เสียงจากชายแดนใต้...เจ้าหน้าที่ พม.สุดท้อใจถูกมองโกงเหมาเข่ง
จากข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ท.เขต 9 ที่ระบุถึงหลักฐานการทุจริตงบสงเคราะห์ครอบครัวผู้ได้รายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่ง ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเบิกจ่ายผ่าน "นิคมสร้างตนเอง" จำนวน 7 แห่งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เห็นว่าพื้นที่ปลายด้ามขวานก็มีปัญหาความไม่โปร่งใสคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ
งบประมาณที่ถูก ป.ป.ท.เขต 9 ตรวจสอบอย่างเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ คืองบสร้างและซ่อมแซมบ้านของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกำหนดเอาไว้หมู่บ้านละ 1 หลัง จำนวน 1,988 หลัง จาก 1,988 หมู่บ้าน กระจายอยู่ใน 37 อำเภอของ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา (เฉพาะสงขลา 4 อำเภอ) ราคาหลังละ 20,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 39,760,000 บาท
รูปแบบการทุจริตที่ ป.ป.ท.เขต 9 ตั้งประเด็นเอาไว้ สรุปได้ดังนี้
1.นิคมสร้างตนเองแต่ละแห่ง ไม่จ่ายเงินสดไปยังชาวบ้าน แต่ให้รับเป็นสินค้าจากร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ยอดงบ 20,000 บาท แต่วัสดุที่ได้รับจริงมูลค่าราวๆ 10,000 บาท หรือต่ำกว่านั้น
2.มีการเบิกเงินเป็น "ค่าเบี้ยเลี้ยง" ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ของนิคมฯ ไม่ได้ลงพื้นที่จริง แต่มอบหมายให้ชาวบ้านหรือชุมชนช่วยกันสร้างบ้านเอง
3.โครงการบางส่วนซ้ำซ้อนกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่มีโครงการสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ หรือคนไร้ที่พึ่งเช่นกัน
นี่คือ 3 ข้อหาฉกรรจ์ที่ ป.ป.ท.เขต 9 ตั้งปมทุจริต แต่ทุกเรื่องย่อมมี 2 ด้านเสมอ ซึ่งที่ผ่านมายังแทบไม่มีการนำเสนอความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ พม.ที่ปฏิบัติงานในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และนิคมสร้างตนเอง ซึ่งวันนี้กลายเป็น "จำเลยสังคม" ถูกมองว่าโกงแบบเหมาเข่งไปแล้ว
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่ "นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์" อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นนิคมสร้างตนเองหนึ่งเดียวในจังหวัดนี้ และ "ผู้ปกครองนิคม" ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด เพิ่งถูกย้ายเข้ากรมฯ ทำให้เหลือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่เพียง 2 คน ทั้งคู่ยืนยันว่าทำหน้าที่อย่างโปร่งใส โดยเฉพาะโครงการสร้างและซ่อมแซมบ้านให้กับผู้มีรายได้โดย โดยพร้อมให้ตรวจสอบของจริงทุกหลัง
ไพฑูรย์ ชุดไธสง เจ้าพนักงานพัฒนาสังคมชำนาญงาน นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ ซึ่งขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองฯที่เพิ่งถูกย้ายเข้ากรมฯ บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ รับผิดชอบโครงการซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ จำนวน 649 หลัง หมู่บ้านละ 1 หลัง จาก 649 หมู่บ้านของ จ.ปัตตานี ตามหลักเกณฑ์ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กำหนดชี้เป้าให้นิคมสร้างตนเองฯ แต่กลุ่มเป้าหมายที่จะซ่อมบ้าน ได้ขอความร่วมมือกับกรมการปกครอง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอ เพื่อพิจารณากลุ่มเป้าหมายว่าครอบครัวไหนเหมาะสมที่จะได้รับความช่วยเหลือ
"ความคืบหน้าการดำเนินงานขณะนี้ เราเบิกจ่ายงบเข้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 374 หลัง คงเหลือ 275 หลัง ภายในเดือน มี.ค.นี้ต้องเร่งให้เสร็จตามที่กรมฯกำหนด แม้จะมีปัญหาอุปสรรคปัญหารอบด้าน แต่ก็จะพยายามขับเคลื่อนให้เสร็จ" ไพฑูรย์ บอก
เขาเล่าข้อมูลที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องประสบจากการทำงานในพื้นที่ที่มีปัญหาความรุนแรง
"บุคลากรเรามีจำกัด ปัจจุบันมีกันแค่ 2 คน ก็ไปด้วยกัน ไม่แบ่งพื้นที่กัน เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง เจ้าหน้าที่มี 2 คน พนักงานขับรถอีก 1 คน รวมเป็นมี 3 คน ไปไหนก็ไปด้วยกัน ส่วนใหญ่วันพุธกับพฤหัสฯ จะลงพื้นที่มอบพัสดุ ส่วนวันอื่นๆ ก็อยู่สำนักงาน ดูเอกสาร และใบสำคัญต่างๆ"
"ปัญหาในพื้นที่มีเยอะ ความปลอดภัยก็มีปัญหา สถานะของเราเหมือนบุคคลทั่วไป ลงไปทำงานก็ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ดูแล บางพื้นที่เป็นพื้นที่เสี่ยง ก็ไม่มีกำลังอารักขา ก็ต้องไปกันเอง แต่การทำงานของเราจะไม่ประสานกับฝ่ายกองกำลังในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย"
กับข่าวลบเรื่องการทุจริตที่ออกมา ไพฑูรย์ ขอร้องสังคมว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุป
"ภาพลบ ข่าวลบมันเร็วมาก ตกใจว่าทำไมมันเร็วขนาดนี้ อยากฝากด้วยว่าข่าวกระทรวง พม.ดังมาก ดังจริง ดังไปทั่วประเทศ แต่สิ่งไหน พื้นที่ไหน โครงการไหนที่ยังไม่สรุป อย่าเพิ่งไปออกข่าว ให้ถามผู้ปฏิบัติก่อน ถามเจ้าของบ้านก่อนว่าเราส่งเขาครบไหม อย่าเพิ่งฟังความข้างเดียว ถ้าอยากลงพื้นที่ ผมพร้อมครับ ลงไปดูได้ทุกหลังเลย ทั้ง 649 หลังที่เราทำ" ไพฑูรย์ กล่าว
มะรอซี นิกาเร็ง นักพัฒนาสังคมปฏิบัติการ หัวหน้าฝ่ายบริหาร นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ บุคลากรอีกหนึ่งเดียวที่ต้องทำงานร่วมกับไพฑูรย์ ชี้แจงข้อข้องใจของ ป.ป.ท.และสังคม เกี่ยวกับโครงการซ่อมบ้าน งบประมาณหลังละ 20,000 บาท
"เท่าที่เราไปตรวจสอบและส่งมอบวัสดุให้ชาวบ้าน ทุกอย่างก็เหมาะสมกับราคาที่กำหนดไว้ 20,000 บาท นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์พร้อมให้ตรวจสอบ เกือบทุกอำเภอเราลงไปสัมผัสหมดเลย ไปดูสภาพบ้าน ดูวัสดุที่รัฐส่งให้เจ้าของบ้าน ก็เหมาะสมและโอเคกับราคาที่ได้แต่ละหลัง 20,000 บาท ถ้าเยอะกว่านั้น ร้านที่ส่งของก็จะขาดทุน ถ้าเราดูสิ่งที่เราประสานกับอำเภอ ภาพหรือข่าวที่ปรากฏออกมาเป็นอะไรที่เร็วมาก แต่เราไม่ได้ทำงานแบบนี้ ก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมเวลาเป็นข่าวถึงออกมาอีกภาพหนึ่ง"
มะรอซี ยอมรับว่า ทราบข่าวเกี่ยวกับการทุจริต แต่เป็นเฉพาะบางพื้นที่บางจังหวัด จึงไม่ควรมองเป็นเหมาเข่ง
"ผมทราบเรื่องทุจริต เป็นของจังหวัดหนึ่ง มีลักษณะความพิเศษของพื้นที่ อาจจะไม่เหมือนกับพื้นที่อื่น สิ่งที่ปรากฏ ณ ตอนนี้คือ เขาอาจจะยังมองไม่ครบทุกประเด็น ไม่รอบด้านของปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่อยากพูดถึงเนื้อข่าวที่เป็นข่าว แต่อยากให้การนำเสนอให้ครอบคลุมทุกประเด็นด้วย ให้สอบถามตัวชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย และคนที่มีส่วนร่วมในการซ่อมบ้านว่าพอใจหรือไม่กับโครงการ"
"เรื่องวัสดุที่บอกว่าได้ไม่ครบ บางทีตอนประเมินราคา ไปประมาณการราคาต่ำเกินไป จึงต้องปรับยอดบางรายการ แต่ก็ได้บอกกับร้านจำหน่ายวัสดุให้ชี้แจงชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นให้เข้าใจว่าออกของได้ไม่ครบตามราคา 20,000 บาท เพราะตั้งราคาวัสดุแต่ละอย่างต่ำเกินไป ร้านส่งไม่ได้ ทั้งหมดที่ส่งเป็นเครดิตด้วย ไม่ใช่เงินสด"
ส่วนประเด็นที่ ป.ป.ท.อ้างว่าตั้งงบซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นของ กอ.รมน. ที่มีการทำโครงการลักษณะเดียวกันไปแล้วนั้น มะรอซี มีเหตุผลอธิบาย
"ที่ไปช่วยเหลือเพิ่มเติม แม้จะเคยได้รับงบจากหน่วยงานอื่น เราก็ไปดู และเห็นว่าเหมาะสม ถ้าเอาของนิคมฯไปช่วยอีก 20,000 บาท ก็จะได้บ้านที่ดึขึ้น เรามองแบบนั้น ไม่ได้มองเรื่องทับซ้อน เราช่วยเหลือเพื่อเติมเต็ม ต่อยอดให้ชาวบ้านคนนั้นให้มีบ้านที่สมบูรณ์ขึ้น มั่นคงแข็งแรงขึ้น ไม่ได้มองเรื่องทับซ้อน เราเชื่อในการตัดสินใจของพื้นที่ ของนายอำเภอ ปลัดอำเภอ เพราะเป็นคนเลือกเป้าหมาย"
มะรอซี บอกว่า รู้สึกท้อกับข่าวที่ออกมา แต่ยังไม่ถอย และคิดว่าเติมเต็มใหม่ได้
"พอปรากฏข่าวที่อาจจะมีด้านลบบ้าง ก็ธรรมดา กระทบจิตใจ กระทบความรู้สึก มันก็เกิดน้อยใจบ้าง หมดกำลังใจที่จะทำงานบ้าง แต่อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งดีๆ ที่เราทำทั้งหมดกับชุมชน ก็จะพยายามกระตุ้นให้เราทำงานต่อไปให้ได้ ยอมรับตรงๆ ว่า ณ ตอนนี้เจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม.หลายๆ คน รวมทั้งผมเองมีความรู้สึกน้อยใจ หมดกำลังใจที่จะทำงาน ทั้งที่หลายๆ โครงการที่เราทำ โดยเฉพาะซ่อมบ้าน ก็ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ลำบากจริงๆ ใช้จิตวิญญาณของข้าราชการที่มีอยู่ในการทำงานจริงๆ"
เป็นความรู้สึกจากหัวใจของเจ้าหน้าที พม.ในวันที่ตกเป็นจำเลยสังคม!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์
2 ไพฑูรย์ ชุดไธสง
3 มะรอซี นิกาเร็ง
อ่านประกอบ : เจาะทุจริต"งบช่วยคนจน"ชายแดนใต้...โกงนักเรียน-บ้านคนยากไร้-ถุงยังชีพ!