เจาะใจ ผู้ว่าฯ สตง.ป้ายแดง 'ประจักษ์ บุญยัง' แจงภารกิจตรวจเงินแผ่นดิน ยุค คสช.
"...ความหวังของประชาชนที่มีต่อ สตง.นั้น ก็เป็นหน้าที่ของ สตง.ที่ต้องทำให้ประชาชนหวังได้ แม้ว่ากฎหมายว่าด้วย สตง.ตัวใหม่นั้นเหมือนดูจะให้อำนาจในการตรวจสอบทุจริตน้อยลง เพราะยังมีการตีความข้อความในกฎหมาย สตง.ว่าหลักฐานอันควรเชื่อว่ากับพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริต อย่างไหนดูมีน้ำหนักมากกว่ากัน ของเดิมนั้นเขียนว่าพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริตจะมีน้ำหนักมากกว่า.."
ภายหลังจากที่ 'ประจักษ์ ษุญยัง' ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะมีคำถามตามมาว่าในยุคการบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น การเข้ามาทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุด ในองค์กรที่มีภารกิจหลักในการตรวจสอบปัญหาทุจริต การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากในยุคที่ผ่านมาหรือไม่ และที่สำคัญหลังจากที่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย สตง. ฉบับใหม่ออกมา การบริหาร สตง.จะมีความเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ 'ประจักษ์ บุญยัง' เพื่อเปิดใจอธิบายการบริหารงานของ สตง.ยุคใหม่ ภายใต้เงาของรัฐบาล คสช.ทั้งในแง่มุมของวิธีการบริหาร รวมไปถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ใน สตง. วาระ 6 ปี นับต่อจากนี้
-หน้าที่หลักของ สตง.หลังจากนี้
การดำเนินงานตามนโยบายตรวจเงินแผ่นดินของ สตง.นั้น ยังคงมุ่งเน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ของการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานเป็นหลัก ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินว่ามีความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตามในขั้นตอนการทำงานจะมีการประสานงานไปยังหน่วยงานราชการที่ใช้จ่ายเงินนั้นด้วย ถ้าหากหน่วยงานราชการใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ต้องแจ้งตักเตือนให้เขาทราบก่อนและให้กำหนดเวลา เปิดโอกาสให้เขาชี้แจงและแก้ไขได้ด้วย ถ้าหากเขามีข้อสงสัยอะไรในเรื่องนโยบายการใช้จ่าย ทาง สตง.จะต้องเปิดช่องให้เขาเข้ามาถาม สตง.ว่าแบบนี้ทำได้หรือไม่ได้ ที่ผ่านมานั้นมีบางคำถามที่หน่วยงานราชการได้ส่งเรื่องมายัง สตง.แล้ว สตง.ก็อาจจะไม่ได้ตอบ ซึ่ง สตง.จะต้องมาปรับระบบโครงสร้างใหม่ให้สามารถตอบกลับไปยังหน่วยงานต้นเรื่องได้ภายในระยะเวลา 30 วันนับตั้งแต่ที่เขาส่งเรื่องมา
โดยการตรวจสอบความมีประสิทธิภาพของหน่วยงานนั้น สตง.ก็จะนำเอาไปเก็บไว้ในรายงานในเชิงบริหาร การบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพจริงๆแล้วมีหลายทาง หน่วยงานต้นเรื่องอาจจะเห็นไปทางหนึ่ง สตง.อาจจะเห็นไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันก็จะต้องไปอยู่ที่กระบวนการพูดคุยว่าจะทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาตรงนั้นได้
ทั้งนี้เมื่อ สตง.ไปตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่พบว่ามีการทุจริต สตง.ก็มีภาระจะต้องแจ้งกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัดในรูปแบบของรายงานด้วยว่าไม่พบข้อทุจริตอะไร
-ประชาชนยังคาดหวังกับงานของ สตง.ได้หรือไม่ ภายใต้กฎหมายใหม่
ความหวังของประชาชนที่มีต่อ สตง.นั้น ก็เป็นหน้าที่ของ สตง.ที่ต้องทำให้ประชาชนหวังได้ แม้ว่ากฎหมายว่าด้วย สตง.ตัวใหม่นั้นเหมือนดูจะให้อำนาจในการตรวจสอบทุจริตน้อยลง เพราะยังมีการตีความข้อความในกฎหมาย สตง.ว่าหลักฐานอันควรเชื่อว่ากับพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริต อย่างไหนดูมีน้ำหนักมากกว่ากัน ของเดิมนั้นเขียนว่าพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการทุจริตจะมีน้ำหนักมากกว่า ซึ่งทาง สตง.ก็ได้มีกระบวนการสอบปากคำ พยานหลักฐาน พยานบุคคล เขียนจนเชื่อได้ว่ามีการทุจริต และใครบ้างที่เกี่ยวกับการทุจริต แต่อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายใหม่นั้นเขียนว่าหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต ถ้าหากพบก็ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ต้องไปสอบสวนหรือทำสำนวน
-การบริหารของ สตง. ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับองค์กรอิสระอื่นๆ
ตามมาตรา 6 ของกฎหมายว่าด้วย สตง.นั้น มีการระบุโดยชัดเจนว่าถ้าหากเจอเรื่องที่มีความซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานอิสระ ก็ส่งผลทำให้ สตง.ต้องมาพูดคุยกับ ป.ป.ช.ว่า สตง.จะทำถึงไหนเพื่อให้ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ต่อ ซึ่งจากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ในส่วนหน้าที่ของ สตง.นั้น สมมติว่ามีผู้ทุจริตอยู่ 10 คน สตง.อาจจะชี้ว่ามีผู้ที่มีส่วนทุจริตจริงๆอยู่ 6 คน คนอื่นอาจเป็นส่วนประกอบ ซึ่ง สตง.จะทำสำนวนว่ามีใครทุจริต มีใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง แล้วจะส่งสำนวนไปให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป ขอเรียนว่าการทำหน้าที่ของ สตง.นั้นยังทำหน้าที่ในเชิงรุกอยู่เหมือนเดิม และทำหน้าที่ใกล้เคียงกับของเดิมที่เคยทำมา เพียงแต่จะไม่ใช่หน้าที่ สตง.แล้วที่จะไปชี้มูลว่าใครผิด
นอกจากนี้ยังมีบทบาทที่ต้องเปลี่ยนไปตามมาตรา7 ของกฎหมาย สตง.ที่ระบุว่าเมื่อ สตง.เข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีเรื่องที่เกี่ยวกับหน่วยงานอื่นๆเช่น ป.ป.ช. ,สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ให้ สตง.แจ้งไป ส่วนเหตุผลที่ต้องมี กกต.รวมอยู่ด้วยนั้นก็เป็นเพราะว่า ที่ผ่านมา สตง.เคยทักท้วงเรื่อง กกต.เกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดการเลือกตั้งมาก่อน
สำหรับการประสานงานกับกรรมการตรวจเงินแผ่นดินคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ต้องขอเรียนว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ใช่ว่าจะเออออกันไปหมด ปกติมีความเห็นแย้งบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุยกันด้วยเหตุและด้วยผลก็คงจะหาข้อยุติในองค์กรได้
-ความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการเงินยังเป็นไปด้วยดี ยกเว้นกับต่างประเทศ
ในส่วนของการร่วมมือระหว่าง สตง.กับหน่วยงานอื่นๆที่มีหน้าที่ตรวจสอบทางการเงิน อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกับธนาคารต่างๆนั้น ตรงนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามจะมีส่วนที่เป็นปัญหาอยู่บ้าง ก็คือการขอความร่วมมือไปยังต่างประเทศ เพราะทาง สตง.ยังไม่มีกรอบความร่วมมืออย่างเป็นทางการเหมือนกับทางสำนักอัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่ง สตง. ขอความร่วมมือไป เขาอาจจะให้หรืออาจจะไม่ให้ก็ได้
-ข้อวิจารณ์ว่า สตง.เป็นเครื่องมือฟอกขาวให้กับ คสช.
ส่วนกรณีที่มีการวิจารณ์ว่า สตง.ไปฟอกขาวให้กับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในหลายเรื่องนั้น ต้องขอชี้แจงจากการยึดข้อมูลที่มาจากการตรวจสอบก่อนว่าผลการตรวจสอบนั้นยึดโยงอยู่กับข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบก่อนว่ามันมีทั้ง 2 ด้าน ด้านแรกก็คือคือการประกาศออกไปว่ายังไม่รู้ว่าโครงการนี้ผิดหรือไม่ผิด และการประกาศออกไปว่าโครงการนี้ไม่ผิดหรือผิด สรุปก็คือการเผยแพร่ข้อมูลของ สตง.นั้นจะต้องยึดหลักของข้อเท็จจริงและตามหลักข้อมูลด้วยว่าออกมาในรูปแบบใด ไม่ใช่ว่าไปยึดตามกระแสสังคมว่าจะบอกว่าเขาผิดหรือเขาถูก ซึ่งนี่เป็นมาตรฐานของ สตง.ทั่วโลกที่ต้องยึดกับข้อมูล
------------------------
"...การทำงานของสตง.ยุคใหม่ ไม่ควรมีภาพเหมือนเดิม ว่าเราเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ แต่ทำอย่างไร ที่เราจะเป็นองค์กรที่ช่วยให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพถูกต้องโปร่งใส หน่วยงานราชการต่างๆ เวลามีปัญหาอะไรจะต้องเข้ามาถามมาปรึกษาเรา นั้นเป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเกิดขึ้นในขั้นตอนทำงานของสตง.นับจากนี้..."
-----------------------
-ต้องพิจารณาว่าจะรับเรื่องร้องเรียนอะไรบ้าง
ทั้งนี้มีประเด็นเรื่องทุจริตส่งมาให้ สตง.ตรวจสอบเป็นจำนวนมาก กรรมการบางคนก็เสนอว่าเรื่องร้องเรียนบางเรื่องไม่ต้องรับได้หรือไม่ แต่ว่ามันเป็นช่องทางหนึ่งในการรับรู้ว่าเกิดความผิดปกติอะไร ดังนั้นก็ควรจะต้องรับเพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบ แต่การรับเรื่องร้องเรียนแต่ละเรื่องนั้น ก็ต้องทำตามหลักเกณฑ์ด้วยว่าจะเข้าเกณฑ์ของ สตง.ที่จะรับไปตรวจสอบหรือไม่ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้นั้นทาง สตง.ก็จะเปิดโอกาสให้ประชาชนและเครือข่ายต่างๆมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย
-สิ่งที่จะปรับปรุงใหม่ ทั้งเว็บไซต์และรายงานประจำปี
สำหรับการรายงานข้อมูลที่ดำเนินการบนเว็บไซต์ของ สตง.นั้น ขอเรียนว่าจะมีการเพิ่มรายงานที่ได้ผลฤทธิ์ผลมากขึ้นด้วย อาจจะมีชื่อของคนที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ สตง.ได้เข้าไปตรวจสอบที่ถูกเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่เห็นว่าจะเกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง แต่อย่างไรก็ตาม จะเปิดเผยได้เท่าไร จะส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องกันหรือไม่ เรื่องนี้จะต้องหาแนวทางต่อไป เพราะกฎหมายนั้นมีพูดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลว่าคดีจะต้องสิ้นสุดแล้วเท่านั้น เพราะถ้าหากไปเปิดเผยข้อมูลโดยที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุดนั้น สุดท้ายแล้วคดีอาจจะเป็นแค่การเข้าใจผิดเท่านั้นก็ได้ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง
อีกสิ่งหนึ่งที่ สตง.มุ่งมั่นจะดำเนินการก็คือการทำรายงานประจำปีซึ่ง ที่ผ่านมา สตง.ยังไม่เคยมีการดำเนินการณ์มาก่อน โดยลักษณะของรายงานประจำปีนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูลปัญหาแต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวง กรมเพื่อจะนำมาดูว่าปัญหาการทุจริตนั้นเกิดจากอะไรบ้าง และนำมาเสนอแนะเพื่อดูว่าจะลดปัญหาการทุจริตได้อย่างไรบ้าง
"การทำงานของสตง.ยุคใหม่ ไม่ควรมีภาพเหมือนเดิม ว่าเราเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ แต่ทำอย่างไร ที่เราจะเป็นองค์กรที่ช่วยให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพถูกต้องโปร่งใส หน่วยงานราชการต่างๆ เวลามีปัญหาอะไรจะต้องเข้ามาถามมาปรึกษาเรา นั้นเป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเกิดขึ้นในขั้นตอนทำงานของสตง.นับจากนี้"
-จะมีผลงานตรวจสอบชิ้นโบว์แดงอะไรให้ประชาชนได้เห็นบ้าง?
"เชื่อผม ประชาชนจะได้เห็นผลงานชิ้นโบว์แดงแน่นอน ประชาชนยังฝากความหวังไว้กับสตง. ในการตรวจสอบดูแลรักษาเงินแผ่นดินได้อย่างแน่นอน"