ก.เกษตรฯ เร่งทำระบบบิ๊กดาต้า-อีคอมเมิร์ซ ภายในปี 61 รองรับเปลี่ยนเทรนสู่ 4.0
รมว.เกษตรฯ หนุนเกษตรกรใช้มือถือตรวจสอบสภาพน้ำท่า รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ สร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยมีขรก.เป็นที่ปรึกษา พร้อมเร่งจัดทำบิ๊กดาต้า สร้างระบบอี-คอมเมิร์ซ ภายในปี 61 รองรับการเปลี่ยนเทรนสู่ 4.0
วันที่ 21 มี.ค. 2561 ธนาคารกรุงเทพ จัดสัมมนาพิเศษ เรื่อง การจัดการที่ดี ตามวิถีเกษตรก้าวหน้า เพื่อสานต่อความสำเร็จตามนโยบายมุ่งมั่นสร้างต้นแบบ วิถีเกษตรก้าวหน้า ณ ห้องบัวหลวง ชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เกษตรไทย 4.0 ตอนหนึ่งระบุถึงอาชีพเกษตรกรรมของไทยได้รับผลกระทบจากภายในและภายนอกประเทศ โดยภายนอกประเทศนั้น ต่อไปจะอยู่อย่างไทย ๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะตลาดในต่างประเทศจะมีการตรวจสอบห่วงโซ่การผลิต ภายใต้กติการะหว่างประเทศ เช่น ยางพารา จากเดิมต้นยางพาราที่มีอายุ 25 ปี ตัดส่งออกได้เลย แต่ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว จะขายไม้ยางไปญี่ปุ่น จะถูกตรวจสอบว่า ปลูกจากที่ไหน ใครเป็นคนตัด หรือส่งออกข้าวโพด จะถูกตรวจสอบว่า ปลูกในพื้นที่บุกรุกหรือไม่ เป็นต้น ที่สำคัญ สินค้าที่ส่งออกจะต้องปลอดจากสารเคมีตกค้างด้วย
ขณะที่เกษตรกรไทยที่มีอยู่ราว 7 ล้านครัวเรือน หรือ 23 ล้านคน รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ยังไม่มีการปรับตัว ประกอบกับเกษตรกรไทยมีอายุสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เกษตรกรรุ่นใหม่มีน้อยลง เกษตรกรเรียนจบปริญญาตรีมีน้อยลง ที่ทำอยู่เป็นเกษตรกรที่เคยทำงานในบริษัทเกษตรขนาดใหญ่ ถามว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ที่นา ที่สวน ใครจะเป็นคนทำ
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดทุกคืนวันศุกร์ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ระบบเกษตร 4.0 ให้ใช้โทรศัพท์มือถือมาดูข้อมูลน้ำท่าบ้างว่าเป็นอย่างไร แต่จากการที่กระทรวงเกษตรฯ ไปตรวจสอบ กลับพบว่า มีเกษตรกรจำนวนน้อยที่ทำ ทั้งที่รัฐบาลติดตั้งอินเทอร์เน็ตครบเกือบทุกหมู่บ้านแล้ว” นายกฤษฎา กล่าว และว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบถามกับตนเองว่า เกษตร 4.0 หมายถึงอะไร จึงเรียนอธิบาย และสรุปว่า ยังไม่สำเร็จ พระองค์จึงมีพระเมตตา พระราชทานคำแนะนำว่า ให้คุณครูสอนนักเรียน จากนั้นให้นักเรียนกลับไปสอนพ่อแม่อีกทีว่าจะดูน้ำดูฝนได้อย่างไร
รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนโครงการเพื่อพัฒนาเกษตรกร ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิต สร้างเกษตรกรสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้มีอำนาจต่อรองต่าง ๆ ขณะที่ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และเร่งจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้า เปิดช่องทางให้เกษตรกรเข้ามาติดต่อระหว่างกัน สร้างระบบอี-คอมเมิร์ซ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561 เพื่อเปลี่ยนเทรนช่วยให้อาชีพเกษตรกรยืนอยู่ได้ .