ดีกว่าเซ็ทซีโร สภากาชาดไทย ชูนวัตกรรม ‘ฉีดไข่’ หมาเพศผู้ คุมจำนวน-ลดระบาดพิษสุนัขบ้า
วงเสวนา ชูนวัตกรรมทำหมันหมาตัวผู้ ด้วยวิธี ‘ฉีดไข่’ ควบคุมจำนวนประชากร ป้องกันพิษสุนัขบ้าระบาด ค่าใช้จ่ายถูก 30 บาท/ตัว ไม่ต้องผ่าตัด หลังพบฉีดวัคซีนป้องกันอย่างเพียงไม่เพียงพอ
วันที่ 20 มี.ค. 2561 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดเสวนา เรื่อง ตอบโจทย์สังคม โรคพิษสุนัขบ้า ณ ระเบียงรมณีย์ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ภญ.วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุถึงมาตรการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย เช่น การฉีดวัคซีนในสัตว์ การฉีดวัคซีนในคน การสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยมองว่า เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะ จึงทำข้อเสนอเกี่ยวกับนวัตกรรมทำหมันเพศผู้ด้วยวิธี ‘ฉีดไข่’ โดยไม่ต้องผ่านการผ่าตัด เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมจำนวนสุนัข และนำมาสู่การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้
“การทำหมันเพศผู้ด้วยวิธีใช้ยานั้น พบว่า มีผลดีต่อการคุมกำเนิดที่แน่นอน ต้นทุนต่ำ สะดวก ไม่ต้องผ่าตัด ใช้เพียงการดมยาสลบ และสามารถนำไปใช้ในวงกว้างได้ แต่อาจจะมีผลข้างเคียง หากพลาดต้องผ่าตัดเอาออก” ผอ.กองส่งเสริมฯ อย. กล่าว และว่า ขณะที่การทำหมันเพศผู้ด้วยวิธีผ่าตัด แม้จะมีผลดีต่อการคุมกำเนิดแน่นอน ลดการเกิดโรคบางอย่างและพฤติกรรมก้าวร้าวได้ แต่มีข้อเสียเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก ภาวะอ้วน ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ และความเป็นไปได้ใช้ในวงกว้างน้อย เพราะค่าใช้จ่ายสูง
ภญ.วรสุดา ยังกล่าวว่า การทำหมันด้วยวิธีดังกล่าว จะฉีดไปเฉพาะที่ ซึ่งจะส่งผลให้ตัวสร้างอสุจิหายไป โดยมีผลพิสูจน์แล้วจากงานวิจัย แต่ควรระมัดระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากการฉีด และสุนัขที่มีขนาดอัณฑะมากกว่า 27 มิลลิเมตร ควรใช้ยาปริมาณเพียง 1 มิลลิลิตร เท่านั้น พร้อมเน้นย้ำ การฉีดไข่จำเป็นต้องใช้ความชำนาญจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และอยู่ในองค์กรเฉพาะ เช่น โรงพยาบาล คลินิก หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีสัตวแพทย์เท่านั้น
ด้านสพ.ญ.นัยนา อภิชาติพันธุ์ นายสัตวแพทย์เชี่ยวชาญเทศบาลนครสมุทรปราการ กล่าวเสริมถึงค่าใช้จ่ายในการฉีดไข่ในสุนัขเพศผู้ราคา 30 บาท/ตัว เฉพาะค่าวัคซีน 8 บาท/โด๊ส ซึ่ง 1 ชั่วโมง สัตวแพทย์สามารถดำเนินการได้ 30-50 ตัว ทั้งหมดเพื่อเป้าหมายเดียว คือ ให้จำนวนสุนัขไม่เพิ่มจำนวนอีก แต่หากยังพบการเพิ่มจำนวน จะมีผลต่อจำนวนวัคซีนต้องเพิ่มมากขึ้น และยากที่จะทำให้เกิดการควบคุมให้ได้ร้อยละ 70
“หลาย อปท.ทำไม่ได้ เพราะขาดสัตวแพทย์ มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างบางแห่งเอาไปฉีดเอง โดยไม่มีสัตวแพทย์ บางคนฉีดผิดที่ หรือใช้เข็มไม่ถูกขนาด เพราะขาดการศึกษาที่ถูกต้องก่อนการบริการประชาชน” นายสัตวแพทย์เชี่ยวชาญฯ กล่าว
อ่านประกอบ:กรมส่งเสริมฯ จัดสรรงบ ‘ค่าวัคซีนพิษสุนัข’ โครงการสัตว์ปลอดโรคฯ งวดแรก 69 ล้านบาท
ฝ่าวิกฤต ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ หยุดเเพร่ระบาดให้เป็น 'ศูนย์'
เช็คประชากรหมา-แมว หลัง ‘พิษสุนัขบ้าระบาด’ ผ่านไป 6 เดือน ฉีดวัคซีนแค่ 9 แสนตัว
เมื่อสตง. ถูกกล่าวหาเป็นต้นเหตุทำพิษสุนัขบ้าระบาด
กรมปศุสัตว์ยันวัคซีนพิษสุนัขบ้าเพียงพอ-กรมส่งเสริมฯ อัดงบฯ 300 ล. อุดหนุน อปท. จัดซื้อ 10 ล.โด๊ส
กรมปศุสัตว์แต่งตั้ง 'ผศ.เฉลิมพล'-'สมพงศ์' เป็นที่ปรึกษาฯ ด้านโรคพิษสุนัขบ้า
อปท.เสนอแก้ระเบียบกองทุนสุขภาพตำบล เปิดช่องซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า