คสช. กับการ “ช่วยเหลือ” ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและผู้ประกอบการ 4G
หาก คสช. จะมีมติยกผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสองรายตามที่เป็นข่าวจริง ก็คงทำให้ประชาชนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า แม้ว่า คสช. และรัฐบาลประยุทธจะแตกต่างจากรัฐบาลทักษิณ 1 เพราะไม่ได้มีคณะรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยนายทุนโทรคมนาคมและนายทุนโทรทัศน์ จนเป็นที่มาของการเกิด “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย” แต่นโยบาย “อุ้ม” นายทุนโทรคมนาคมก็แทบจะไม่ได้แตกต่างกันเลย
เกิดความเคลื่อนไหวอย่างขันแข็งใน กสทช. และคสช. เมื่อศาลปกครองกลางมีคำตัดสินในคดี ไทยทีวีฟ้อง กสทช. โดยให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันการประมูลแก่ไทยทีวี ซึ่งจะมีผลให้ไทยทีวีไม่ต้องจ่ายค่าประมูลให้ กสทช. อีกต่อไป โดยให้เหตุผลว่า กสทช. ดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิทัลอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานและประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านไม่ทั่วถึง ทำให้ไทยทีวีได้รับความเสียหาย
ในช่วงเดียวกัน ก็มีความเคลื่อนไหวที่จะเสนอให้หัวหน้าคสช. ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปี โดยให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี และลดค่าเช่าโครงข่ายลง 50% เป็นเวลา 2 ปี
ที่สำคัญ จะมีมาตรการ “ผสมโรง” เพื่อ “ช่วยเหลือ” ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 2 รายที่ประมูลคลื่น 4G คือ เอไอเอสและทรู โดยจะให้ผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลคลื่นงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จากเดิมที่ต้องจ่ายให้เสร็จในปี 2563 เป็นการทยอยจ่ายไปอีก 5 งวดไปจนถึงปี 2567 (ดังภาพ)
ผมขอวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของการดำเนินนโยบาย “ช่วยเหลือ” ผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่ม ดังนี้
กรณีทีวีดิจิทัล
ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดทุน ทั้งนี้ การขาดทุนมาจากสาเหตุที่สำคัญ 3 ประการคือ
หนึ่ง การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการออกใบอนุญาตเพิ่มถึง 24 ใบ
สอง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก (technological disruption) ทำให้การชมโทรทัศน์ลดลงอย่างฮวบฮาบ
และ สาม ความบกพร่องของ กสทช. ตามที่ศาลปกครองกลางชี้ไว้
การประสบปัญหาจากการขาดทุนจาก 2 สาเหตุแรกนั้น รัฐบาลและ กสทช. ไม่ควรต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปรกติ (normal business risk) โดยการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและการแข่งขันที่ตามมานั้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายควรคาดหมายได้อยู่แล้ว ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนั้น แม้จะคาดหมายได้ยากกว่า แต่ก็ยังถือว่าเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปรกติในโลกปัจจุบันที่ทุกคนต้องแบกรับอยู่นั่นเอง
ส่วนผลการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของ กสทช. นั้น ผู้ประกอบการควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐตามสมควร โดยระดับการช่วยเหลือควรได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรัฐ ไม่ควรด่วนสรุปว่า การที่ กสทช. มีความบกพร่องบางอย่างเป็นเหตุให้ กสทช. ต้องคืนเอกสารค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการ หรือรัฐต้องหามาตการช่วยเหลือโดยไม่พิจารณาถึงระดับความเสียหายก่อน
นอกจากนี้ ก่อนที่จะดำเนินการอย่างไร คสช. ควรรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดให้คดีสิ้นสุดเสียก่อน ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกไม่นานหลังจากที่ กสทช. อุทธรณ์คดีต่อศาล
คณะรัฐมนตรีเองก็เคยมีมติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐถูกฟ้องร้องคดี จะต้องยื่นอุทธรณ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด รัฐบาลและ คสช. จึงยังไม่สมควรรีบร้อน “ช่วยเหลือ” ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลโดยเฉพาะการช่วยเหลือที่ไปไกลเกินขอบเขตที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมคือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีผลทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากการเสพสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ไปสู่การเสพสื่อออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะการเสพผ่านอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ ดังนั้น คลื่นความถี่ที่ใช้กับวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งได้รับความนิยมน้อยลง ควรถูกนำมาจัดสรรใหม่เพื่อใช้ในบริการโทรคมไร้สายแทน
หากรัฐบาลเห็นว่า การปล่อยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลถือครองคลื่นไว้ จะทำให้คลื่นไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพราะประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อไปแล้ว ก็ควรพิจารณานำเอาคลื่นทีวีดิจิทัลมาประมูลใหม่เพื่อใช้กับบริการโทรคมนาคม โดยเมื่อประมูลเสร็จ รัฐบาลก็สามารถยินยอมให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตและคลื่นความถี่ที่ครอบครองอยู่ได้ เช่นเดียวกับที่มีการดำเนินการในสหรัฐ ซึ่งทำให้ทั้งคลื่นความถี่ถูกใช้อย่างคุ้มค่า รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการมีทางออก
กรณีผู้ประกอบการ 4G
กรณีการประมูลคลื่น 4G มีความแตกต่างจากการประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลมาก เพราะไม่ปรากฏชัดเจนว่า หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ กสทช. ทำอะไรบกพร่อง นอกจากปล่อยให้แจส โมบาย ซึ่งชนะการประมูลแล้วทิ้งใบอนุญาตได้ง่ายๆ จนรัฐบาลต้องไป “เชิญชวน” ให้เอไอเอส มารับใบอนุญาตแทน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนส่งผลต่อผู้ประกอบการมากเท่ากับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เพราะแม้จะเสียรายได้จากบริการบางอย่างไป เช่น บริการเสียง แต่ก็มีรายได้จากการให้บริการข้อมูลมากขึ้น ผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่วนใหญ่จึงยังมีกำไร แม้จะลดลงกว่าเดิมไปบ้าง
การกล่าวอ้างว่าการที่ แจส โมบาย เข้าร่วมประมูลแล้ว ทำให้ราคาสูงขึ้นนั้น อาจทำให้เรารู้สึกสงสารผู้ประกอบการทั้งสองคือ เอไอเอส และทรู แต่เราต้องไม่ลืมว่า ทั้งสองรายได้พิจารณาแล้วว่า ราคาที่ตนประมูลได้ไปนั้นมีความคุ้มค่า และเงื่อนไขการจ่ายค่าประมูล รวมทั้งการจ่ายเป็นงวด 4 งวดตามที่กำหนดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ มิฉะนั้นก็คงถอนตัวจากการประมูลไปแล้ว
ผมจึงไม่มีความสงสารผู้ประกอบการทั้งสอง แต่หากจะมีความเห็นใจเล็กๆ บ้างก็คือ เอไอเอส ซึ่งถูกรัฐบาล “เชิญชวน” ให้มารับใบอนุญาตแทน แจส โมบาย ในราคาที่สูงกว่าที่ เอไอเอสเคยประมูลไว้ แต่เอไอเอส ก็รับไว้ โดยไม่ปรากฏว่าได้ต่อรองกับรัฐบาลในเรื่องงวดการจ่ายค่าประมูลเลย
ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่ คสช. จะต้องเข้ามา “อุ้ม” ผู้ประกอบการทั้งสอง แถมจะดำเนินการล่วงหน้า 2 ปี ก่อนถึงปี 2563 ก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44 อันที่จริง ระยะเวลาในการผ่อนชำระค่าประมูลของ กสทช. นั้นถือได้ว่า ไม่เข้มงวด เพราะให้จ่าย 3 งวดแรกน้อยมากคือเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท แล้วค่อยให้จ่ายที่เหลือประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาทในงวดที่ 4 ซึ่งแตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่โดยทั่วไปในต่างประเทศ และการประมูลคลื่น 3G ที่ผ่านมาในประเทศไทยเอง ที่ให้จ่ายค่าประมูลเกือบหมดตั้งแต่ช่วงแรกๆ แน่นอนว่า เพื่อป้องกันปัญหาการ “เบี้ยว” กันภายหลัง
การที่ คสช. จะยินยอมให้เอไอเอส และทรู เปลี่ยนการจ่ายค่าประมูลงวดสุดท้ายรวดเดียวกลายเป็นการทยอยจ่ายใน 5 ปี จึงเป็นการยกประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสอง โดยแม้จะให้มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายกันนั้นก็ต่ำมากคือ 1.5% ต่อปี ทั้งที่ตามเงื่อนไขการประมูล การจ่ายค่าประมูลล่าช้านั้น ต้องคิดดอกเบี้ยถึง 15% ต่อปี ส่วนต่างดอกเบี้ยนี้เองที่เป็นผลประโยชน์มากมายมหาศาล
เมื่อคิดมูลค่าผลประโยชน์ที่ คสช. จะยกให้เอไอเอส และทรูนั้น จากส่วนต่างดอกเบี้ยดังกล่าว จะพบว่า สูงถึงรายละเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือรวมกันเกือบ 3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว จะมากหรือน้อยกว่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คิดลด (discount rate)
ทั้งนี้หากเชื่อว่า ผู้ประกอบการทั้งสองสามารถระดมทุนมาจ่ายค่าประมูล จากทั้งการกู้และการเพิ่มทุน โดยมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย (WACC) ที่ประมาณ 9% ต่อปี ตามที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ใช้กับบริษัทเหล่านี้ ผลประโยชน์ที่คสช. จะยกให้ผู้ประกอบการทั้งสองก็ยังจะสูงถึงระดับ 1.6 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น หาก คสช. จะมีมติยกผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสองรายตามที่เป็นข่าวจริง ก็คงทำให้ประชาชนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า แม้ว่า คสช. และรัฐบาลประยุทธจะแตกต่างจากรัฐบาลทักษิณ 1 เพราะไม่ได้มีคณะรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยนายทุนโทรคมนาคมและนายทุนโทรทัศน์ จนเป็นที่มาของการเกิด “คอรัปชั่นเชิงนโยบาย” แต่นโยบาย “อุ้ม” นายทุนโทรคมนาคมก็แทบจะไม่ได้แตกต่างกันเลย
ความแตกต่างเล็กๆ หากจะมีก็คือ รัฐบาลทักษิณออกพระราชกำหนดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อเอื้อผู้ประกอบการโทรคมนาคมในสมัยนั้น โดยแอบ “ซุก” ไปกับภาษีสรรพสามิตบริการอื่นๆ เช่น สนามกอล์ฟ ในขณะที่ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันกำลังจะอุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคมโดย “ซุก” ไปกับการอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล