ถอดกลเม็ดเคล็ด (ไม่) ลับ กับ ‘รอมแพง’ กว่าจะเป็น ‘บุพเพสันนิวาส’ เรตติ้งแตะ 20.0
คุยกับ 'รอมเเพง' เจ้าของบทประพันธ์ 'บุพเพสันนิวาส' ยอดพิมพ์ทะลุ 9 หมื่นเล่ม เรตติ้งละครทั่วประเทศพุ่งกระฉูด 16.0 กทม. 23.4 สะเทือนทั้งเเผ่นดิน
ออกอากาศเป็นตอนที่ 9 แล้ว สำหรับละครเรื่องดัง ‘บุพเพสันนิวาส’ จากบทประพันธ์ของ ‘อุ้ย’ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา หรือ ‘รอมแพง’ ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล หมายเลย 33 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 21 มี.ค. 2561)มีเรตติ้ง กทม. 23.4 ขณะที่ทั่วประเทศเพิ่มกระฉูดทะลุ 16.0 ไปแล้ว
เหนือสิ่งอื่นใด ผลพลอยได้จากการฉายละครเรื่องนี้ คือ การหยิบยกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ขึ้นมาถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลจนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
ดังเช่นเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2561 ในเวทีที่จัดขึ้นโดยกรมศิลปากร ได้เชิญ รอมแพง มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ แรงบันดาลใจและเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมจัดแสดงวรรณกรรม เรื่อง จินดามณี แต่งขึ้นโดยพระโหราธิบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และหนังสือเก่า-เอกสารโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้รับการอ้างอิงไว้ในนวนิยาย ณ ชั้น 1 อาคาร 2 หอสมุดแห่งชาติ
“ไม่คิดว่ากระแสความนิยมละครเรื่องบุพเพสันนิวาสจะแรงขนาดนี้” อุ้ย จันทร์ยวีร์ บอกเล่าด้วยรอยยิ้มผ่านใบหน้าและแววตากลมโต คมเข้ม ตามแบบฉบับลูกหลานชาวนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ เดิมทีกระแสตอบรับหลังจากตีพิมพ์นวนิยายครั้งแรกถือว่าดีระดับหนึ่ง มีการตีพิมพ์เพิ่มทุกปี ปีละ 2-3 ครั้ง จนเมื่อละครออกอากาศ จึงมีความต้องการหนังสือสูงมาก และปัจจุบันได้ตีพิมพ์ไปแล้วเป็นครั้งที่ 83
“หนังสือจะตีพิมพ์เพิ่มทุกสัปดาห์ ครั้งละ 1,000-1,500 เล่ม จวบจนถึงปัจจุบันมียอมพิมพ์รวมกว่า 90,000 เล่มแล้ว” นั่นคือความภาคภูมิใจของเธอในฐานะนักเขียน
ส่วนชื่อ ‘รอมแพง’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากทมยันตี (คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ) เธอบอกเล่าว่า คำว่า “รอมแพง” เป็นภาษาล้านนาโบราณ แปลว่า “หญิงอันเป็นที่รัก” ซึ่งสาเหตุที่เลือกใช้นามปากกานี้ เพราะมีโอกาสได้อ่านนวนิยายเรื่อง เวียงกุมกาม ของทมยันตี มีนางเอกชื่อ รอมแพง
อุ้ย จันทร์ยวีร์ รู้สึกว่า “รอมแพง” เป็นชื่อที่ไพเราะ จึงอยากใช้ชื่อนามปากกานี้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเรา เพราะเป็นชื่อนางเอกในนวนิยายของผู้เขียนที่เคารพนับถือ
“ช่วงปลายปี 2549 เราได้มีโอกาสเจอ ‘ทมยันตี’ จึงเข้าไปขออนุญาตใช้นามปากกาอย่างเป็นทางการ ซึ่งท่านยินดีมอบให้มาใช้ และเรายังได้มอบนวนิยายเรื่อง ‘สายลับลิปกลอส’ ให้ท่านอ่านด้วย”
เป็นครั้งเดียวที่มีโอกาสได้เจอ และเข้าไปพบ หลังจากนั้นได้แต่มองห่าง ๆ เพราะเขินไม่กล้าเข้าไปทักทาย ทำได้เพียงแอบปลื้ม
"คำพูดต่าง ๆ ที่ใช้สื่อสารกันนั้น จะหาจากจดหมายเหตุ
โดยใช้ฉบับ ‘ซีมง เดอ ลา ลู แบร์’ (ลาลูแบร์) เป็นหลัก
เพราะมีความละเอียดในการบอกเล่าถึงวิถีชีวิต
การกิน การอยู่ การพูดจา เช่น ออเจ้า อยู่ในฉบับนี้ทั้งสิ้น"
แล้วชีวิตก่อนมาเป็นนักเขียนเต็มตัวของรอมแพงรันทดเหมือน เจ.เค.โรว์ลิง ก่อนแฮร์รี่พอตเตอร์โด่งดังหรือไม่ รอมแพง ตอบทันทีว่า ทำมาหลายอาชีพ ประมาณ 11 อาชีพ เราเปลี่ยนงานบ่อย แต่นั่นก็ทำให้เราได้ใช้ประสบการณ์ที่ประสบมาเขียนใส่ในงานเขียน
ก่อนจะกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการแต่ง ‘บุพเพสันนิวาส’ ว่า “ความจริงตั้งแต่เริ่มคิดเป็นนักเขียน มีความคิดว่า อยากเขียนนวนิยายอิงประวัตศาสตร์ ซึ่งเราเรียนจบโบราณคดี แม้จะไม่ได้เน้นวิชาประวัติศาสตร์โดยตรง แต่เราชอบศึกษาประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิม
นั่นจึงทำให้เรามีความคิดว่า ถ้าเราจะเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์สักเรื่อง อยากเขียนเป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ตามแบบฉบับของเรา เพราะนวนิยายของรอมแพงแทบทุกเรื่องเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ที่มีมุขตลกขำขันในปัจจุบันใส่ลงไป ตามนิสัยของเรา”
อุ้ย จันทร์ยวีร์ กล่าวต่อว่า คราวนี้พอเราคิดจะเขียนนวนิยายแนวโรแมนติกคอมเมดี้แล้ว จึงวางพล๊อตเรื่องคร่าว ๆ หาว่าจะเป็นยุคไหน โดยไปค้นคว้าจากหนังสือในหอสมุดแห่งชาติ และหอสมุด ม.ศิลปากร วังท่าพระ
ตอนแรกคิดว่าจะเขียนยุคสมัยรัชกาลที่ 5 แต่พล๊อตเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ ซึ่งนางเอกน่าจะ ‘รั่ว’ มาก ดังนั้น ในยุคสมัยนี้จึงห่างจากยุคปัจจุบันไม่มาก ฉะนั้นกลัวว่าจะเขียนให้สนุกยาก เพราะตัวละครในประวัติศาสตร์หลาย ๆ คน ยังมีผู้สืบเชื้อสายสกุลต่าง ๆ จวบจนถึงปัจจุบันอยู่
เมื่อเราเล่นได้ไม่เต็มที่ เลยคิดย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่หากเป็นยุคเสียกรุง ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจ เกรงว่าจะเป็นเป็นโศกนาฎกรรรมมากกว่าสุขนาฏกรรม
รอมแพง บอกว่า เธอเองตั้งใจจะเขียนนวนิยายให้คนอ่านมีความสุข ไม่ต้องการให้เป็นเรื่องเศร้าที่ตอนจบพระเอกต้องพลัดพรากหรือตายจาก ดังนั้น เรื่องราวยุคเสียกรุงจึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการ จึงตัดสินใจย้อนกลับไปใช้เหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
“สมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน จึงมีสีสันมาก และเราเลือกจะใช้ช่วงที่พระองค์ใกล้สิ้นพระชนม์”
เธอยกตัวอย่างเช่น อ่านพงศาวดารเจอเรื่องนักเลงสุราและพราหมณ์เดินทางไปกับคณะฑูตเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งมีสีสันมาก เพราะมีการกล่าวว่า “พราหมณ์คนนี้สามารถพายเรือข้ามน้ำวนได้และหยุดลมได้
น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องเล่าที่มีสีสัน เลยจับตรงนี้เป็นซัพพล๊อต ให้พระเอกกับพรรคพวกดื่มสุรา เพื่อจะพลางตัว สืบราชการ เพื่อให้เห็นว่าตนเองไม่เอาไหน ประกอบกับนำตำนาน ศรีปราชญ์ มาใส่ ไม่มีในประวัติศาสตร์ และจับพระเอกที่มีตัวตนจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ไม่รู้ว่าพ่อแม่เป็นใครมาเป็นน้องชายของศรีปราชญ์
แล้วจึงได้ผูกเรื่องว่า เมื่อศรีปราชญ์โดนเนรเทศไปนครศรีธรรมราช พระเอกเลยต้องพลางตัวโดยการดื่มสุรา ทำให้ไม่โดนเพ่งเล็งเหมือนกับพี่ชายอย่างศรีปราชญ์
"...ไม่ว่านวนิยายตบจูบ หรือน้ำเน่าแค่ไหน ต้องสามารถชักจูงคนให้ทำความดี เป็นคนดีได้
ต้องมีเหตุมีผลของตัวละคร จึงไม่ค่อยคิดว่า แนวของตนเองจะสูงส่งกว่า
คิดแค่ว่าเราจะเขียนอย่างไรเพื่อให้คนอ่านจ่ายเงินแล้วเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด"
ทั้งนี้ รอมแพงเล่าว่า กว่าจะเขียนนวนิยาย ‘บุพเพสันนิวาส’ เสร็จ ต้องใช้ระยะเวลาค้นคว้าจากห้องสมุด เรียกว่า เข้าออกเป็นว่าเล่น แทบทุกวัน และยังมีเดินทางไปจ.พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี อีกด้วย
“ตอนไปจ.พระนครศรีอยุธยา ต้องเข้าพิพิธภัณฑ์เพื่อไปดูสถานที่จริง ๆ และนั่งเรือวนรอบเกาะ เพื่อดูว่าควรจะเขียนให้บ้านของพระยาโหราธิบดีตั้งอยู่ตรงไหน หรือบ้านโกษาธิบดี (เหล็ก) ตั้งอยู่ตรงไหน เพราะบ้านของบุคคลในประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่มีในบันทึก โดยใช้แผนที่ของกรุงศรีอยุธยาเป็นที่ตั้ง”
ทั้งนี้ มีความรู้สึกว่า หากได้ย้อนกลับไปในยุคนั้น เราอยากจะทำอะไรบ้าง หลัก ๆ คือ ต้องการท่องเที่ยว โดยให้เกศสุรางค์เป็นตัวแทนของเรา
อุ้ย จันทร์ยวีร์ ยืนยันว่า ภายในใจไม่ได้ต้องการให้เกศสุรางค์ข้ามภพไปเพื่อช่วยเหลือบ้านเมือง แต่ต้องการให้ข้ามไปเที่ยว และหาของกินที่น่าจะมีในนั้น ซึ่งตอนที่เขียนถึงของกิน จะต้องค้นหาข้อมูล แม้กระทั่งว่า พริก มีมาตั้งแต่ยุคไหน มีกุ้งแห้งและน้ำปลาหรือยัง ผ้าอนามัยเรียกว่าอะไร
ส่วนคำพูดต่าง ๆ ที่ใช้สื่อสารกันนั้น จะหาจากจดหมายเหตุ โดยใช้ฉบับ ‘ซีมง เดอ ลา ลู แบร์’ (ลาลูแบร์) เป็นหลัก เพราะมีความละเอียดในการบอกเล่าถึงวิถีชีวิต การกิน การอยู่ การพูดจา เช่น ออเจ้า อยู่ในฉบับนี้ทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้ว จะนำวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนมาเปรียบเทียบอีกทีหนึ่ง
ที่น่ามหัศจรรย์มากไปกว่าทั้งหมด คือ ความบังเอิญที่ไม่คาดคิด เช่น ตัวละครที่ชื่อ ‘คุณหญิงนิ่ม’ ภรรยาของโกษาธิบดี (เหล็ก) ตอนเขียนขึ้นมานั้น เรายังหาไม่เจอว่า ภรรยาของท่านชื่ออะไร เราเลยคิดไว้ว่าให้ชื่อนิ่มแล้วกัน เพราะง่ายดี แต่เมื่อเขียนลงเว็บไซต์ไปสักประมาณครึ่งเรื่อง ได้มีคนหาข้อมูลมาให้ว่า ในประวัติศาสตร์ ภรรยาของท่านชื่อนิ่มเช่นกัน
หรืออย่างนางเอกที่ชื่อการะเกด ตอนเราตั้งชื่อมาไม่ได้คิดอะไร แต่พอเขียนไปได้สักพัก ถึงตอนทะเลาะกับคอนสแตนติน ฟอลคอน มีผู้รู้มาบอกว่า เอาชื่อการะเกดมาจากเพลงกล่อมเด็กใช่หรือไม่
รอมแพง กล่าวว่า ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นมาโดยไม่คาดคิด รวมถึงเพลงประกอบละคร ‘ออเจ้าเอย’ แต่งคำร้องและทำนองโดย วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ อยู่ดี ๆ ได้ยินเสียงกระซิบข้างหูว่า ออเจ้าเอย และดนตรีเข้ามาตอนเคลิ้ม ๆ จะหลับ
ผู้แต่งเลยรีบตื่นมาจด และแต่งเสร็จภายในครึ่งชั่วโมง สุดท้าย มีผู้รู้บอกว่า ทำนองคล้ายกับเพลงคำหวานที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจริง ๆ
จึงกล่าวได้ว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องบังเอิญมาก ๆ
รอมแพง ยังบอกด้วยว่า ในนวนิยายเรื่องนี้ มีตัวละครหลักเพียง 4 คน เท่านั้น ที่ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ได้แก่ การะเกด หมื่นเรือง แม่หญิงจันทร์วาด และแม่นายจำปา
ทั้งนี้ เมื่อละครออกอากาศ มีนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่โกรธเลย ยิ้ม และมีความสุข เพราะทำให้รู้สึกว่า ประวัติศาสตร์ตื่นตัว กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยไม่ได้ตั้งใจ
“เราตั้งใจแค่เล็ก ๆ แต่ผลกลับใหญ่ ต้องชมทีมงานละคร โดยเฉพาะ อาจารย์ (แดง) ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบทโทรทัศน์ ซึ่งเก่งมาก ใช้ระยะเวลาหาข้อมูลพอ ๆ กับเรา ทั้งนี้ ในส่วนของการผิดพลาด ย่อมมีอยู่แล้ว คนทำงานทุกอย่าง ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ คนที่ไม่ผิดพลาด คือ คนไม่ทำอะไรเลย อย่างไรก็ตาม หากมีอะไรผิดพลาดต้องขออภัยไว้ด้วย”
พร้อมกับทิ้งท้ายไว้อย่างเฉียบคม เมื่อถูกถามขึ้นว่า ทำอย่างไรให้นวนิยายแนวตบจูบ น้ำเน่า หมดไปจากสังคมไทย ‘อุ้ย’ จันทร์ยวีร์ กล่าวว่า “แนวนิยายเป็นความหลากหลายของคนเขียน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความต้องการคนอ่าน ถ้างานเขียนแบบนั้นขายได้ ผู้เขียนต้องเขียนต่อไป ขึ้นอยู่กับคนอ่านด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าเขียนแนวไหนก็ได้ แต่ให้มีเหตุมีผลอยู่ในนวนิยาย ไม่ว่านวนิยายตบจูบ หรือน้ำเน่าแค่ไหน ต้องสามารถชักจูงคนให้ทำความดี เป็นคนดีได้ ต้องมีเหตุมีผลของตัวละคร จึงไม่ค่อยคิดว่า แนวของตนเองจะสูงส่งกว่า คิดแค่ว่าเราจะเขียนอย่างไรเพื่อให้คนอ่านจ่ายเงินแล้วเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด” .