วงเสวนาฟันธงปรากฏการณ์หวย30ล้าน สะท้อนสังคมป่วย เสพหวยเกินขนาด
วงเสวนาฟันธงปรากฏการณ์หวย30ล้าน สะท้อนสังคมป่วย เสพหวยเกินขนาด ทั้งชุดเล็กชุดใหญ่ ยิ่งดราม่ายิ่งกระตุ้น อัยการชี้กระบวนการยุติธรรมกำลังถูกทดสอบ หากไม่โปร่งใสพังทั้งระบบ
วันที่ 16มีนาคม เวลา10.00น. ที่โรงแรมเอเชีย ในเวทีเสวนา“100 วันพันหวย30ล้าน สังคมไทยเรียนรู้อะไร” จัดโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลสำรวจการเล่นพนันในครึ่งปี 60 ที่ผ่านมา พบว่า มีคนเล่นหรือซื้อลอตเตอรี่ของรัฐบาลมากเป็นอันดับหนึ่งแซงหวยใต้ดินโดยคนซื้อลอตเตอรี่ของรัฐบาลมีกว่า21ล้าน โดยสำรวจจากประชากร อายุตั้งแต่15ปีขึ้นไป ปัจจัยที่ทำให้คนซื้อเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากจำนวนลอตเตอรี่ที่รัฐบาลเพิ่มปริมาณการผลิตออกมาจำหน่ายมากขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้การเข้าถึงได้ง่าย มีขายตลอดเวลา คนขายก็ชักชวนให้คนซื้อมากขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า หวยใบเดียวคนส่วนใหญ่ซื้อได้ในราคา80บาท แต่พอรวมชุดแล้วจะมีราคาที่แพงขึ้น พอถูกรางวัลที่1ก็กลายเป็นรางวัลใหญ่เงินจำนวนมาก
"สื่อมวลชนก็นำเสนอเรื่องนี้กลายเป็นข่าวหวือหวา ตรงนี้กลายเป็นการไปสร้างแรงกระตุ้นให้คนอยากซื้อเยอะๆ ซื้อเป็นชุด เป็นการสร้างแรงกระตุ้นโดยไม่ตั้งใจ"
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวถึงการเสพข่าวปัญหาสลาก30ล้านเจอข่าวนี้ทุกวัน ตอกย้ำเรื่องรางวัลมูลค่าสูง ย้ำเรื่องการเล่น สื่อนำเสนออย่างต่อเนื่อง ปรากฎการณ์นี้สะท้อนวันสังคมป่วย เสพหวยเกินขนาด ยิ่งดราม่ายิ่งกระตุ้น ซึ่งการนำเสนอควรจะให้ข้อคิดด้วยว่าโอกาสที่จะถูก30ล้านบาทยากมาก การที่คนหนึ่งได้30ล้านบาทนั่นหมายถึงว่าจะมีคนเสีย30ล้านบาทเช่นกัน เพราะเป็นการเล่นมีคนได้คนเสีย เงินรางวัลนี้ก็ไม่ใช่เงินที่มาจากรัฐบาล”
ขณะที่นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า หากมองปรากฎการณ์นี้ในมุมกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานหลายอย่าง มีการอ้างสิทธิและพยายามพิสูจน์ความจริง ทำให้เกิดเป็นจุดสนใจ สังคมอยากรู้ว่าใครโกหก ยิ่งมีกระบวนการยุติธรรมเข้าไปจัดฉาก พอเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ใครพวกมากบารมีมาก มีหน้าตาทางสังคม ก็ได้เปรียบ เพราะเป็นคนน่าเชื่อถือ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายก็เพี้ยน มาตรฐานทางสังคมหายไปเพราะขาดการดึงความเป็นเหตุผลออกมา
“ปรากฎการณ์หวย30ล้าน ทำให้เห็นว่าสังคมผิดปกติ มีการเอาชนะกัน เกิดการสร้างสถานการณ์หลายอย่าง และสังคมกำลังทดสอบประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม หากไม่โปร่งใสก็พังทั้งระบบ” นายปรเมศร์ กล่าว
นายกิตติพงษ์ สุทธิ ตัวแทนองค์กรผู้พิการและผู้ค้าสลาก กล่าวว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า อันดับแรก ปัญหาของการจัดการสลากในระบบปัจจุบัน ซื้อแล้วเกิดปัญหาต้องมาพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ ที่อาจนำไปเป็นข้ออ้างในการที่จะออกสลากออนไลน์ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาชีพผู้ขายสลากอย่างแน่นอน
ประเด็นที่สอง ปัญหาสลาก30ล้านบาทสะท้อนให้เห็นถึงการยึดการเสี่ยงโชคเป็นสรณะ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การสนุกสนานบันเทิง ตอกย้ำว่าคนไทยฝากความหวังไว้กับการเสี่ยงโชค หวังเปลี่ยนแปลงชีวิตเพียงแค่ข้ามคืน
ประเด็นที่สาม เราต้องถามตัวเองว่าชีวิตจะวนเวียนแต่กับเรื่องดราม่าของข่าวหรืออย่างไร การนำข้อเท็จจริงมาทำให้เกิดดราม่าเพื่อให้ถูกกับรสนิยมของคนไทย สะท้อนว่าสังคมไทยป่วย ทำไมเราไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากบทเรียนนี้ เราได้เรียนรู้อะไร แทนที่จะเสนอข่าวแบบหวือหวากลายเป็นดราม่าหน้าสื่อ เราควรมาดูว่าสังคมไทยป่วยแล้ว แต่ละวันก็มาลุ้นกันว่าฝ่ายไหนจะพลิกเกม สุดท้ายแล้วฝากถามสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าได้ทำอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้บ้าง
ขณะที่ นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า จากกรณีหวย30ล้านบาท ที่มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องนานเป็นเวลาร่วม100วัน นับว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะมุมมองที่ดูจากมูลค่าของเงิน ที่นำเสนออยู่เพียงมุมเดียว ผลที่ตามมาหลังจากนำเสนอข่าวหวย30ล้านบาท คือ คนซื้อลอตเตอร์รี่มากขึ้นโดยไม่สนใจว่าลอตเตอรี่จะขายถูกหรือแพง โดยเฉพาะหวยชุด การนำเสนอข่าวที่มีแต่มุมเดียว ไม่มีการชี้แนะว่าการซื้อลอตเตอรี่นั้นเป็นการพนันชนิดหนึ่ง จะทำให้เยาวชนรู้สึกว่าอยากซื้อลอตเตอรี่เพื่อเสี่ยงโชค สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นที่ ระบุว่า คนไทยมองว่าการพนันเสี่ยงโชคเป็นเรื่องปกติ เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้ตนเอง
“หากเราไม่เคยบอกกับเยาวชนที่เห็นการเล่นการพนันเป็นประจำในสังคม เยาวชนกลุ่มนี้จะเข้าสู่วงจรการพนันได้ง่ายโดยไม่รู้สึกผิด และมองว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องปกติ และจะห้ามได้ยาก จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลคสช.ว่า ไม่ควรที่จะแก้ปัญหาสลากแพงด้วยการพิมพ์สลากเพิ่ม หรือเพิ่มชนิดของลอตเตอร์รี่ รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่จะเป็นผู้พิมพ์สลากชุดเสียเอง การแก้ปัญหาสลากเกินราคาควรมีมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น ส่วนกองสลากนั้นมีเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ควรนำเงินก้อนนี้มารณรงค์ป้องกันเด็กเยาวชนเข้าสู่วงจรพนันอย่างจริงจัง และต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ” นายวิเชษฐ์ กล่าว