'อภิสิทธิ์' ชี้ พลังสื่อโซเชียล สร้างสนามประลองพลังทางการเมืองรูปแบบใหม่
'อภิสิทธิ์' ชี้สื่อโซเชียลสร้างกระแสต่อสู้ทางการเมืองรูปแบบใหม่ 'ปริญญา' แจง ไทยเข้าสู่ยุค Smart Democracy แล้ว 'อธึกกิต' เชื่อ สังคมไทยไม่ยอมรับนายกฯคนนอก ด้าน 'ปราบ' วอนคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมทางการเมือง
เมื่อเวลา 9.00 น.ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ร่วมกับผู้บริหารการสื่อสารมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกล่าว (บสก.)รุ่นที่ 7 ได้จัดเสวนาในหัวข้อ 'พลังโซเชียล เปลี่ยนการเมืองไทย จริงหรือ?' โดยมีวิทยากรคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา “ใบตองแห้ง” และนายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ Rethink Thailand
โดยนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่าพลังโซเชียลนั้นสามารถเปลี่ยนการเมืองไทยได้ เพราะเรื่องของการเมืองเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่อิงกับข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับเพราฉะนั้นเมื่อรูปแบบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต้องเปลี่ยนไป ประเด็นก็คือเปลี่ยนไปในลักษณะไหน อะไรที่เป็นคุณ และอะไรที่เป็นโทษ 2 เรื่องสำคัญที่โซเชียลมีเดียมีผลกับการเมืองคือ 1. ช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง และ 2 ช่วงที่มีการเลือกตั้ง ถ้าหากดูข่าวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่กำหนดว่าอะไรอยู่ในกระแสก็คือสิ่งที่อยู่ในโซเชียล หลายๆครั้งสื่อหลักอย่างโทรทัศน์นั้นก็เอาสิ่งที่อยู่ในโซเชียลมาเล่น จนไม่แน่ใจว่าสื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลักอยู่หรือไม่หรือสื่อโซเชียลเป็นสื่อหลักไปแล้ว พอสื่อโซเชียลกลายมาเป็นสื่อหลักก็จะเห็นข้อเปลี่ยนแปลงมากมาย สื่อโซเชียลนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าและง่ายกว่าแต่ก่อนที่ต้องอาศัยสื่อหลัก เช่นกรณีการล่าเสือดำ นาฬิกา พวกนี้ล้วนมีกลไกโซเชียลมีเดียผลักดัน และถ้าสื่อเหล่านี้ถูกใช้ในแง่ของการตรวจสอบก็ถือเป็นการสร้างพลังทางการเมืองที่สำคัญมาก
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่าสำหรับในส่วนของการเลือกตั้งมองว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งนี้ห่างจากการเลือกตั้งครั้งเก่า 6-7 ปี และมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ 6-7 ล้านคน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในหลายปีที่ผ่านมา ก็ทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นสนามต่อสู้ทางการเมือง เป็นที่ประลองสมรภูมิทางการเมืองในรูปแบบใหม่ ผู้มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งก็อาจจะใช้สื่อโซเชียลเป็นเวทีหาเสียงแทนที่จะเป็นเวทีหาเสียงแบบดั้งเดิมเพราะอาจจะมีผู้เข้ามารับชมมากกว่าไปปราศรัยบนเวทีแบบแต่ก่อน สำหรับความนิยมของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องยอมรับว่ากรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่สื่อโซเชียลมากระพือนั้นมีผลกระทบกับ คสช.อย่างมาก และก็กระทบกับความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยที่ต้องคิดว่าจะจบเรื่องนี้อย่างไร
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าในกรณีนายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้าไปล่าเสือดำก็เช่นกัน กระแสสังคมที่เรียกร้องให้ดำนเนิการกับเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาถูกจุดติดแล้ว เพราะทุกคนใช้พลังโซเชียลขับเคลื่อนและตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งจะส่งผลกดดันเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการกับกรณีนี้ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหลายการใช้สื่อโซเชียลก็มีหลายเรื่อง ต้องมีกระบวนการตรวจสอบไตร่ตรองก่อนที่จะแชร์ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาได้ อาทิข่าวเท็จหรือ Fake News จะมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งยังกระทบต่อเรื่องการทำผิดกฎหมายที่อาจจะง่ายขึ้นเพราะว่าเวลาคนพิมพ์อะไร ผู้มีอำนาจอาจจะมองว่านี่เป็นภายต่อความมั่นคงต่อรัฐได้
ทางด้านของนายปริญญากล่าวว่าในตอนนี้เราเข้าสู่ยุคสมัยที่ 4 ของอารยธรรมของมนุษยชาติ นับตั้งแต่ที่เราเรียนรู้ที่จะประดิษฐ์เคียว คันไถ ทุกอย่างก็คือนวัตกรรมทั้งนั้น ในสมัยก่อนเวลาเราแก้งานเราต้องใช้พิมพ์ดีดแก้งานก็ต้องแก้ทีละหน้า ในตอนนี้เรามีคอมพิวเตอร์แล้วสามารถแก้งานส่งไฟล์ได้ง่ายนิดเดียว ในตอนนี้เราก็มีไอโฟน เปิดปุ๊บเข้าเน็ตได้ทันที สามารถออนไลน์ได้ตลอดเวลา การเกิดขึ้นของไอโฟนถือเป็นการเริ่มต้นยุค 4.0 อย่างแท้จริงเพราะเราทุกคนเชื่อมต่อตลอดเวลา ทุกวันนี้มีเงินแค่สองพันบาทก็สามารถจะมีมือถือที่เล่นเน็ตได้แล้ว ในทุกวันนี้เฟสบุ๊คเกิดขึ้นมา ทุกคนก็สามารถเป็นสื่อได้หมด ถ้าหากเฟสบุ๊คปล่อยไลฟ์ตั้งแต่ 4-5 ปีก่อนเรื่องดิจิตัลทีวีนั้นคงมีการประมูลน้อยกว่านี้มาก และมีช่องทีวีดิจิตัลน้อยกว่านี้มากเช่นกัน เพราะว่าทุกคนคงไปมองที่ช่องเฟสบุ๊คไลฟ์กันมากกว่า แม้กระทั่งช่องโทรทัศน์ที่มาทำรายการในวันนี้ ต่างก็มีเฟสบุ๊คไลฟ์ของตัวเองทั้งนั้น สมาร์ทโฟนของเราก็เปรียบเสมือนกล้องโทรทัศน์ที่เคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การทำผิดในสังคมนั้นน้อยลงกว่าแต่ก่อนเพราะต้องระวังตัวกันมากขึ้น นักการเมืองเองก็ต้องระวังตัวกันมากขึ้นเช่นกัน
นายปริญญากล่าวต่อว่าในแง่ของประชาธิปไตยนั้นสื่อโซเชียลมีผลทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค Smart Democracy ทำให้พรรคการเมืองมีความสำคัญน้อยลง เพราะกว่าพรรคการเมืองจะได้รับการเลือกตั้ง และนำเอาความเห็นของประชาชนมาเป็นนโยบายนั้น ก็ใช้เวลานาน แต่อย่างไรก็ตามสื่อโซเชียลจะทำให้ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยโดยตรงของทุกคนอีกครั้งหนึ่งเพราะทุกคนสามารถมีส่วนร่วมมากขึ้น และในทุกวันนี้การจะมาชุมนุมด้วยคนนับแสน ก็ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก
นายปริญญากล่าวต่อถึงเรื่อง Smart Democracy ว่าประชาธิปไตยนั้นต้องมีสื่อมวลชนที่เป็นอิสระ มีฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีในระบอบที่มีมาตรา 44 ระบบการตรวจสอบก็เหมือนกับการไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจโรคว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง ซึ่งผู้ที่ไปตรวจก็จะมีสุขภาพดี อายุยืนกว่าคนที่ไม่ได้ไปตรวจร่างกายมาก การมีสื่อโซเชียลนั้นทำให้เกิดการตั้งคำถามและการตรวจสอบทางสังคมได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมากผ่านการทำ Crowdsourcing ที่ทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแชร์ข้อมูลต่อกัน สำหรับตนมองว่าจุดเสื่อมของคสช. มี 3 เรื่อง 1.คือกรณีนักเรียนเตรียมทหารที่ถูกซ้อมจนเสียชีวิต 2. กรณีนาฬิกาข้อมือของ พล.อ.ประวิตร และ 3. กรณีการขยับการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้ายิ่งขยับการเลือกตั้งออกไป ซื่อโซเชียลก็จะยิ่งวิจารณ์หนักขึ้น
ด้านนายอธึกกิตกล่าวว่าถ้ายกตัวอย่างกรณีสื่อโซเชียล กับนายเปรมชัย จะเห็นว่าพอถ่ายรูปปุ๊บก็เผยแพร่ได้ว่านายเปรมชัยล่าสัตว์ ไม่ต้องล้างรูปลงข่าวหนังสือพิมพ์ ในสังคมปัจจุบันนั้น พอมีประเด็นอะไรเกิดขึ้นมา สื่อโซเชียลก็จะลงไปจี้ให้ขยี้ประเด็นนั้นต่อไป อาทิกรณีวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเป็นต้น สำหรับในกรณีสื่อโซเชียลกับการเมืองนั้น ตนเชื่อว่าสื่อโซเชียลจะทำให้เกิดกระแสการไม่ไว้วางใจอำนาจเชิงระบบของรัฐ และสิ่งนี้ก็จะส่งผลทำให้สังคมไทยไม่ยอมรับการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ขณะที่นายปราบกล่าวว่าแม้ว่ากระแสโซเชียลจะเกิดขึ้นมา แต่ก็เป็นกระแสเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่ใช่กระแสหลักเพราะคนรุ่นใหม่ที่สร้างกระแสยังไม่ก้าวเข้ามาสู่วงการการเมือง การจะทำให้เป็นกระแสหลักนั้นจะคนรุ่นใหม่จะต้องก้าวเข้ามามีบทบาทเข้ามาด้วย ปัญหาการทุจริตในประเทศไทยนั้นแทนที่จะใช้วิธีการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ กลับเอาทหารเข้ามาแก้ปัญหาทุจริต ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นตนขอพูดว่าถ้าหากทำไม่ได้ก็ออกไปแล้วให้คนรุ่นใหม่เขาเข้ามาแก้ไขปัญหาดีกว่าไหม ต้องขอย้ำว่าการแก้ปัญหาของประเทศไทยนั้นต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาพูดคุยและแก้ปัญหาให้มากขึ้นมากกว่านี้ด้วย