เครือข่ายปชช.จี้กทม.-รฟม.ดูแลต้นไม้ตลอดแนวสร้างรฟฟ. วอนตัดให้ถูกวิธี รักษาปอดคนเมือง
เครือข่ายภาคประชาชนที่รักต้นไม้ ชี้กรณีตัดต้นไม้ใหญ่หน้าม.เกษตรผิดวิธี กระทบปอดใหญ่คนเมือง เสนอแนวทางแก้ปัญหาซ้ำซาก ด้าน'ศรีสุวรรณ'วอนอย่าทำแบบขอไปที เตรียมจับผิดรถไฟฟ้า 11 สาย พบตัดไม่ถูกหลักเตรียมฟ้องทันที
สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ตัดต้นไม้ริมถนนพหลโยธิน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จำนวน 14 ต้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตจตุจักร ว่าตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทอิตาเลียนไทยกำหนดว่า เมื่อจะทำการล้อมย้ายต้นไม้ใดๆ ออกจากพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เขตจะเป็นผู้พิจารณา สำรวจและเคลื่อนย้ายเอง โดยบริษัทจะต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าล้อมย้ายทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวระบุว่า กรณีดังกล่าวทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับบริษัทฯ เป็นเงิน 28,000 บาท ตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาด พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการตัดโค่นต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ หรือตัดต้นไม้ที่ทางราชการปลูกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท ซึ่งเมื่อวันที่ 5 มี.ค. บริษัทฯ ได้ชำระค่าปรับในส่วนนี้แล้ว พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความเสียหายต้นไม้ทั้ง 14 ต้น เพื่อให้บริษัทชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยคณะกรรมการได้ประเมินความเสียหายจากการวัดรอบโคนต้นไม้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 170,000 บาท ซึ่งเขตจะทำหนังสือแจ้งบริษัทฯ ให้มาชำระค่าเสียหายดังกล่าวภายใน 7 วัน
ทางด้านเครือข่ายภาคประชาชนที่รักต้นไม้ ประกอบด้วย เครือข่ายต้นไม้ในเมือง กลุ่มบิ๊กทรี กลุ่มจตุจักรโมเดล ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ม.เกษตรศาสตร์ และสมาคมต่อต้านสภาวะโลก ได้จัดเสวนา"ปกป้องต้นไม้ใหญ่” เมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 ที่ห้องวรรณไวยทยากร ตึกโดม ชั้น 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เครือข่ายภาคประชาชนที่รักต้นไม้ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ภาคประชาชนต้องยื่นต่อศาลปกครองเพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้รับเหมาหยุดการตัด การย้าย หรือการกระทำใดๆ ต่อต้นไม้ที่อยู่ในแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพมหานครรวม 11 สาย เนื่องจากเป็นการตัดและล้อมย้ายที่ผิดวิธี ซึ่งน่าจะกระทบต้นไม้เป็นหลักหมื่นต้น
“สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้คนกรุงเทพฯต้องสูญเสีย"ปอด"ของคนเมืองครั้งใหญ่ เพราะต้นไม้เป็นทั้งเรื่องฟอกอากาศและปรับอากาศให้กับเมือง ต้นไม้ใหญ่ที่หายไปเป็นจำนวนมากน่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก” ตัวแทนเครือข่ายระบุ และว่า ข้อมูลของกทม.ในหนังสือรายงานและแผนปฎิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 - 2555 หน้า 22 ระบุว่า ในปี 2549 มีต้นไม้ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านต้นในกทม. สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 แสนตันต่อปี ณ วันนี้ ตัวเลขในกทม.ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก แต่ทำไมคนกรุงเทพฯจึงต้องเลือกหรือแลก ทั้งที่เราสามารถมีได้ทั้งความเจริญจากรถไฟฟ้าและเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติจากต้นไม้ในเมือง โดยเฉพาะในภาวะที่มีมลภาวะทางอากาศหนาแน่นเช่นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาชนได้เสนอแนวทางที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหานี้ซ้ำซาก ได้แก่
1. ให้กทม. และรฟม. เปิดเผยต่อสาธารณะถึงข้อมูล จำนวนต้นไม้ที่ถูกผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสาย และแผนการดำเนินงานโดยละเอียด
2. ให้กำหนดมาตรการดูแลต้นไม้ที่ถูกผลกระทบในสัญญาการก่อสร้าง โดยมีการจัดตั้งตัวแทน 4 ฝ่าย เพื่อกำหนดวิธีปฎิบัติต่อต้นไม้ คือ 1) ตัวแทนจากกทม. 2) ตัวแทนจากรฟม. และบริษัทผู้รับเหมา 3) ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน และ 4) ตัวแทนภาควิชาการ เช่น นักวิชาการด้านการล้อมย้ายและดูแลต้นไม้ ฯลฯ มาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการจัดการต้นไม้และทางเท้าสาธารณะตามเส้นทางที่รถไฟฟ้าและการก่อสร้างอื่นที่มีผลกระทบเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการก่อสร้าง โดยให้การออกแบบและการควบคุมงานโดยภูมิสถาปนิกที่ได้รับความเห็นชอบจากสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย
3. ต้นไม้ที่ล้อมย้ายต้องได้รับการดูแลอย่างดี ถูกหลักวิชาการ รวมทั้งในบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะต้องมีการปลูกทดแทนต้นไม้ที่ถูกล้อมย้ายออกไป และหากไม่เป็นไปตาม 3 ประเด็นข้างต้นนี้ จะต้องมีบทลงโทษหน่วยงานที่ทำให้เกิดความเสียหายให้กับต้นไม้จากการก่อสร้างรถไฟฟ้า
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะแวดล้อม กล่าวว่า ถ้ากทม.ไม่ใช้มาตรการในเชิงวิชาการให้ชัดเจนในเรื่องของการตัดแต่งดูแลต้นไม้ หน่วยงานเอกชนก็จะลอกเลียนแบบ เนื่องจากหลายถนนในกรุงเทพฯ การตัดแต่งกิ่งต้นไม้ไม่เหมาะสม การตัดแบบขอไปทีหรือตัดแบบมีผลประโยชน์เพราต้องการกิ่งก้านเอาไปใช้ประโยชน์อื่นๆนั้นไม่สมควรจะมี
"ต้นไม้หลายต้นคือภาษีของประชาชน เพราะกรุงเทพมหานครคือคนปลูก เราไม่ได้ปฎิเสธเรื่องโครงการรถไฟฟ้า แต่เราห่วงเรื่องของต้นไม้ บางต้นไม่จำเป็นต้องรื้อย้าย แค่ตัดกิ่งก้านที่บดบังแนวก่อสร้างก็พอถ้าเรานำผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่เข้าใจบริบทต้นไม้ จะออกแบบและหลีกเลี่ยงต้นไม้เหล่านี้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ประเทศเราคงเป็นประเทศที่นำสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ลอกมาแล้วจบ เพราะไม่เคยทำอะไรสะท้อนมาให้เห็นถึงการอนุรักษ์"
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า จะยังคงติดตามและจับผิดรถไฟฟ้าทั้ง 11 สาย ทั้งของรฟม.และรฟท. ถ้ามีการตัดต้นไม้โดยไม่ถูกหลักวิชาการ ตนก็พร้อมที่จะดำเนินการฟ้องทันที