ถึงเวลาทุกกระทรวงต้องแสดงผลงานปราบโกง
ข่าวโกงเงินทุนเพื่อการศึกษา 88 ล้านบาทในกระทรวงศึกษาฯ โดยข้าราชการ ซี 8 และพวก เป็นอีกคดีทุจริตของข้าราชการ เช่นเดียวกับกรณีดังอื่นๆ อย่าง กรณีเงินทอนวัด โกงเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง ป้าทุบรถไล่ตลาดเถื่อน โกงเงินสหกรณ์รถไฟ 2 พันล้านบาท ผอ.โรงเรียนรับแปะเจี๊ยะและกรณีกล้องวงจรปิดชายแดนใต้ 577 ล้านบาทผิดสเปค
แต่จากคดีทั้งหมดที่กล่าวมา มีกรณีโกงเงิน “กองทุนเสมาเพื่อพัฒนาชีวิต” เพียงคดีเดียวที่เป็นผลงานการตรวจจับและเปิดเผยสู่สาธารณะโดยหน่วยงานตรวจสอบของกระทรวงศึกษาฯ เอง พร้อมทั้งเร่งส่งเรื่องให้หน่วยงานอย่าง ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ง. ผลงานนี้จึงเป็นเรื่องน่าจับตาในประสิทธิภาพของหน่วยงานและความกล้าหาญของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างยิ่ง สมควรที่รัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ จะดำเนินการเช่นเดียวกันเพื่อสร้างผลงานให้ประชาชนประจักษ์ว่ารัฐบาลนี้จริงจังกับการปราบปรามคอร์รัปชัน
ทำความเข้าใจเพื่อหาทางเอาชนะ:
คดีโกงทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ทางวิชาการเรียกว่า “คอร์รัปชันในระบบราชการ” (Administrative Corruption) เป็นการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อาศัยอำนาจหรืออิทธิพลจากตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งอาจเป็นการฉ้อราษฎร์หรือบังหลวงก็ได้
พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากการด้อยประสิทธิภาพและล้าหลังของระบบราชการ บวกกับความสามารถของกลุ่มผลประโยชน์ในการเข้าถึงอำนาจ จนกลายเป็นตัวบ่อนทำลายศักดิ์ศรีของข้าราชการ ทำลายวงจรการทำงานและการพัฒนาของหน่วยงานตลอดเวลา (Werner. 1983)
มีทุกที่ มีมานานและมากขึ้น:
หากทบทวนข่าวย้อนหลังไปเราจะพบว่า มีการการโกงทำนองนี้ในทุกยุคสมัยและเกิดขึ้นทุกกระทรวง ส่วนมากโกงแบบทื่อๆ เช่น หักหัวคิว เงินทอน เรียกรับสินบน ปลอมแปลงข้อมูล แต่พฤติกรรมเหล่านี้ยากที่จะขุดรากถอนโคนหรือไล่จับ เพราะเขาทำกันจนดูเหมือนเป็นเรื่องปรกติ ส่วนมากทำเป็นขบวนการ มีการปกปิดช่วยเหลือแล้วแบ่งผลประโยชน์กัน หลายกรณียังมีข้าราชการระดับสูงร่วมด้วยหรือร่วมมือข้ามหน่วยงานก็มี บางกรณีก็เป็นเรื่องการสมประโยชน์กัน
ยังแก้ไขได้ ถ้าไม่มองข้ามปัญหา :
ประการแรก ต้องทำให้โปร่งใส เผยแพร่ข้อมูลให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้เห็น รัฐรู้อย่างไร ชาวบ้านรู้อย่างนั้น เขาจะได้มีส่วนร่วมเสนอแนะท้วงติงหรือเปิดโปงหากพบสิ่งผิดปรกติ ประการที่สอง ต้องทำงานตามมาตรฐานอย่างมืออาชีพ มีระเบียบกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ปล่อยให้มีการใช้ดุลยพินิจของบุคคลโดยไม่มีข้อกำหนด และต้องเปิดให้คนนอกเข้ามาตรวจสอบ ประการต่อมา ยุคนี้ 4.0 แล้ว ดังนั้นข้อมูลต่างๆ ควรเอาขึ้นอินเตอร์เน็ท การจ่ายเงินควรหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสด การรับเงินแทนกันหรือรับเป็นกลุ่มก็ทำให้ตรวจสอบยาก ที่สำคัญ ให้ถือปฏิบัติว่าหากความผิดถูกพบหรือเปิดโปงโดยบุคคลอื่น ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานต้องถูกลงโทษและร่วมชดใช้ความเสียหายด้วย เพื่อเป็นการบังคับให้ใส่ใจกำกับดูแลตามหน้าที่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/black/2015/02/19/entry-1