กรมปศุสัตว์ยันวัคซีนพิษสุนัขบ้าเพียงพอ-กรมส่งเสริมฯ อัดงบฯ 300 ล. อุดหนุน อปท. จัดซื้อ 10 ล.โด๊ส
กรมปศุสัตว์ยืนยันวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่ขาดแคลน -ปี 61 มี 3 บริษัทนำเข้า 10.2 ล้านโด๊ส ขณะอปท.จัดซื้อจัดจ้าง อยู่ระหว่างส่งมอบร้อยละ 50
วันที่ 13 มี.ค. 2561 กรมปศุสัตว์ จัดแถลงข่าวความคืบหน้าและมาตรการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ณ ห้อง 124 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัจจุบันหลังจากได้ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว 37 จังหวัด ตั้งแต่ ม.ค.-12 มี.ค. 61 ขณะนี้คงเหลือประกาศฯ 26 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งมีกระบวนการถอดถอนประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว หากพบระยะเวลา 30 วัน ไม่มีอุบัติการณ์โรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นมาอีก
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จะพบว่า สถานการณ์ไม่ได้รุนแรง แต่กลับลดลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 13 ราย ปี 2560 จำนวน 11 ราย และต้นปี 2561 จำนวน 4 ราย จะเห็นว่า ประชาชนเริ่มมีความตระหนักในเรื่องการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างดี
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงจำนวนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยยืนยันว่า มีวัคซีนเพียงพอต่อการป้องกันและควบคุมโรคในสุนัขและแมวที่มีอยู่ราว 10.3 ล้านตัว ซึ่งตามหลักการต้องมีวัคซีนร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรสัตว์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยมีวัคซีนจากบริษัทเอกชนที่นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายให้สถานพยาบาลต่าง ๆ จำนวน 7.8 ล้านโด๊ส/ปี และกรมปศุสัตว์จัดซื้อจำนวน 1 ล้านโด๊ส/ปี เพื่อใช้ในการฉีดควบคุมกรณีเกิดความเสี่ยงโรคระบาดในรัศมี 5 กิโลเมตร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราสอบถามถึงจำนวนบริษัทผู้นำเข้าวัคซีนในปี 2561 นายสัตวแพทย์อภัย ระบุว่า จากการสอบถามบริษัท ณ วันที่ 12 มี.ค. 2561 ปัจจุบันมีบริษัทนำเข้า 3 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท เมเรียล (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าวัคซีนยี่ห้อ Rebisin จำนวนทั้งปี 3.5 ล้านโด๊ส ปัจจุบันนำเข้ามาแล้ว 2 ล้านโด๊ส คงเหลือนำเข้า 1.5 ล้านโด๊ส
2. บริษัท โซเอทิส (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าวัคซีนยี่ห้อ Defensor จำนวนทั้งปี 3.5 ล้านโด๊ส ปัจจุบันนำเข้ามาแล้ว 2.4 ล้านโด๊ส คงเหลือนำเข้า 1.1 ล้านโด๊ส
3.บริษัทไบเออร์ไทย จำกัด นำเข้าวัคซีนยี่ห้อ Bayovac จำนวนทั้งปี 3.2 ล้านโด๊ส ปัจจุบันนำเข้ามาแล้ว 2 ล้านโด๊ส คงเหลือนำเข้า 1.2 ล้านโด๊ส
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยืนยันว่า ไม่ได้ล่าช้า เพราะอยู่ระหว่างการส่งมอบแล้วร้อยละ 50 และคาดว่าภายใน มี.ค. 2561 จะเกินร้อยละ 60 อย่างไรก็ตาม 3 เดือนหลังจากนี้ (มี.ค.-พ.ค. 2561) ทุกหน่วยงานจะช่วยกันรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทำหมันสุนัขจรจัดเป้าหมาย 2-3 แสนตัว/ปี อีกด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ระบุด้วยว่า เป้าหมายการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ปี 2561 กรมปศุสัตว์จัดซื้อวัคซีนพร้อมอุปกรณ์ในการฉีด จำนวน 1 ล้านโด๊ส งบประมาณ 24 ล้านบาท โดยเป็นเฉพาะค่าวัคซีน 15 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 15 บาท/โด๊ส
ขณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้กับ อปท.จัดซื้อวัคซีนพร้อมอุปกรณ์ในการฉีด จำนวน 10 ล้านโด๊ส งบประมาณ 311 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 30 บาท/โด๊ส .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เมื่อสตง. ถูกกล่าวหาเป็นต้นเหตุทำพิษสุนัขบ้าระบาด
อปท.เสนอแก้ระเบียบกองทุนสุขภาพตำบล เปิดช่องซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เกร็ดความรู้