จเรตำรวจแห่งชาติลงพื้นที่สอบเรื่องร้องเรียน "โกงเบี้ยเลี้ยง ตชด."
ช่วงนี้มีข่าวจากชายแดนใต้ที่กลายเป็นข่าวดังระดับประเทศหลายข่าว ซึ่งไม่ใช่ข่าวความรุนแรง หนึ่งในนั้นคือการออกมาร้องเรียนของบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้องผ่านเพจเฟซบุ๊คชื่อดังว่าถูกโกงเบี้ยเลี้ยง
ก่อนหน้านี้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายนภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เคยออกมาชี้แจงแล้วว่าอาจเป็นความเข้าใจผิดจากการเปลี่ยนระบบเบิกจ่าย แต่กระแสก็ยังไม่จบ ทำให้ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มี.ค.61 พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางลงพื้นที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ค่ายพญาลิไท อ.เมือง จซยะลา เพื่อตรวจสอบข้อมูลการร้องเรียน ซึ่งเบื้องต้นยังไม่สรุปว่าเป็นการทุจริต หรือเป็นความเข้าใจผิดกันแน่ โดยทางจเรตำรวจแห่งชาติ ได้เรียกข้อมูลและคำชี้แจงจากทั้งสองฝ่าย ก่อนนำไปพิจารณาเพื่อสรุปอีกครั้ง
พล.ต.อ.สุชาติ ยังได้เรียก พ.ต.อ.บูรหัน ตานีเห็ง ผู้กำกับการ ตชด.44 นำข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณมารายงาน โดยให้ส่งข้อมูลเอกสารย้อนหลังตั้งแต่ปี 58 จากนั้นได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณและเบี้ยเสี่ยงภัยไปให้ข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) อ.เมือง จ.ยะลา รวม 8 นายเป็นตำรวจสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43, 44 และกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 447
พล.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะเอกสารมีเป็นจำนวนมาก หลังจากนี้จะมีการเชิญตัวเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก และได้แจ้งกับหัวหน้าหน่วย (พ.ต.อ.บูรหัน) ว่าให้เตรียมข้อมูลที่ต้องให้ตรวจสอบ แล้วนำข้อมูลของหน่วยหลักมาเทียบกัน
"เราต้องหาข้อเท็จจริงก่อนว่ามันเป็นไปตามที่เขาร้องเรียนหรือเปล่า จากนั้นก็จะสรุปความเห็นว่ามันมีมูลหรือไม่มีมูล ถ้ามีมูลควรจะทำอย่างไรต่อ เป็นการมีมูลที่เกี่ยวกับการทุจริตหรือไม่ทุจริต ถ้าทุจริตที่ผิดวินัย ก็จะดูว่าวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง เข้าข่ายคดีอาญาหรือไม่ ถ้าไม่มีมูล ควรจะยุติ หรือไม่ก็สืบสวนต่อ"
"แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขันนั้น อยู่ระหว่างการสอบเจ้าหน้าที่และการตรวจสอบข้อมูล อย่างเรื่องตัวเลขการโอนเงิน ดูได้ไม่ยาก เพราะเป็นการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่การบริหารค่าใช้จ่ายของแต่ละหน่วย จะใช้วิธีการบริหารค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เพราะมีภารกิจไม่เหมือนกัน บางทีหน่วยแม่จ่ายเป็นเงินรวมมา จากนั้นหน่วยในพื้นที่ที่มีภารกิจ มีโครงการ ก็แยกย่อยออกมา เราต้องมาดูว่าแผนการจ่าย ทั้งการโอนเงิน ช่องทาง มันก็มีหลายช่องทางอีก และจากหลายส่วน ทั้งกองบัญชาการของตำรวจเอง และ กอ.รมน. เงินมาจาก 3-4 ก้อน และแต่ละก้อนก็มีภารกิจต่างกัน" พล.ต.อ.สุชาติ ระบุ
จเรตำรวจแห่งชาติ ย้ำด้วยว่า ทั้งหมดต้องดูให้รอบคอบ เพราะ เป็นเรื่องเอกสาร ต้องตรงจให้ละเอียด ถ้าไม่ได้มีการทุจริตอะไร ก็จะได้ชี้แจงผู้ร้องเรียนให้เข้าใจ เพราะอาจเป็นความเข้าใจผิด ที่สำคัญต้องตอบสังคมให้ได้
พล.ต.อ.สุชาติ ยังยกตัวอย่างการจ่าย "เบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัย" จำนวน 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดได้เหมือนกัน คือแต่เดิมมีการแบ่งจ่าย 2 ส่วน คือแยกออกเป็นหน่วยปฏิบัติ หรือช่วยราชการนอกหน่วย กลุ่มนี้จะโอนให้ 2,500 บาทต่อเดือน คือทั้งก้อนเลย แต่พวกที่ปฏิบัติอยู่ในพื้นที่ ในหน่วย จะจ่ายให้ 2,000 บาท โดยจะโอนไปเข้าบัญชีเงินเดือนแต่ละเดือน ที่เหลืออีก 500 บาทจะโอนเข้าบัญชีงบดำเนินการ ซึ่งระบบนี้เริ่มใช้เมื่อเดือน ต.ค.60 เจ้าหน้าที่บางคนก็เข้าใจว่า เงินตัวเองหายไป แต่จริงๆ ก็ได้รับค่าเสี่ยงภัยครบตามกำหนด (2,500 บาทต่อเดือน)
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนโกงเบี้ยเลี้ยง ตชด.พร้อมเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง