ข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับสื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กในช่วงอายุ 6 - 12 ปี
เด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัยเรียนอายุ 6 – 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กฝึกฝนพัฒนาความสามารถในด้านต่าง ๆ แต่ปัจจุบันด้วยสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง กระบวนการเรียนรู้ของเด็กเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต สื่อกลายเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งใหม่ที่สามารถกระตุ้นการรับรู้และดึงดูดความสนใจจากเด็กและเยาวชนได้อย่างมาก
การเสพข้อมูลข่าวสารจากสื่อโดยขาดการคิด วิเคราะห์ และความรู้เท่าทันสื่อทำให้เด็กในวัยนี้ ซึมซับแบบแผนการใช้ชีวิต พฤติกรรม ค่านิยม วัฒนธรรมต่างชาติ กระแสการบริโภคนิยม ส่งผลต่อทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ดังนั้น จึงนำมาสู่การศึกษาเพื่อหาข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับสื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กในช่วงอายุ 6 - 12 ปี
โดยการศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของสื่อสารมวลชนที่มีต่อเด็ก ในช่วงอายุ 6-12 ปี และเพื่อหาข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จากการศึกษาอิทธิพลของสื่อสารมวลชนที่มีต่อเด็ก ในช่วงอายุ 6-12 ปี โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth-Interview) จิตแพทย์ เครือข่ายผู้ปกครอง เด็ก กลุ่มผู้ประกอบการ ถึงอิทธิพลของสื่อสารมวลชนที่มีต่อเด็ก จำนวนกลุ่มละ 3 คน (เพื่อตรวจสอบข้อมูลสามเส้า: Triangulation) รวม 12 คน
จากการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็ก อายุ 6 – 12 มีพฤติกรรมการรับชมรายการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต ยูทูปผ่านอุปกรณ์ ไลน์ทีวีผ่านมือถือสมาร์ทโฟน เพราะสามารถดูตอนไหน เวลาไหนก็ได้ และสามารถเลือกตอนที่อยากดูได้ ข้ามบางช่วงที่น่าเบื่อได้ รายการที่เลือกดู หรือดูด้วยตนเองส่วนใหญ่เป็น การ์ตูน ซีรี่ย์ตลก ดูเพื่อสร้างความบันเทิงเพลิดเพลิน ส่วนกลุ่มผู้ปกครองยังมีความพยายามที่จะไม่ให้ลูกของตนเองรับชมรายการเพียงลำพัง เพื่อให้สามารถคัดกรองเนื้อหา และให้คำตักเตือนจากเนื้อหาที่เห็นว่าไม่เหมาะสมได้ทันที การสอบถามถึงสื่อต่าง ๆ ที่ลูกของตนเองได้รับชม เป็นวิธีการที่กลุ่มผู้ปกครองใช้ในการแก้ปัญหาในกรณีที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาที่รับชมรายการต่างๆพร้อมกับลูก โดยจะมีการสอบถามถึงรายการที่ลูกได้รับชม หรือมีการเข้ามาตรวจตรารายการที่ลูกได้รับชมเป็นระยะ และยังมีการตั้งกฎกติกาให้มีการขออนุญาตเมื่อต้องการรับชมรายการต่างๆ หากผู้ปกครองเห็นว่ารายการดังกล่าวไม่เหมาะสมก็จะมีการกล่าวตักเตือน หรือไม่อนุญาตให้ลูกดูรายการเหล่านั้น
กลุ่มจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวถึง ผลกระทบของสื่อที่มีต่อเด็ก 6 – 12 ปี ระดับความเข้มของผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่น ว่า พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยนี้ คือ การมีความคิดละเอียดอ่อนมากขึ้น สามารถเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ของตนได้ เรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ได้เหมาะสมในรูปแบบที่สังคมยอมรับได้ เด็กวัยนี้สามารถควบคุมและระงับความโกรธได้ดีขึ้น ไม่มีลักษณะของการโกรธง่ายและหายเร็ว พัฒนาการการแสดงออกจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่แสดงออกด้วยการร้องไห้ดิ้นกับพื้นเสียงดัง ทิ้งตัวลงนอนเมื่ออยากได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ จะเปลี่ยนเป็นการคิดแก้แค้นในใจแต่ไม่ทำจริงดังที่คิด หรือการหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่ไม่พึงพอใจในทันที ไม่มีพฤติกรรมแบบต่อสู้โดยใช้กำลัง
ด้านความรักเด็กวัยนี้แสดงออกด้วยการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ร่าเริงแจ่มใส อารมณ์ดี จะระมัดระวังไม่ทำให้ผู้อื่นเสียใจหรือกระทบกระเทือนใจ โดยเฉพาะขณะอยู่ในกลุ่มเพื่อน หรือในสังคม เขาต้องการความรัก ความอบอุ่นมั่นคงในครอบครัวและหมู่คณะ นอกจากนี้เด็กจะเลิกกลัวสิ่งที่ไม่มีตัวตน พิสูจน์ไม่ได้ อารมณ์กลัวของเด็กวัยนี้เกิดจากประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ได้รับมา สิ่งที่เด็กวัยนี้กลัวมากที่สุดคือ กลัวการไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม กลัวไม่มีเพื่อน ไม่ชอบการแข่งขัน ไม่ต้องการเด่นหรือด้อยกว่ากลุ่ม ชอบการยกย่องแต่ไม่ชอบการเปรียบเทียบ นอกจากนี้เด็กยังกลัวอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตนและบุคคลที่รัก การตอบสนองความกลัวจะเป็นลักษณะการต่อสู้ การถอยหนี และการทำตัวให้เข้ากับสิ่งนั้น ๆ ความกลัวของเด็กจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย เด็กจะเปลี่ยนจากความกลัวเป็นความกังวลเรื่องรูปร่างของตนเองแทน คือ กังวลจากความต้องการให้ตนมีรูปร่างที่แข็งแรงในเด็กชาย หรือมีรูปร่างหน้าตาสวยงามในเด็กหญิง
อย่างไรก็ตาม เด็กวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเร็ว บางครั้งทำตัวเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งทำตัวเป็นเด็ก ความขัดแย้งทางอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้เสมอ พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยนี้จึงขึ้นอยู่กับลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความรู้สึกมั่นคงของเด็กต่อไป
ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการ เห็นว่า รูปแบบของสื่อเด็กนั้น สามารถมีหรือเป็นได้หลากหลายรูปแบบ แบบไหนก็ได้ที่วิธีการนำเสนอเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ส่วนเนื้อหาของสื่อเด็กนั้น ต้องเป็นเนื้อหาที่เหมาะสมตามช่วงวัย เป็นสาระใกล้ตัวในการใช้ชีวิต ปลูกฝังให้เด็กเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น แต่สถานการณ์การผลิตสื่อในปัจจุบัน มีการแข่งขันของธุรกิจสื่อค่อนข้างสูงทำให้ผู้ผลิตรายการ หรือผู้ผลิตเนื้อหามุ่งเน้นการสร้างรายการที่ตอบสนองจำนวนผู้บริโภคให้มากที่สุดเพื่อผลประโยชน์ทางกำไรของต้นสังกัด ไม่ว่าจะเป็นช่องทางสื่อเก่า หรือสื่อใหม่ ส่งผลให้การผลิตรายการที่มีเนื้อหาในการสร้างความรู้ หรือสร้างประโยชน์ให้แก่เยาวชนลดน้อยลง
สุดท้ายแล้ว ผลจากการศึกษานำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้
ผู้ปกครอง
1. ควรตั้งกติกาก่อนอนุญาตให้เด็กรับสื่อ
2. ควรกำหนดและดูแลระยะเวลาที่ใช้ของเด็ก
3. ควรร่วมกิจกรรมไปด้วยกันพร้อมการเรียนรู้และแนะนำไปด้วยกัน
ผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็ก และเยาวชน
1. ควรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรนิติบุคคล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตฯ โดยเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ความรู้ เกี่ยวกับการผลิตสื่อสร้างสรรค์
2. สร้างพลังต่อรองทางสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการขยายพื้นที่สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก และเยาวชน ให้มากยิ่งขึ้น
3. ควรนำข้อมูลด้านพัฒนาการเด็ก และเยาวชน ไปปรับใช้อย่างเข้มข้น
4. ควรสร้างกลไกในการกำกับดูแลกันเองด้วยจริยธรรมสื่อร่วมกัน
5. ควรร่วมกันเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการผลิตสื่อสำหรับเด็ก และเยาวชน ในทุกมิติ ให้แก่สมาชิกเพื่อให้ผลงานได้รับการยอมรับ และมีคุณภาพเพียงพอในการส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย
6. ส่งเสริมบทบาทและความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกในครอบครัวด้วย
7. ควรส่งเสริมความอัจฉริยภาพทางดิจิทัล (DQ) ให้กับเด็ก และเยาวชน
ภาครัฐ และต่อองค์กรกำกับดูแล
1. ต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญ คุณประโยชน์ และผลกระทบที่กว้างขวางและลึกซึ้ง ของสื่อสำหรับเด็ก และเยาวชน
2. ควรกำหนดมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชน ที่กว้างขวางและทั่วถึง
3. ควรกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้สังคมหันมาสนับสนุนเพื่อสร้างพื้นที่สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชน
4. ควรสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ในการผลิตสื่อสำหรับเด็ก และเยาวชน ให้แก่ผู้สนใจทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น
กล่าวโดยสรุป จากการศึกษาในครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้ผู้ปกครองผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็ก และเยาวชน ภาครัฐ และต่อองค์กรกำกับดูแล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้กับการผลิตสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน ในอนาคตต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://teerarat2532.wordpress.com/2012/06/18/youtube/