้นเท่านั้น
ไทยเป็นชาติที่มีมหาสมุทร 2 สมุทรแต่ไม่ใช้
ด้านศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงภูมิศาสตร์ประเทศไทยที่ติดทะเล 2 ทะเล ติดมหาสมุทร 2 มหาสมุทร เราติดอินเดียและติดจีน คนโบราณคิดว่าทะเลคือถนนใหญ่ มนุษย์โบราณใช้เรือเดินทางทั้งสิ้น การที่ไทยติดจีนทำให้ไทยไม่ค้าไม่ขายไม่ได้ อาศัยการทำนาอย่างเดียว แลกเปลี่ยนสินค้าในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องรับอารยธรรมความรู้ จากจีนและอินเดีย ถามว่า วันนี้ คนในปัจจุบันเห็นความสำคัญมหาสมุทรขนาดไหน ในอดีตประเทศไทยความมั่งคั่งไม่ได้อยู่ที่นาอย่างเดียว แต่ได้จากการคุมการค้าทางทะเล คุมตั้งแต่ทวาย ใกล้กาญจนบุรี รัฐสยามจะคุม 2 ฝั่ง
"คาบสมุทรภาคใต้ของไทย เป็นแผ่นดินก็จริง แต่คือเส้นทางเดินทะเล มนุษย์โบราณเดินเป็นสิบๆ จุด เดินข้ามคาบสมุทร ฉะนั้น คนไทยลืมเช่นเห็นชาติในอดีตของตัวเอง ปัจจุบันพอคิดทำอะไรก็กลัว เราเป็นชาติที่มีมหาสมุทร 2 สมุทรแต่ไม่ใช้มัน" ศ.ดร. เอนก กล่าว และว่า เราโตขึ้นมาได้เพราะเราติดทะเล ทำให้เราต่อเชื่อมกับคนอื่น ฉะนัน โครงการทำคลอง ต้องทำคลองที่หลายๆ ชาติมาร่วมกัน หากตกลงกับชาติใดชาติหนึ่งถือเป็นความโง่ทางยุทธศาสตร์ เชื่อว่า อนาคตไม่มีทางการเดินเรือทางทะเลจะน้อยลง
ขณะที่ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวแสดงความเป็นห่วง หากไทยลงทุนขุดคลองไทยไปแล้ว จะมีเรือขนส่งสินค้ามาใช้บริการมากแค่ไหน ดึงเรือสินค้าจากช่องแคบมะละกามาใช้บริการคลองไทยได้อย่างไร ดูเรื่องระยะเวลาการเดินเรือ รวมถึงนโยบายส่งเสริมการใช้คลองไทย ส่วนรูปแบบการลงทุนกับประเทศที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ หรือขอความช่วยเหลือจากกองทุนสายไหม (Silk Road Fund) และ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB)
พลเรือเอกจุมพล อนุกานนท์ ตัวแทนฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงโครงการคลองไทย แม้จะมีประโยชน์ แต่ก็อย่าลืมมองเรื่องความมั่นคงต้องมองให้ครบมิติด้วย โดยเฉพาะบทเรียนในอดีตมีเรื่องประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐฯ จีน และอินเดีย และหากข้อมูลยังไม่ครบ การตัดสินใจโครงการคลองไทยลำบากมาก
"จากการตรวจร่องน้ำ ถามว่า เราต้องขุดมากมายมหาศาลแค่ไหน และดูแลร่องน้ำนี้อย่างไรในอนาคต"
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่อันดับ 3 ของโลก ทำเงินได้กว่า 3 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 กว่าล้านคนท่องเที่ยวไปยังจังหวัด ภูเก็ต กระบี่ พังงา ฉะนั้น ด้านหนึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ กำลังมีการก่อสร้างสนามบินหลายที่ แต่โครงการนี้ มีความเสี่ยงต่อเนื่องไปยังการท่องเที่ยวหลายพื้นที่
"เรือบรรทุกสินค้า เรือน้ำมัน กำลังวิ่งกำลังผ่านพื้นที่ที่ทำรายได้ท่องเที่ยว เราจะบริหารความเสี่ยงอย่างไร "