ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยด้วย ม.44
รัฐบาลคิดว่า ม.44 น่าจะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านบริหารการศึกษาในมหาวิทยาลัยได้เหมือนกับเรื่องอื่นๆ จึงส่งอำนาจผ่านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559 ให้บุคคลหรือคณะบุคคลมีอำนาจเด็ดขาดเข้าไปจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาจนไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติแก้ไขปัญหาได้ในเวลาอันรวดเร็ว
แต่อำนาจที่รัฐบาลมอบให้กับบุคคลหรือคณะบุคคลหรือจะสู้วัฒนธรรมองค์การที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม”
หากวิเคราะห์จากคำสั่งของ คสช. จะพบว่า ปัญหาในมหาวิทยาลัยไม่ได้เกิดจากปัญหาความไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมในระดับสภามหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย แต่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในการบริหารมหาวิทยาลัยของอธิการบดีและลึกลงไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายและกฎระเบียบของผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับของมหาวิทยาลัย
คำสั่ง คสช. จึงให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสั่งให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดีหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นตำแหน่งหน้าที่ทั้งคณะ หรือให้ไปปฏิบัติงานในหน่วยงานแห่งอื่น รวมถึงให้อำนาจบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งต่างๆ ดำเนินการทางอาญา ทางละเมิดหรือทางวินัยแก่ผู้ซึ่งได้กระทำการจงใจ หลีกเลี่ยง หรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
การแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ยังให้อำนาจผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งใช้อำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ ได้รับความคุ้มครองและไม่ต้อง รับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย อีกด้วย
ดูเหมือนว่า ความสำเร็จและความเด็ดขาดในการใช้อำนาจแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงของการเริ่มใช้ ม.44 ที่สั่งให้สภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยหยุดปฏิบัติหน้าที่ การเข้ามาแก้ไขปัญหาของคณะบุคคลเริ่มปรากฎให้เห็นจากความสำเร็จในการเปลี่ยนอำนาจหรือสลายขั้วที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในการบริหารมหาวิทยาลัยด้วยการสรรหาอธิการบดีคนใหม่และรอการถ่ายอำนาจจากคณะบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยให้กับสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ภายใต้กระบวนการสรรหาที่มีอธิการบดีคนใหม่เป็นประธานกรรมการ
จึงเห็นได้ว่า คำสั่งการเปลี่ยนและถ่ายอำนาจด้วยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559 เป็นการหยุดการใช้อำนาจบริหารมหาวิทยาลัยหรือเว้นวรรคการเกิดปัญหาระยะสั้นๆ เพราะวงจร “ผลัดกันเกาหลัง” ภายในมหาวิทยาลัยกำลังเกิดขึ้นมาใหม่และอาจทำให้เกิดปัญหาการบริหารงานในมหาวิทยาลัยเหมือนก่อนที่รัฐบาลต้องใช้ ม.44 เข้าไปแก้ปัญหา
การเน้นแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี โดยทิ้งปัญหาหรือไม่สนใจปัญหาความไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม ได้แก่ การเลือกปฏิบัติ การจงใจ หลีกเลี่ยง หรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องพึ่งพาอาศัยและต้องเชื่อใจบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอยู่ช่วยกันขับเคลื่อนการบริหารงานที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนให้เดินต่อไป จนทำให้ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบอุปถัมภ์” ที่ฝังตัวอยู่ในโครงสร้างการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และอาจเข้าข่ายการกระทำที่เรียกว่า “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559”
อำนาจ ม.44 ที่รัฐบาลให้กับบุคคลหรือคณะบุคคลสามารถใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่และเหนือกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะหลักนิติธรรมและหลักธรรมาภิบาล ไม่ต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม ถูกดึงไปสู่การบริหารงานตามกฎหมายที่มีอยู่และผลักปัญหาการบริหารงานเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมตามเดิม
การแก้ไขปัญหาด้วยหายอดไม้ใหม่ไปเปลี่ยนยอดไม้เก่าที่เน่าจากรากถึงยอด โดยไม่ได้รักษาต้นและรากให้หายเน่า การหายอดไม้ใหม่ไปเสียบตอเก่าที่ยังเน่าอยู่น่าจะทำให้ยอดใหม่ค่อยๆเน่าตามไปด้วยจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะอำนาจจาก ม.44 ที่รัฐให้มาหมดไปแล้ว
การเรียกร้องขอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ใช้อำนาจ ม.44 เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารมหาวิทยาลัยที่ยังคงมีอยู่และกำลังเกิดขึ้นใหม่ รัฐบาลอาจต้องทบทวนดูว่า การใช้อำนาจที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
ความสำเร็จที่เห็นอาจเป็นเพียงยอดน้ำแข็งที่โผล่อยู่เหนือน้ำ แต่ความล้มเหลวน่าจะเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่จมอยู่ใต้น้ำ ยากที่จะละลายให้หมดไป