เปิด"เซฟเฮาส์"รับจำเลย"พักโทษ"คดีมั่นคง - "อักษรา"ปัดแขวะ จนท.จุดไฟใต้
สภาความมั่นคงแห่งชาติ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดทำ "บันทึกความเข้าใจ" หรือ เอ็มโอยู ระหว่างฝ่ายความมั่นคงของไทยและมาเลเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ และสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เปิด "เซฟเฮาส์" รองรับจำเลยคดีความมั่นคงที่ได้ "พักโทษ" แต่ยังไม่กล้ากลับบ้าน
พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 16 มี.ค.61 ว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. มีการประชุม "คณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-มาเลเซีย" หรือ "จีบีซี" และได้หารือกันในหลายประเด็นที่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม โดยจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน หรือ เอ็มโอยู ในเรื่องที่เป็นปัญหาระหว่างกันทั้งหมด ส่วนการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลุ่มก่อการร้ายไอเอสนั้น ไทยมีการแลกเปลี่ยนข่าวกรองด้านอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงเรื่องปัญหายาเสพติด และการค้ามนุษย์กับมาเลเซียอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาบุคคลสองสัญชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เริ่มมีการพูดคุยกันแล้ว โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำเอ็มโอยู และหาแนวทางที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน
สำหรับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความคืบหน้าเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งรัฐบาลไทยเปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้ชื่อว่า "มารา ปาตานี" ซึ่งก่อนหน้านี้ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการจัดตั้ง "พื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรก" หรือ "เซฟตี้โซน" และจะมีการเปิด "ศูนย์ประสานงาน" หรือ "เซฟเฮาส์" เพื่อให้คณะทำงานทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันด้วย โดย "ทีมข่าวอิศรา" ได้เคยรายงานไปแล้วว่า จะมีการใช้อาคารสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีหลังเก่า เป็น "เซฟเฮาส์"
ความคึบหน้าล่าสุด ปรากฏว่า "เซฟเฮาส์" แห่งนี้ จะไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ของการเป็น "ศูนย์ประสานงาน" ในการจัดตั้้ง "พื้นที่ปลอดภัย" เท่านั้้น แต่ยังจะเปิดพื้นที่รองรับผู้ต้องโทษคดีความมั่นคงที่ได้รับการ "พักโทษ" แต่ยังไม่สามารถกลับบ้านหรือภูมิลำเนาได้อีกด้วย
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้เรียกประชุมกรรมการและที่ปรึกษาของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อชี้แจงแนวทางการทำงานทั้ง 2 เรื่อง เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มี.ค.61 ผลการประชุมสรุปว่า คณะกรรมการอิสลามฯ ยินดีจัดพื้นที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เพื่อเตรียมการสำหรับเป็นศูนย์ประสานงานการพูดคุยเพื่อสันติสุข ระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างจากรัฐ แต่เน้นย้ำว่าทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีบทบาทเพียงจัดสถานที่ให้เท่านั้น
ประเด็นที่ 2 คือ การจัดพื้นที่ "เซฟเฮาส์" ให้กับผู้ต้องโทษคดีความมั่นคงที่ได้รับการ "พักโทษ" จำนวน 3 รายด้วย (หมายถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง และศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่ได้รับการพักโทษตามเงื่อนไขที่กำหนด) โดยในจำนวนี้มี 2 รายมาจาก จ.นราธิวาส ส่วนอีก 1 รายมาจาก จ.ยะลา เนื่องจากทั้ง 3 คนยังไม่กล้ากลับภูมืลำเนา ทางคณะกรรมการอิสลามฯ จึงจัดสถานที่เพื่อเป็นพื้นที่พักโทษให้กับคนเหล่านี้ โดยจะพักประมาณ 7-8 เดือน และรัฐจะนำร่องโครงการนี้ที่ จ.ปัตตานี
"เราจะอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต จัดสถานที่ สังเกตการณ์ และรักษาความปลอดภัยให้เขาทุกอย่าง" นายแวดือราแม ระบุ
เขาย้ำว่า การจัดสถานที่ให้กับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และตั้งเซฟเฮาส์ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีนี้ คณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการอิสลามฯ เห็นชอบเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐ โดยทางคณะกรรมการฯจะจัดเตรียมสถานี่และซ่อมแซมส่วนที่ยังไม่พร้อมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์
"เราได้ตั้งคณะกรรมการ 1 ชุดเพื่อสังเกตกาณ์การขับเคลือนงานทั้ง 2 ประเด็น เพื่อต้องการให้โครงการของรัฐประสบความสำเร็จ และเพื่อต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบสันติสุขยั่งยืนตลอดไป"
เรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ช่วงนี้มีข่าวยุ่งๆ ออกมาเหมือนกัน โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มี.ค.61 พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงความคืบหน้าการทำงาน และมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า "ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้ใช้ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ก็เพราะเขาอยากจะคุย จึงใช้ความรุนแรงเป็นเงื่อนไขยื่นข้อเสนอต่อรองรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานที่แอบติดต่อผ่านตัวแทนแหล่งข่าวและมีแนวร่วมในพื้นที่ให้การสนับสนุนช่วยกันสร้างความรุนแรงแบบป่วนเมือง ขยายความขัดแย้งไปทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้"
ข้อความนี้ทำให้มีสื่อบางแขนงนำไปเสนอข่าวว่า พล.อ.อักษรา ตำหนิเจ้าหน้าที่รัฐที่มีบทบาทสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบให้ก่อความรุนแรงเสียเอง ซึ่งต่อมาในวันศุกร์ที่ 16 มี.ค. พล.อ.อักษรา ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ไม่ได้มีเจตนาตามที่เป็นข่าว เพราะเนื้อหาในส่วนนี้เป็นการพูดถึงปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทำให้การแก้ปัญหาชายแดนใต้ไม่มีความคืบหน้า
สำหรับสาระสำคัญของแถลงการณ์ฉบับล่าสุดของ พล.อ.อักษรา คือการชี้แจงความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยระบุว่ารัฐบาลสามารถดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เกือบร้อยละ 90 เข้ามาพูดคุยและร่วมกันสร้างสันติสุขด้วยการสร้างเซฟตี้โซน (พื้นที่ปลอดภัย) ที่ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับพื้นที่สาธารณะปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น หรือ Common Space สำหรับทุกคนที่ภาควิชาการมักถามหา และนี่คือเสียงเรียกร้องจากประชาชนอย่างแท้จริง
----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การประชุมของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี (ขอบคุณภาพจากคณะกรรมการอิสลามฯ)
2 พล.อ.อักษรา เกิดผล (ขอบคุณ ภาพจากสำนักงานเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ)