นักวิจัยหนุนไทยเปิดสนามบินนานาชาติเมืองรองให้มากขึ้น รองรับนักท่องเทียวจีน
รมว.ท่องเที่ยว ชี้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนไป บุคลิกมีความหลากหลายมากขึ้น เล็งบริหารจัดการการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ค่าเหยียบแผ่นดิน การประกันภัยนักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยง การเก็บค่าธรรมเนียมในพื้นที่แออัดพิเศษ
วันที่ 22 มีนาคม ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า นำคณะนักวิจัยรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัยให้กับนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับทราบความก้าวหน้าพร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางการศึกษาวิจัย หลังจากที่มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและการวิจัยระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กับ สกว. เมื่อปี 2560 รวม 10 แผนงาน และผลการศึกษาจากมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ
สาระสำคัญของงานวิจัยที่นำเสนอในครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 โครงการวิจัยกลุ่มการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน กลุ่มที่ 2 โครงการวิจัยกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์/การท่องเที่ยวโดยชุมชน กลุ่มที่ 3 โครงการวิจัยกลุ่มการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยว
ช่วงหนึ่ง ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ได้นำเสนอผล “ดัชนีชี้วัดศักยภาพระดับจังหวัด และผลการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปสงค์ของตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีน” ซึ่งศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของนักท่องเที่ยวกลุ่มต่าง ๆ ความเชื่อมโยงของความสามารถในการแข่งขันประสิทธิภาพและความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทย และเสนอแนวทางในการจัดการการท่องเที่ยวระดับจังหวัด
ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงการปฏิรูปขีดความสามารถของการท่องเที่ยวไทยท่ามกลางปรากฏการณ์บูรพาภิวัตน์ คือ ไทยควรเปิดสนามบินนานาชาติในเมืองต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพราะจีนเป็นประเทศที่จัดซื้ออากาศยานมากที่สุดในโลก แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมทั้งสถานที่และบุคลากร
"ปัญหาใหญ่ของการท่องเที่ยวไทยในอนาคต คือ การรับมือนักท่องเที่ยวจีนที่ทุกอย่างจะอยู่บนมือถือ และการเข้ามาของธุรกิจจีนในไทยตลอดห่วงโซ่ทุกระดับการลงทุน ดังนั้นนักวิจัยจึงขอเสนอประเด็นนโยบาย “บูรพาภิวัตน์” เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและการรองรับ รายได้/ภาษี/ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลทั้งด้านภาษี และการจัดการความเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ไทยทำได้เพียงเก็บค่าบริการขยะ เพราะขยะเป็นปัญหาใหญ่ของทุกเมืองที่จะต้องมีการจัดการและรองรับให้มากขึ้น ขณะที่ปะการังเป็นเรื่องเปราะบางและน่าดำเนินการที่สุด แต่ยังติดปัญหาทางกฎหมายที่ยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ การล็อบบี้ทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรดำเนินการ"
นอกจากนี้ ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงจุดอ่อนสำคัญอีกประการของไทยขณะนื้คือ ยังมีการจัดการด้านสุขภาพอนามัยที่ไม่ดี อยู่ในอันดับที่ 90 ของโลก ทั้งที่มีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ อีกทั้งยังมีปัญหายาเสพติดสูงมากในจังหวัดใหญ่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ซึ่งกระทบต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว"
ขณะที่ ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง นำเสนอโครงการ “การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปสงค์ของตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีน” โดยผลการศึกษาได้สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบอินเทอร์เน็ตและระบบชำระเงินของประเทศจีนที่มุ่งสู่ “สังคมไร้เงินสด” ที่สมบูรณ์แบบ รวมถึงสังคมดิจิทัล และเศรษฐกิจแบ่งปัน ที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ ซึ่งเป็นระบบนิเวศใหม่ที่ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่จำนวนมากที่เข้ามาให้บริการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันกับสตาร์ทอัพจีนที่มีระบบธุรกิจนิเวศน์ออนไลน์ขนาดใหญ่ที่ครบวงจรและเกื้อหนุนกันซึ่งบริษัทไทยเข้าไม่ถึง และยังมีการลงทุนของกลุ่มธุรกิจจีนที่ดำเนินกิจการ โดยอาศัยช่องว่างของระบบเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบต่าง ๆ เช่น การทำธุรกรรมนอกระบบ หรือการจ้างงานที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ต่ำกว่าผู้ประกอบการไทย รวมถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่บังคับใช้ได้เฉพาะกับผู้ประกอบการไทยเท่านั้น
การศึกษานี้ยังให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย เชิงประชาสัมพันธ์ และข้อเสนอเพื่อการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน เช่น 1) การให้ความสนใจกับตลาด FIT มากกว่าตลาดทัวร์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเที่ยวตลาดไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ 2) กำกับตลาดถนนคนเดิน ตลาดโต้รุ่ง ตลาดนัด ตลาดหัตถกรรมพื้นบ้าน ให้มีความสะอาดและปลอดภัย และ 3) จัดกิจกรรมส่งเสริมและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวจีนซื้อสินค้าโอท็อปเช่น จัดนิทรรศการ ทัวร์เยี่ยมชม งานแสดง เป็นต้น
ด้านนายวีระศักดิ์ กล่าวถึงการท่องเที่ยวเป็นประเด็นทางวัฒนธรรมที่โดยทั่วไปใช้ความรู้สึกมากกว่าความรู้ การเติมเข้ามาของนักวิจัยที่เฝ้าดูพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว จึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการสั่งสมประสบการณ์ของข้าราชการหน่วยงานรัฐ งานวิจัยช่วยให้การดำเนินงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก้าวขยับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
"วันนี้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนไป บุคลิกของนักท่องเที่ยวไม่เฉพาะแค่จีน แต่ยังมีความหลากหลายของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งจากอาเซียนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นใกล้เคียงกับนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยุโรปตะวันออก เช่น รัสเซีย ที่ค่อย ๆ ขยับเข้ามาขณะที่กลุ่มตะวันตกดั้งเดิมและตะวันออกกลางแผ่วลง เราต้องมีการจัดการการเข้ามาของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ เช่น มีค่าเหยียบแผ่นดิน การประกันภัยนักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยง การเก็บค่าธรรมเนียมในพื้นที่แออัดพิเศษ หรือใช้ระบบตั๋วหนังให้นักท่องเที่ยวหมุนเวียนเข้ามาเป็นรอบ ๆ ทั้งนี้อาจจะต้องเชิญ สกว. มาร่วมวิเคราะห์ข้อมูล เพราะท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ เป็นแกนกลางที่สามารถคุยกับคนกลุ่มใดก็ได้และสะท้อนนโยบายสาธารณะของประเทศ"