DSI เรียก 'กลุ่มธรรมาฯ' สอบมัดปม BusGate-เครื่องตรวจระเบิดแล้ว! ทอท.ขอเวลาหาเอกสารเพิ่ม30วัน
'วิวัฒน์ สมบัติหลาย' ปธ.กลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายประชาชนต้านทุจริตฯ เผยถูก 'ดีเอสไอ' เรียกตัวเข้าให้ถ้อยคำสอบมัดปม จ้างBusGate ภูเก็ต-ซื้อเครื่องตรวจระเบิด3.7พันล.แล้ว -ปูด ทอท. ขอเวลาหาเอกสารหลักฐานเพิ่ม30 วัน ข้องใจเป็นหน่วยงานใหญ่ ทำไมมีปัญหาระบบจัดเก็บข้อมูล
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อขอความร่วมมือให้จัดส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารที่พักคอยผู้โดยสารเครื่องบินรอขึ้นรถบัสรับ-ส่ง (Bus Gate) สนามบินภูเก็ต และโครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและระบบตรวจจับวัตถุระเบิด โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 3,798,716,176.38 บาท มาให้ตรวจสอบ ภายหลังปรากฎข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ ในช่วงที่ผ่านมา นั้น (อ่านประกอบ : ทอท.งานเข้า! ดีเอสไอลุยสอบ 2 โครงการรวด จ้างBusGate ภูเก็ต-ซื้อเครื่องตรวจระเบิด3.7พันล.)
ล่าสุด นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2561 ที่ผ่านมา ดีเอสไอ ได้ออกหมายเรียกตนเข้าไปให้ถ้อยคำเพื่อนำไปใช้ประกอบการตรวจสอบข้อมูล 2 โครงการดังกล่าวแล้ว เนื่องจากปรากฎชื่อเป็นผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อดีเอสไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบปัญหาความไม่ชอบมาพากลในขั้นตอนการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในระหว่างการให้ถ้อยคำ ตนได้สอบถามความคืบหน้าการสอบสวนทั้ง 2 โครงการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ แจ้งว่า กำลังประสบปัญหาความล่าช้าในการรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากล่าสุด ทอท. ได้ทำหนังสือแจ้งขอเลื่อนการส่งเอกสารประกอบให้ดีเอสไอตรวจสอบออกไปอีก 30 วัน ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก เพราะทอท.เป็นหน่วยงานใหญ่ ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการรวบรวมเอกสารหลักฐานการดำเนินงานโครงการต่างๆ แบบนี้
ส่วนการให้ถ้อยคำกับดีเอสไอนั้น นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ได้ยืนยันข้อมูลที่ตรวจสอบพบ รวมถึงส่งมอบเอกสารหลักฐานที่เคยนำไปยื่นเรื่องให้ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตรวจสอบก่อนหน้านี้ โดยโครงการก่อสร้างอาคารที่พักคอยผู้โดยสารเครื่องบินรอขึ้นรถบัสรับ-ส่ง (Bus Gate) สนามบินภูเก็ต มีข้อสังเกตสำคัญอยู่ที่การว่าจ้างเอกชนเข้ามาทำงานโดยไม่ผ่านการประกวดราคาและไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร อาจเข้าข่ายการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2542 หลักฐานที่ปรากฎชัดเจนคือ ข้อมูลในบันทึกการประชุมวาระลับของทอท. (อ่านประกอบ : โชว์หลักฐานประชุมวาระลับทอท.!กลุ่มธรรมาภิบาลร้องสอบปมสร้างสนามบินภูเก็ตไร้ประกวดราคาจ้าง)
ส่วนโครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและระบบตรวจจับวัตถุระเบิด โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 3,798,716,176.38 บาท นั้น มีประเด็นเกี่ยวกับการถูกตั้งข้อสังเกตในประเด็นเรื่องการเสนอราคาประมูลงานของเอกชนรายหนึ่ง ที่เสนอราคางานสูงกว่าราคากลางจำนวน 300 ล้านบาท ทำให้ถูกมองว่าขัดวิสัยของผู้เสนอราคาทั่วไป ที่โดยปกติการเสนองานหากต้องการจะชนะการประมูลงาน จะต้องเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเท่านั้น ถึงจะมีโอกาสเป็นผู้ชนะ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า ถ้าดีเอสไอ มีการเชิญตัวแทนผู้มีอำนาจบริษัทเอกชนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม จะช่วยทำให้เห็นภาพข้อมูลการดำเนินงานโครงการนี้ชัดเจนมากขึ้น