กสทช. ยื่นอุทธรณ์สู้คดี ‘ไทยทีวี’ ยันไม่เห็นด้วยใน 3 ประเด็น
กสทช.ยื่นอุทธรณ์สู้คดีใน 30 วัน ไม่เห็นด้วยใน 3 ประเด็น หลังศาลปค.ตัดสินให้คืนเงินค้ำประกัน ‘ไทยทีวี’ ปมผิดสัญญา 'พ.อ.นที' เผยบอร์ด กสท.ยังไม่มีความเห็น หากผู้รับใบอนุญาตช่องอื่นจ้องคืนไลเซ่นส์
วันที่ 14 มี.ค. 2561 พันเอกนที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แถลงข่าวกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาตัดสินให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันงวดที่ 3 -6 รวมเป็นเงินกว่า 1.5 พันล้านบาท แก่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ในฐานดำเนินทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามสัญญา ณ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
พันเอกนที เปิดเผยว่า กสทช.น้อมรับในคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และยินดีจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ยังมีคำพิพากษาและข้อวินิจฉัยในบางส่วนที่เห็นแย้งทั้ งหมด 3 ประเด็น กล่าวคือ
1.คำวินิจฉัยศาลปกครองกลางระบุถึงการออกใบอนุญาตคดีนี้เป็นการอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการงาน (สัมปทาน) ในการจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐ ในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อันเป็นสาธารณะสมบัติของชาติและเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
ประธาน กสท. กล่าวยืนยันว่า กสทช.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ฉะนั้นการที่มีคำวินิฉัยดังกล่าวเท่ากับว่ากลับไปสู่ระบบสัญญาสัมปทาน ทั้งที่ได้พยายามมาเกือบ 20 ปี ดึงระบบสัญญาสัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาต เพื่อให้เกิดการให้บริการที่ดีกับประชาชน ดังนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
2.คำวินิจฉัยศาลปกครองระบุกสทช.ไม่ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือการเปลี่ยนผ่านระบบการรับโอนสัญญาวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และการขยายโครงข่ายเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงาน
พันเอกนที กล่าวว่า เป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากการขยายโครงข่ายก่อนที่จะมีการประมูล มีข้อกำหนดไว้ว่า ช่วงเริ่มต้นการออกอากาศ จะมีการขยายโครงข่ายครอบคลุมร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร
ออกอากาศครบ 1 ปี จะมีการขยายโครงข่ายครอบคลุมร้อยละ 80 ของจำนวนประชากร
ออกอากาศครบ 3 ปี จะมีการขยายโครงข่ายครอบคลุมร้อยละ 90 ของจำนวนประชากร
ออกอากาศครบ 4 ปี จะมีการขยายโครงข่ายครอบคลุมร้อยละ 95 ของจำนวนประชากร
“กสทช.มีหลักฐานชัดเจนว่าได้กำกับให้มีการขยายโครงข่ายให้เป็นไปตามประกาศข้อกำหนดทุกประการ มิฉะนั้นผู้ประกอบการกิจการจะล้มเหลวทุกราย” ประธาน กสท. กล่าว และว่าส่วนกรณีที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่ดำเนินการติดตั้งให้บริการโครงข่ายนั้น ยืนยันว่าไม่มีผู้ประกอบกิจการรายใดเลยที่ใช้บริการโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบ
ที่สำคัญ กสทช.ได้ลงโทษกรมประชาสัมพันธ์ตามอำนาจหน้าที่ในฐานไม่สามารถดำเนินการได้ตามประกาศกำหนดแล้ว และยืนยันว่า เรื่องการแจกคูปองล่าช้าไป 6 เดือนนั้น เป็นเรื่องปกติ เพราะ กสทช.ไม่สามารถแจกคูปองรับเครื่องรับดิจิทัลก่อนการขยายโครงข่ายได้ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทุกประเทศดำเนินการ
3.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 42 กำหนดให้เงินที่ได้จากการประมูลใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่ ต้องชำระเมื่อได้รับใบอนุญาต
พันเอกนที กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแล้วต้องชำระถ้าอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งความจริงแล้วการให้ชำระเป็นงวด ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกเท่านั้น เพราะตามกฎหมายแล้วผู้ประกอบการต้องชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ทั้งหมดเลย แต่ประเด็นนี้ศาลปกครองกลางไม่ได้พิจารณา ดังนั้นคิดว่าอาจมีความสับสนระหว่างค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่กับค่าธรรมเนียมรายปี
“กสทช.จำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน เนื่องจากมีบางประการขัดต่อหลักการใหญ่ที่เปลี่ยนผ่าน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรรม” ประธาน กสท. กล่าว
พันเอกนที กล่าวย้ำด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษาออกมา กสทช.ได้ส่งรายละเอียดทั้งหมดไปให้ศาลปกครองกลางแล้ว ส่วนจะพิจารณาอย่างไรนั้น น้อมรับ แต่ไม่เห็นด้วย จึงต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ การอนุญาตไม่ใช่การทำสัญญาให้ใครคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน กสทช. แต่กรณีนี้เป็นการให้ใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่เพื่อนำไปประกอบกิจการ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม
พร้อมกันนี้ ข้อกังวลว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลรายอื่นจะดำเนินการตาม ‘ไทยทีวี’ นั้น ประธาน กสท. กล่าวว่า ขณะนี้บอร์ด กสท.ยังไม่มีความเห็นใด ๆ เพิ่มเติม ต้องรอคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ก่อน .
อ่านประกอบ:ศาลปค.ให้ไทยทีวีบอกเลิกการเป็นผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลได้-กสทช.เล็งยื่นอุทธรณ์