องค์กรประชากรข้ามชาติ ขอรัฐขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว หลังพบตกค้างอีก9 แสนราย
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เรียกร้องรัฐบาล ทบทวนขยายเวลาจัดการแรงงานต่างด้าว เดิมขีดเส้นตาย 31 มี.ค.นี้ หลังพบยังตกค้างอีกราว9 แสนคน แนะปรับลดขั้นตอน เอกสาร แยกกลุ่มที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติเพื่อความรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.61 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้แถลงข้อเรียกร้องในประเด็นการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลคสช. โดยระบุว่า นับแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนาสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทุกคนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเริ่มให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อถือเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราว มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีแรงงานที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งกลุ่มที่ต้องขยายระยะเวลาการทำงานและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ประมาณ 1.9 ล้านคน
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม2561 เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย กำหนด
1. อนุมัติการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว (สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา) ทำงานในประเทศไทยตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ใน 3 กรณี ดังนี้
1.1 กรณีที่ 1 : แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เพื่อพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจะตรวจลงตรา (Visa) ประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562
1.2 กรณีที่ 2 : แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู)ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 และกรณีที่ 3 : แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ได้ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หน.คสช.) ที่ 33/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง – ลูกจ้าง โดยแยกการผ่อนผัน เป็น 2 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มที่ผ่านการตรวจพิสูจน์สัญชาติแล้วผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานโดยตรวจลงตรา (Visa) ประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทำงาน ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563
2) กลุ่มที่ยังไม่ได้ตรวจพิสูจน์สัญชาติผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เพื่อพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจะตรวจลงตรา (Visa) ประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563
ทางเครือข่ายฯ ระบุว่าปัจจุบัน คาดว่ายังมีแรงงานทั้งสามกลุ่มที่ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามนโยบายของรัฐบาลอีกประมาณ 9 แสนคน และรัฐบาลมีเพียงมาตรการเดียวคือ การเปิดให้บริการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ของรัฐบางแห่ง เป็น 24 ชั่วโมงหากพิจารณาจากระยะเวลาที่เหลือขณะนี้ ทางเครือข่ายเห็นว่า
1. รัฐบาลควรทบทวนมาตรการการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เหลืออยู่ โดยการพิจารณาขยายระยะเวลาในการดำเนินการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จของรัฐและศูนย์พิสูจน์สัญชาติออกไป ไม่น้อยกว่า 3 เดือนโดยเฉพาะในศูนย์ฯที่ยังคงมีตัวเลขของแรงงานรอการดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก
2. ปรับลดขั้นตอนด้านการดำเนินการ เอกสารต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ควรมีการแยกการจัดการจากกลุ่มที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้กระบวนการดำเนินงานของรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น
3. จัดให้มีอาสาสมัครของแต่ละศูนย์บริการ เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการให้บริการด้านการเตรียมเอกสารของแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง เพื่อทำให้กระบวนการดำเนินการของรัฐและศูนย์พิสูจน์สัญชาติมีความรวดเร็วขึ้น และเพื่อแก้ปัญหาการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากกลุ่มนายหน้า
4. มาตรการรองรับหรือคุ้มครองชั่วคราวของรัฐกรณีที่แรงงานบางส่วนไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นคนชาติของประเทศต้นทาง เช่น แรงงานมุสลิมที่อ้างว่ามาจากประเทศเมียนมา
5.เร่งประสานกับรัฐบาลประเทศต้นทาง โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา และลาว เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ได้ทันตามนโยบายที่รัฐกำหนดไว้
6. ขอให้รัฐเปิดนโยบายให้มีการจดทะเบียนผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มที่ออกตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 16 มกราคม 2561
7. เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อรองรับกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ หลังจากที่มีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561 ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
ต่อมาเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงานเปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นสุดการดำเนินการกระทรวงแรงงานได้ปรับแผนการทำงานให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมการรองรับการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพิ่มประสิทธิภาพและแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด
ดังนี้ 1. ลดขั้นตอนโดยแบ่งต่างด้าวออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 พิสูจน์สัญชาติแล้ว ให้มารายงานตัว ตรวจลงตราวีซ่าอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 31 มี.ค. 2563 และขออนุญาตทำงาน โดยออกใบรับอนุญาตทำงานชั่วคราวถึง 30 มิ.ย. 2561 และให้ไปตรวจสุขภาพ ทำทะเบียนประวัติทำงานให้แล้วเสร็จเพื่อทำงานได้ถึง 31 มี.ค. 2563 กลุ่มที่ 2 ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ ให้มาดำเนินการที่ศูนย์ OSS ทุกขั้นตอนภายใน 31 มี.ค. 2561 เพื่อให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึง 31 มี.ค. 2563 ตามขั้นตอน
2. เพิ่มเวลา โดยเพิ่มเวลาการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการจัดชุดปฏิบัติการปฏิบัติงานเป็น 3 ผลัด ในศูนย์ OSS ของจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการตามเวลาปกติได้ทันภายในวันที่ 31 มี.ค. 2561 เช่น จ.เชียงราย ราชบุรี ระนอง เป็นต้น
สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งมี 4 ศูนย์ฯ จะเปิดตลอด 24 ชั่วโมงที่ศูนย์ฯ กระทรวงแรงงาน บริเวณชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน ส่วนอีก 3 ศูนย์ฯ คือที่เพชรเกษม 65 ไอที สแควร์ และห้างสรรพสินค้า ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี จะให้บริการตั้งแต่ 08.00-22.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 - 31 มี.ค.2561
3. เพิ่มช่องทาง โดยอธิบดีกรมการจัดหางานออกประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง “กำหนดสถานที่และวิธีการในการยื่นคำขอรายงานตัวเพื่อจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา” ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2561 โดยประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2561 ถึง 31 มี.ค.2561