นพ.ธนพงษ์ ชี้บัสสองชั้น ปรับมาตรฐาน พบสถิติเสี่ยงอุบัติเหตุกว่ารถชั้นเดียว 6 เท่า
นพ.ธนพงษ์ มองกรณีบัสสองชั้นแหกโค้งวังน้ำเขียว เหตุรถปรับมาตรฐาน เสี่ยงกว่ารถชั้นเดียว6 เท่า ย้อนสถิติปี 60 พบเกิดเหตุ 63ครั้ง ชี้คนไทยยังนิยมเช่า เพราะราคาถูก เสนอแนวทาง 3 มาตรการแก้ปัญหา แนะควรรื้อโครงสร้างประกอบการทั้งระบบ
สืบเนื่องจากโศกนาฎกรรมอุบัติเหตุรถทัวร์ท่องเที่ยวจากกาฬสินธุ์กำลังเดินทางกลับจากการไปเที่ยวทะเลที่จันทบุรี เกิดเสียหลักพลิกคว่ำที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 18 ราย บาดเจ็บ 22 ราย สาเหตุมาจากคนขับเสพยาเสพติดและระบบเบรกของรถมีปัญหา
นพ.ธนพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปภ.) ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงประเด็นนี้ว่า จากกฎหมายเดิมได้กำหนดความสูงของรถโดยสารสองชั้นอยู่ที่ 4.20 เมตร แต่กฎหมายใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้ในปี 2560 ได้ลดความสูงเหลือเพียง 4.00 เมตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ได้มีการกำหนดให้รถที่มีความสูงเกิน 3.6 เมตร จะต้องผ่านการตรวจสอบพื้นเอียงกับกรมการขนส่งทางบกซึ่งตรวจได้เฉพาะรถรุ่นใหม่ แต่ถ้าเป็นรถรุ่นเก่าจะใช้ระบบ GPS อย่างเดียวเท่านั้นในการคอยกำกับ
นพ.ธนพงษ์ กล่าวถึงจุดอ่อนที่สำคัญเวลาใช้ระบบ GPS กำกับ พบว่ายังไม่สามารถกำกับและแจ้งเหตุการณ์ในแบบ Real Time ได้ GPS ยังไม่ถูกเชื่อมกับความเสี่ยงถนน เช่น ถ้านั่งควบคุมอยู่ที่ห้องควบคุม เห็นว่ารถคันนี้วิ่ง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ค่าของ GPS จะถูกตั้งไว้ที่ประมาณ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะฉะนั้นรถคันนี้ก็จะไม่ถูกแจ้งเตือน ทั้งๆ ที่คนขับกำลังขับรถลงเขา ประเด็นคือว่าระบบ GPS ต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ กายภาพ และภูมิศาสตร์ของพื้นที่ นี่เป็นช่องว่างของผู้ประกอบการที่มีรถรุ่นเก่า
“GPS ต้องถูกปรับปรุงอย่างน้อย 3 ส่วน อย่างแรกคือทำให้ระบบสัมพันธ์กับกายภาพของพื้นที่กับความเสี่ยงของถนนที่กำหนดไว้ สองคือต้องมีการแจ้งเตือนแบบ real time สามคือต้องมีระบบไปกำกับเขาได้” นพ.ธนพงษ์ กล่าว และว่า ทุกวันนี้มีการแจ้งเตือนไปยังเถ้าแก่เจ้าของรถ ถามว่าเถ้าแก่จะไปสื่อสารอย่างไรกับคนขับ ระบบ Alert เราต้องการให้แจ้งเตือนโดยตรงกับคนขับโดยที่ไม่ทำให้คนขับเสียสมรรถนะในการขับรถ ทำอย่างไรให้มีไฟมีสัญญาณเสียงเตือนว่าคุณกำลังขับเร็ว เหมือนเวลาเราเปิด Google Maps ที่มีการแจ้งเตือนว่าคุณขับเร็ว
(ขอบคุณภาพประกอบจาก - พิเชษฐ์ ประสพเนตร http://www.springnews.co.th/)
นพ.ธนพงษ์ กล่าวว่า เมื่อย้อนไปที่กรณีอุบัติเหตุที่อำเภอวังน้ำเขียว สาเหตุจริงๆ ที่ทำให้เกิดเหตุมาจากการที่คนขับใช้ความเร็วไม่สัมพันธ์กับความเร็วของถนนที่ถูกออกแบบ ถนนที่มีความเสี่ยงสำหรับรถใหญ่หรือมีความชันเกิน 7% และมีการลงเขาต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นรถคันนี้เจอสถานการณ์ที่ต้องลดความเร็ว ต้องทำความเข้าใจว่า รถใหญ่รุ่นเก่าๆ จะใช้เบรกลม ต่างจากรุ่นใหม่ที่ใช้ระบบ ABS หรือ Retarder ในการหน่วงล้อ ซึ่งประสิทธิภาพของเบรกลมมีสูงแต่ว่าต้องมีแรงดันของลมที่สม่ำเสมอ ถ้าขับรถลงเขาด้วยความเร็ว คนขับจะต้องเบรกเป็นระยะ ระหว่างที่ต้องเบรกอย่างต่อเนื่องทำให้แรงดันลมเสียไป ทำให้อยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าเบรกแตก คือลมในหม้อลมหมด ทำให้เบรกไม่อยู่ ฉะนั้นเวลาลงเขาต่อเนื่องที่ความชัน 7% จึงต้องลงเกียร์ต่ำ เพราะเกียร์ต่ำจะช่วยให้รถค่อยๆลง ไม่ต้องคอยเหยียบเบรกย้ำๆ
ในส่วนเรื่องมาตรฐานของตัวรถโดยสารสองชั้น นพ.ธนพงษ์ กล่าวว่า เมื่อมองกรณีอุบัติเหตุที่วังน้ำเขียว จะเห็นว่ามาตรฐานของรถยังขาดอยู่ โครงสร้างของรถฉีกขาด เก้าอี้หลุด มาตรฐานที่ยังไม่มีการประกาศใช้แต่มีการศึกษาแล้วคือ มาตรฐานว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างและมาตรฐานว่าด้วยเรื่องการยึดเกาะเก้าอี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตัวรถคันนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ขับเร็ว พอรถพลิกคว่ำก็ไถลไปชนต้นไม้ ด้วยโครงสร้างที่ไม่ได้แข็งแรงเพียงพอจึงทำให้ตัวรถฉีก ชั้นบนหลุดออกจากกัน ซึ่งมาตรฐานสากลที่กำหนดคือ มาตรฐานโครงสร้างความแข็งแรงจะต้องมีการทดสอบที่เรียกว่า Row Over Test โดยการนำรถมากลิ้งดูว่าถ้ารถพลิกคว่ำ โครงสร้างต้องไม่ฉีก ต้องไม่ยุบทับคน เก้าอี้ต้องไม่หลุด เข็มขัดต้องแข็งแรง
นพ.ธนพงษ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ยังคงมีการใช้รถโดยสารสองชั้นว่า หนึ่ง เพราะรถมีขนาดใหญ่ ประหยัดเงิน เหมาได้ในราคาถูก บรรจุที่นั่งได้ 50 กว่าคน เช่น ถ้ากรุ๊ปทัวร์มี 50 คน อาจจะต้องใช้รถตู้และรถโดยสารธรรมดาอย่างละคัน พอนำรถโดยสารสองชั้นมาสามารถตอบโจทย์ได้ สองคือ รถดูหรูหรา สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย ทำกิจกรรมข้างบนหรือข้างล่างก็ได้ อีกทั้งรถประเภทนี้เป็นผู้ประกอบการรถทัศนาจร 7,000 กว่าคัน เพราะฉะนั้น พอเราไปจ้างเหมา ผู้ประกอบแจ้งจะว่ามีแต่รถโดยสารสองชั้น ทำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือก
นพ.ธนพงษ์ ได้เสนอแนวทาง 3 ด่านในการควบคุมและกำกับผู้ประกอบการให้เกิดความปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่
1. การคัดกรองผู้ที่ต้องพร้อมเข้าระบบ เพื่อสกัดผู้ประกอบการที่ไม่พร้อมโดยให้มีการเข้มเงื่อนไขด้านความปลอดภัย ทั้งคนขับ รถ ระบบการจัดการ และเข้มงวดในการต่ออายุทุก 7 ปี
2. การควบคุมและกำกับระหว่างประกอบการ มีการติด GPS monitor ตรวจสภาพรถทุก 6 เดือน ตรวจรถก่อนบริการ ตรวจสอบการประกอบการ และให้มีการสุ่มตรวจบนท้องถนน
3. มีระบบการสอบสวนหากเกิดความเสี่ยงหรืออุบัติเหตุ มีระบบรายงาน ตรวจสอบความพร้อมบริการ
“เราต้องไม่ลืมที่จะถามหามาตรฐานของคนขับรถด้วย เพราะคนขับสัมพันธ์กับผู้ประกอบการ ต้องมีการพัฒนาทำให้คนขับมีความรู้และทักษะ ต้องเคารพกฎหมาย และควรมีระบบติดตาม อีกทั้งต้องทำควบคู่กับโครงสร้างประกอบการ” นพ.ธนพงษ์กล่าวและว่า ทุกวันนี้ผู้ประกอบการบ้านเราเป็นในลักษณะรายย่อย รายย่อยจะทำเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านต่างๆ ได้ยาก เพราะว่าคือต้นทุน รายย่อยออกรถมาเสร็จล้อต้องหมุนตลอดเวลาถึงจะมีรายได้ จึงไม่มีเวลาอบรมคนขับ
ฉะนั้น การแก้ปัญหาในระยะยาวต้องรื้อโครงสร้างประกอบการเพื่อลดรายย่อยที่ไม่พร้อมและไม่เข้าเงื่อนไขความปลอดภัยเข้ามาสู่ระบบ ที่เราคุยมาทั้งหมดเพื่อตามแก้ปัญหา แต่ต้นทางจริงๆ คือการปล่อยให้คนไม่พร้อมเข้าระบบ เพราะส่วนใหญ่บ้านเรามีแต่ผู้ประกอบการรายย่อย รายใหญ่มีน้อยราย รถที่มีมาตรฐานคันหนึ่งราคาเป็นสิบล้าน ถ้าจะให้รายย่อยอยู่ได้ ผู้บริโภคต้องพร้อมที่จะจ่ายแพงขึ้น ภายใต้โครงสร้างที่มีอยู่เราก็ยังอยากทัวร์แบบประหยัด เราจ่ายได้แค่นี้ ผู้ประกอบการเก็บเงินได้แค่นี้ จะไปคาดหวังว่าเขาจะต้องมีรถที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งชี้ให้เห็นว่านอกจากโครงสร้างเรื่องผู้ประกอบการ คือการผลิตในบ้านเรายังขาดการสนับสนุนให้มีรถที่มีมาตรฐานในราคาถูก ให้ผู้ประกอบการได้ทำอย่างมีคุณภาพภายใต้ต้นทุนที่อยู่ได้ รัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาในรูปแบบของการวางโครงสร้างภาษีใหม่ที่จะเอื้อให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือมีแนวทางให้กลุ่มรายย่อยได้รวมกลุ่มกัน มีระบบความปลอดภัยและผู้กำกับด้านความปลอดภัยเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในสถิติการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้นในปี 2560 แบ่งตามรูปแบบการให้บริการ ซึ่งเป็นการรวบรวมจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปภ.)และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า จากข่าวในปี 2560 เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 63 ครั้ง เป็นรถประจำทาง 48 ครั้ง รถไม่ประจำทาง 15 ครั้ง โดยในอุบัติเหตุ 63 ครั้ง มีจำนวนผู้เสียชีวิต 18 ราย รถประจำทาง 12 ราย รถไม่ประจำทาง 6 ราย และเมื่อดูสถิติความปลอดภัยของการเดินทางด้วยรถโดยสาร พบว่ารถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตมากกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง 6 เท่า