- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ปลอมใบเสร็จคนไข้ยักยอกเงิน37ครั้ง! กรณีศึกษาคดีทุจริต พนง.รพ.เทศบาลเชียงใหม่-คุก50ปี
ปลอมใบเสร็จคนไข้ยักยอกเงิน37ครั้ง! กรณีศึกษาคดีทุจริต พนง.รพ.เทศบาลเชียงใหม่-คุก50ปี
"...ผลการพิจารณาคดีในชั้นศาล ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษนางนิภาธร ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 161 และ 352 ให้ลงโทษ มาตรา 147 บทหนักที่สุด ตามมาตรา 90 โดยเบียดบังเงินไปจำนวน 37 ครั้ง ลงโทษทุกกรรม ตามมาตรา 91 รวม 37 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน เป็นจำคุก 50 ปี 222 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงคงเหลือโทษจำคุก 50 ปี ตามมาตรา 91 (3) กับให้คืนเงินจำนวน 128,280 บาท แก่เทศบาลนครเชียงใหม่..."
การปลอมแปลงแก้ไขใบเสร็จรับเงินของคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการรักษาตัวในโรงพยาบาลเทศบาลเชียงใหม่ และทำสำเนาใบเสร็จรับเงินใหม่ให้มีจำนวนเงินต่างกัน เพื่อนำเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้น ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ของ พนักงานธุรการ 4 สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ถึง 37 ครั้ง นับเป็นหนึ่งในคดีสำคัญ ที่เป็นอุทาหรณ์สอนใจ คนที่มีความคิดจะกระทำความผิดในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี
เพราะบทลงโทษสำหรับพฤติการณ์การกระทำความผิดลักษณะนี้ นอกเหนือจากถูกไล่ออกจากราชการแล้ว ยังต้องรับโทษจำคุกเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 50 ปี พร้อมปรับเงินตามจำนวนความผิดที่กระทำลงไปด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลคดีทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า ได้มีการเผยแพร่มติการชี้มูลคดีทุจริต นางนิภาธร ประภาลักษณ์ อดีตพนักงานธุรการ 4 สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลเทศบาล นครเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ที่เสร็จสิ้นขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาลให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นทางการ
ระบุพฤติการณ์ความผิดว่า เป็นกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
กรณีปลอมแปลงแก้ไขใบเสร็จรับเงินต้นฉบับและสำเนาให้มีจำนวนเงินต่างกัน และแก้ไขรายชื่อผู้มารับบริการจากโรงพยาบาล แล้วนำเงินส่วนต่างไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นเหตุให้โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ได้รับความเสียหาย
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดคดีนี้เป็นทางการ ในการประชุมครั้งที่ 23/2551 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 มีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปให้นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ดำเนินการทางวินัย และส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ดำเนินการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 6
ขณะที่ เทศบาลนครเชียงใหม่ จะมีคำสั่งที่ 1707/2552 ลงวันที่ 23 กันยายน 2552 ไล่นางนิภาธร ประภาลักษณ์ ออกจากราชการ ตามมติป.ป.ช.
ส่วนผลการพิจารณาคดีในชั้นศาล ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษนางนิภาธร ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 161 และ 352 ให้ลงโทษ มาตรา 147 บทหนักที่สุด ตามมาตรา 90 โดยเบียดบังเงินไปจำนวน 37 ครั้ง ลงโทษทุกกรรม ตามมาตรา 91 รวม 37 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน เป็นจำคุก 50 ปี 222 เดือน
เมื่อรวมโทษทุกกระทงคงเหลือโทษจำคุก 50 ปี ตามมาตรา 91 (3) กับให้คืนเงินจำนวน 128,280 บาท แก่เทศบาลนครเชียงใหม่
ชะตากรรม ของ อดีตพนักงานธุรการ 4 สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รายนี้ ณ วันนี้ เป็นอย่างไร คงไม่ต้องพูดถึงอีก
คดีนี้ จึงนับเป็นกรณีศึกษาสำคัญของพนักงานเจ้าหน้าที่ข้าราชการทั่วไป ที่มีความคิดจะกระทำการทุจริตในลักษณะเดียวกัน ให้ยุติยกเลิกความคิดหรือกระทำการในลักษณะดังกล่าว
เพราะโทษทัณฑ์ ที่ได้รับจากกรณีนี้ รุนแรง และหนักหนาสาหัส ต่อผู้กระทำการทุจริตเป็นอย่างยิ่ง
นับเป็นอุทาหรณ์สอนใจ คนที่มีความคิดจะกระทำความผิดในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี