เปิด3กรณีศึกษาคดีทุจริตป.ป.ช.-วิบากกรรมผอ.สำนักงานพุทธมณฑล ตั้งร้านค้า-วินมอไซต์เถื่อน
เปิดบทสรุป 3 คดี ป.ป.ช.เชือด 'อดีตปธ.อบต.ในจว.อุบล' ยักยอกโครงการช่วยเกษตรกร โดนโทษจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา 'สารวัตรกำนันตำบลเขาขาว จว.ตรัง เบียดบังเงินคนยากจนเข้ากระเป๋า รอลงอาญา 'ผอ.สำนักงานพุทธมณฑล' ตั้งร้านค้า-วินมอเตอร์ไซต์โดยมิได้รับอนุญาต เจอลดเงินเดือน 1 ขั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลคดีการปลอมแปลงแก้ไขใบเสร็จรับเงินของคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการรักษาตัวในโรงพยาบาลเทศบาลเชียงใหม่ และทำสำเนาใบเสร็จรับเงินใหม่ให้มีจำนวนเงินต่างกัน เพื่อนำเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้น ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ของ พนักงานธุรการ 4 สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ถึง 37 ครั้ง มานำเสนอที่เป็นอุทาหรณ์สอนใจ คนที่มีความคิดจะกระทำความผิดในลักษณะนี้ไปแล้ว ว่า บทลงโทษสำหรับพฤติการณ์การกระทำความผิดลักษณะนี้ มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากถูกไล่ออกจากราชการแล้ว ยังต้องรับโทษจำคุกเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 50 ปี พร้อมปรับเงินตามจำนวนความผิดที่กระทำลงไปด้วย (อ่านประกอบ : ปลอมใบเสร็จคนไข้ยักยอกเงิน37ครั้ง! กรณีศึกษาคดีทุจริต พนง.รพ.เทศบาลเชียงใหม่-คุก50ปี)
คราวนี้ มาลองดูบทสรุปที่เกี่ยวข้องกับคดีเกี่ยวกับการยักยอกเงินในโครงการช่วยเหลือเกษตรกร, เบียดบังเงินคนยากจน, การได้รับประโยชน์จากจัดตั้งร้านค้าของคนในสำนักงานพุทธมณฑล รวมไปถึงจัดคิวรถจักรยานต์รับจ้างโดยมิได้รับอนุญาตกันบ้าง
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลคดีทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า มีการเผยแพร่คดีของ นายบุญสอน ยานุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหาร ส่วนตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กับพวก เอาไว้
ระบุพฤติการณ์ความผิด ฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการ กรณีอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้กับตัวแทนมูลนิธิเกษตรกรไทย สาขาอุบลราชธานี ที่ขอเงินอุดหนุน จากราชการตามโครงการจัดทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ และโครงการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์โค - กระบือ รวม 3,000,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาตำบลคันไร่ โดยสั่งจ่ายเช็คไม่ขีดคร่อม ให้กับตัวแทนของมูลนิธิฯ แล้วนำเงินไปเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ เพื่อให้การสั่งจ่ายเงินอยู่ในอำนาจของตน โดยไม่นำเข้าบัญชีมูลนิธิเกษตรกรไทย และไม่นำเงินที่เบิกจ่ายไปดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 53/2550 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และส่งเรื่องให้สถานีตำรวจภูธรสิรินธรดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 6 ซึ่งสถานีตำรวจภูธรสิรินธรได้ส่งหนังสือดังกล่าวให้กับสถานีตำรวจภูธรคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการ เนื่องจากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่เขตอำนาจ การสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรคันไร่
ขณะที่ สถานีตำรวจภูธรคันไร่ ได้มีหนังสือที่ ตช 0018.(อบ)(36).3/116 ลงวันที่ 24 มกราคม 2560 แจ้งผลการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และผลคดีอาญาดังกล่าว ว่า ศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีคำพิพากษาตัดสิน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 จำเลยที่ 1 - 3 มีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 157 จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา ตามเลขคดีแดงที่ 3469/54 เลขคดีดำที่ 593/54
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 883 - 54/2560 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 มีมติรับทราบผลการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีคดีเกี่ยวกับ นายวิชัย รองวัง สารวัตรกำนันตำบลเขาขาว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ที่ถูกชี้มูลความผิด กระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่รับเงินตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแล้วไม่นำส่งเข้าบัญชีกองทุน กข.คจ. กลับเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
กล่าวคือ นายวิชัย รองวัง สารวัตรกำนัน ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโครงการ กข.คจ. ได้รับเงินใช้คืนเงินยืมที่ครัวเรือนยากจนส่งใช้คืนกองทุน กข.คจ. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 – 2544 แล้วไม่นำเงินคืนเข้ากองทุน กข.คจ. บัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาห้วยยอด เป็นเงิน 92,210 บาท กลับเบียดบังเงินนั้นไปเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
เบื้องต้น หนังสือศาลากลางจังหวัดตรัง ลับ ที่ ตง 0017.1/353 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 แจ้งว่าได้ให้ นายวิชัย รองวัง ออกจากตำแหน่งสารวัตรกำนัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ตามคำสั่งจังหวัดตรังที่ 1955/2546 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546
หนังสือสถานีตำรวจภูธรห้วยยอด ที่ ตช.0024(ตง).5(19)(3)/395 ลงวันที่ 30 มกราคม 2558 พนักงานสอบสวนแจ้งว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลจังหวัดตรังได้พิพากษาจำคุก 3 ปี ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี ตามหนังสือ ที่ อส 0037(ตง)/1468 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2553
และกรณี นายอำนาจ บัวศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพุทธมณฑล สังกัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีการถูกสอบสวนหลายประเด็น แต่มีความผิดใน 2 ประเด็น คือ 1.จัดตั้งร้านค้าในสำนักงานพุทธมณฑล และจัดคิวรถจักรยานต์รับจ้าง โดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพุทธมณฑล โดยผู้ถูกกล่าวหาได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว และ 2. ทำการจำหน่ายภาพถ่ายพระธาตุเขี้ยวแก้ว และให้บุคคลภายนอกจัดสร้างและจำหน่ายวัตถุมงคงที่เรียกว่า พระอรหันต์ธาตุ โดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพุทธมณฑล และไม่นำเงินรายได้เข้ากองทุนพุทธมณฑล
เบื้องต้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหนังสือ ที่ พศ 0001/217 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2557 มีหนังสือแจ้งตอบกลับ ป.ป.ช. ว่า ได้ดำเนินการพิจารณาทางวินัยเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งได้มี คำสั่งที่ 293/2549 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549 ลงโทษลดขั้นเงินเดือน นายอำนาจ บัวศิริ จำนวน 1 ขั้น
ทั้ง 3 คดี ดังกล่าว ที่นำมาเสนอครั้งนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจ คนที่มีความคิดจะกระทำความผิดในลักษณะนี้ซ้ำรอยได้เป็นอย่างดี