สัตวแพทย์ชี้ ‘เซ็ทซีโร่’ กำจัดหมาจรจัด ไม่ช่วยแก้โรคพิษสุนัขบ้า
จนท.สำนักอนามัย กทม. เผยอดีตกรุงเทพฯ-ตจว. เคยใช้มาตรการ ‘เซ็ทซีโร่’ กำจัดหมาจรจัด ก่อนเปลี่ยนเป็น ‘ทำหมัน’ ระบุปัญหาไม่หมดไป เพราะยังมีการปล่อยเพิ่ม ด้านอดีตผู้ทรงคุณวุฒิฯ สถานเสาวภา ชี้ทำไปไม่ช่วยแก้โรคพิษสุนัขบ้า ยก ‘จีน’ เป็นตัวอย่าง
วันที่ 15 มี.ค. 2561 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา เรื่อง ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สพ.ญ.เบญจวรรณ สิชฌนาสัย ผอ.การสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยตอนหนึ่งถึงประเด็นการเซ็ทซีโร่ (Set Zero) กำจัดสุนัขจรจัดให้หมด ภายหลังเกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ว่า ถ้าเป็นคนที่มีอายุมาก ไม่ใช่เด็ก ๆ จะพบในอดีตมีการกำจัดสุนัขจรจัดมาก่อนแล้ว หรือหากเป็นต่างจังหวัด เมื่อถึงฤดูร้อน จะมีการเป่าลูกดอก แต่สุดท้าย จากการที่ตัวเองได้มานั่งทำงาน และดูตัวเลขเก่า ๆ ซึ่งช่วงนั้นเข้ามาในยุคกำลังเปลี่ยนจากการเลิกกำจัดสุนัข โดยเปลี่ยนมาทำหมันแทนนั้น
การไปเก็บตัวเลขเดิม ๆ ในอดีตมาดู พบว่า เคยมีการกำจัดสุนัขไปเท่าไหร่ เคยมีการสำรวจสุนัขเท่าไหร่ ยังคงมีอยู่เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าวิธีการกำจัดไม่จบ ถ้าไม่ได้มีการปล่อยเพิ่ม เหมือนประโยคที่พูดบ่อย ๆ ว่า ตุ่มที่รั่ว เติมน้ำไปเท่าไหร่ก็รั่ว หากยังไม่อุดรูรั่วนั้น ฉะนั้นปัญหาที่มีอยู่เยอะ หนึ่งในสาเหตุมาจากการเพิ่มจำนวน และเมื่อดูสถิติของกรุงเทพมหานคร มีการทำหมันในแต่ละปี 2-3 หมื่นตัว ฉะนั้นหากไม่มีการปล่อยสุนัขเพิ่ม ปัญหาสุนัขจรจัดต้องหมดไป ทั้งนี้ เห็นว่า วิธีเซ็ตซีโร่หรือวิธีใดวิธีหนึ่งไม่ใช่วิธีการที่เบ็ดเสร็จ
ขณะที่น.สพ.วีระ เทพสุเมธานนท์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒินายสัตวแพทย์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวเพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างการเซ็ตซีโร่กำจัดสุนัขจรจัดของประเทศจีนเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการกำจัดไปจำนวนหลายแสนตัว ปรากฎว่า วิธีการดังกล่าวไม่ได้ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าลดลง ดังนั้นจึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา