อย่าถามว่าโรงเรียนต้องการไหม...หัวอกครูใต้ในความอึมครึมของโครงการซีซีทีวีฉาว
ท่ามกลางความอึมครึมของการตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี บริเวณโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการ Safe Zone School งบประมาณ 577 ล้านบาท ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรากฏปากคำของครูที่ "ติดร่างแห" เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งสะท้อนความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้อย่างชัดเจน
เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา ยะลาเขต 1 จำนวน 2 คน และครูในพื้นที่เดียวกันอีก 1 คน ยอมให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" แต่ขอไม่เปิดเผยชื่อ นามสกุล และภาพถ่าย
ข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่และครูกลุ่มนี้ก็คือ เขตพื้นที่การศึกษาได้รับมอบหมายให้สำรวจประสิทธิภาพของกล้องซีซีทีวี ว่าจุดใดใช้งานได้ดีอยู่ และจุดใดที่ใช้การไม่ได้ โดยขอบเขตการตรวจสอบอยู่ที่ 112 โรงเรียนที่ติดตั้งกล้องในโครงการ
"สเปคที่โรงเรียนต้องการ กับกล้องที่เขาส่งมาให้ เหมือนกันหรือไม่ เรื่องนี้อย่าถามดีกว่า และอย่าถามว่าโรงเรียนต้องการไหม แต่ยืนยันว่าของได้รับหมดแล้ว และเรื่องก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว ในฐานะที่เราเป็นฝ่ายรัฐ เราก็ตรวจรับถูกต้องตามสเปคที่ สพฐ.ส่งมา คือเรื่องนี้เราบอกไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของระดับสูงที่เขายังมีการฟ้องร้องกัน สุดท้ายคงจบที่ศาล" เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 1 ระบุ
เจ้าหน้าที่และครูกลุ่มนี้ยังให้ข้อมูลว่า กล้องกว่าร้อยละ 90 ที่ใช้งานไม่ได้ จะอยู่ในพื้นที่นอกเมืองออกไป ส่วนในเขตเมืองสามารถใช้ได้ปกติ
"ตอนนี้เราสำรวจเพื่อซ่อมบำรุง เป็นการดำเนินการก่อนที่ ผอ.เขตจะถูกสั่งย้ายไปทั้ง 3 เขต (ของ จ.ยะลา) เมื่อต้นเดือนกับปลายเดือนที่แล้ว จากนั้นก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเพิ่มเติม ผลการสำรวจที่ผ่านมา บางโรงเรียนกล้องก็ไม่ได้เสีย บางทีมันเสียเฉพาะตัวส่งภาพ ไม่ได้เสียทั้งชุด" พวกเขาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่และครูกลุ่มนี้ยังอธิบายตรงกันว่า ขั้นตอนปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อซ่อมแซมกล้องที่ใช้การไม่ได้ ส่วนคณะกรรมการตรวจรับกล้องจะมีทั้งระดับโรงเรียนและระดับเขต ในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษา จะแบ่งเป็นโซนในการตรวจรับ โดยการตรวจรับจะมีเจ้าหน้าที่ของเขตและโรงเรียนร่วมกันทำงาน และจะมีครูที่แบ่งเป็นโซนมาร่วมตรวจรับด้วย ที่สำคัญมีทหารเข้าร่วม ขณะที่ผลการสำรวจการใช้งานของกล้องจะสรุปอยางไร คณะกรรมการไม่สามารถตัดสินได้ เพราะเรื่องบางส่วนมีการฟ้องร้องกันไปแล้ว
"สิ่งที่เขตพื้นที่การศึกษาทำลงไป โรงเรียนทำลงไป เราไม่มีส่วนได้รับผลประโยชน์ เราก็ทำหน้าที่ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เขาจัดซื้อจัดจ้างไป ก็มีกระบวนการส่งมอบ ผอ.โรงเรียนก็เป็นกรรมการตรวจรับ ทหารก็ส่งผู้เชี่ยวชาญมา เราก็เห็นว่าขั้นตอนตรงนี้ครบ แต่ก็ไม่รู้ในส่วนปลีกย่อย"
นี่คือบางส่วนเสี้ยวจากความอึมครึมของโครงการ...
ด้านผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.เมืองยะลา ให้ข้อมูลตรงกับประเด็นที่สำนักข่าวอิศรารายงานไปก่อนหน้านี้ คือ สพฐ.ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งงบซ่อมแซมเอง และบางส่วนโรงเรียนก็รับผิดชอบ
"กล้องบางตัวที่เสียและสามารถซ่อม ก็นำมาใช้งานต่อ โรงเรียนก็ซ่อมแซม ตอนนี้จึงไม่มีกล้องไหนที่เสีย เพราะเราแต่งตั้งครูที่ชำนาญเฉพาะด้านมาดูแล" ผอ.โรงเรียนใน จ.ยะลา กล่าว
ส่วนประเด็นคณะกรรมการตรวจรับกล้อง ผอ.โรงเรียนคนนี้ให้ขัอมูลตรงกับเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา คือจะมีครูของโรงเรียนไปร่วมตรวจรับกับเจ้าหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งแบ่งเป็นโซนๆ แต่ปัญหาคือ คณะกรรมการตรวจรับไม่รู้จักสเปคกล้องที่แท้จริง
"งบประมาณเราก็ไม่รู้ เรารู้แค่ว่าราชการให้กล้องมาติดตั้งที่โรงเรียนของเรา เวลาช่างมาติดตั้ง เราก็รู้แค่นั้น ส่วนสเปคหรือรายละเอียดอะไรเราไม่มีความรู้เรื่องซีซีทีวี เรารู้ว่าได้มา 2 ตัว 3 ตัว 5 ตัว ถ้าติดตั้ง 6 ตัวก็ครบแล้ว มองด้วยตาครบ ส่วนสเปคเราไม่มีความรู้จริงๆ คือเดิมที่โรงเรียนก็มีกล้องอยู่แล้ว แต่ก็ได้มาอีกจากโครงการนี้ ก็เอามาตั้งคนละมุม เราตั้งไว้จุดสำคัญๆ คิดว่าเป็นทางเข้าออก หรือมุมอับที่เราดูไม่ทั่วถึง ก็ถือว่ามีประโยชน์มาก อย่างน้อยก็ได้เรื่องความปลอดภัย เพราะคนที่ลอบจะเข้ามา ถ้ารู้ว่าเรามีกล้องวงจรปิดก็คงคิดก่อนที่จะเข้า" ผอ.โรงเรียนใน จ.ยะลา กล่าว
ดูเหมือนโครงการติดตั้งซีซีทีวี Safe Zone School ซึ่งไม่ต่างอะไรกับละครชีวิตเรื่องยาว จะยังคงไม่จบง่ายๆ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : 6 ประเด็นกังขาโครงการ "ซีซีทีวี" โรงเรียนชายแดนใต้ 500 ล้าน!