กยศ. ไกล่เกลี่ย นศ.เบี้ยวจ่ายเงินกู้เรียน - คาด ครม.ผ่านเงินกู้ กรอ.6พันล้าน 24 เม.ย.
ผู้จัดการ กยศ. เผยหนี้สะสมผู้กู้ยืมเรียนเกิน 5 ปีกว่า 2 พันล้าน เปิดไกล่เกลี่ย 28 เม.ย.-6 พ.ค คาด ครม.ผ่าน กรอ. 6 พันล้านทันเปิดภาคเรียน 55 ส่วนคดีมหาวิทยาลัยโกงเงินคืนแล้ว 80 ราย
วันที่ 23 เม.ย. 55 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ รศ.นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมด้วยนายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงข่าว “โครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดีปีงบประมาณ 2555”
รศ.นพ.ธาดา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้เกิน 5 งวดทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 109,697 ราย เป็นมูลหนี้ค้างชำระ 2,883 ล้านบาท แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 7,375 ราย ค้างชำระ 262 ล้านบาท ภาคอีสาน 38,042 ราย ค้างชำระ 799 ล้านบาท ภาคกลาง 22,068 ราย ค้างชำระ 574 ล้านบาท ภาคใต้ 18,094 ราย ค้างชำระ574 ล้านบาท ภาคเหนือ 12,351 ราย ค้างชำระ 363 ล้านบาท ภาคตะวันออก 7,061 ราย ค้างชำระ 186 ล้านบาท และภาคตะวันตก 4,602 ราย ค้างชำระ 121 ล้านบาท
กองทุนฯ จึงร่วมมือกับสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลแขวง และศาลจังหวัด จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินตามนโยบายรัฐบาลป้องกันการฟ้องคดีเกี่ยวกับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยได้ออกหนังสือเชิญผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้เกิน 5 งวดขึ้นไปรวมถึงผู้ค้ำประกันที่จะถูกดำเนินคดีในปี 55 กว่า 1 แสนราย ซึ่งต้องมาแสดงตนและเจรจาไกล่เกลี่ยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ผ่านเงื่อนไข 3 กรณี ดังนี้ 1.การทำหนังสือรับสภาพหนี้ เพื่อกลับสถานะเป็นผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ปกติ 2. การทำคำรับรองขอชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมด โดยกองทุนฯ จะลดค่าเบี้ยปรับให้ร้อยละ 80 และ3.การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยผ่อนชำระหนี้รายเดือนและรับลดค่าเบี้ยปรับให้ร้อยละ 50
ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวต่อว่า ผู้กู้ยืมสามารถเข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยฯ ได้ในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ศาลจังหวัดนคราชสีมา ศาลแขวงเชียงใหม่ ศาลแขวงขอนแก่น และศาลแขวงสงขลา ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-6 พ.ค. 55 ส่วนกรุงเทพฯ มี 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานกยศ. ชั้น 15 อาคาร 2 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระหว่างวันที่ 28 เม.ย. -3 พ.ค. 55 และศาลแพ่ง รัชดาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค. 55 โดยเตรียมเอกสาร ดังนี้ สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) และหนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน)
ส่วนการจัดตั้งกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) รศ.นพ.ธาดา เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า กรอ.เป็นกองทุนที่ปล่อยกู้ทุนในระดับอุดมศึกษาและประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) เท่านั้น โดยมีกรอบการใช้คืนตามศักยภาพของผู้กู้ยืม ซึ่งจะบัญญัติไว้ในระเบียบ กรอ. คาดว่าจะผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 24 เม.ย. นี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งกรอ.เสร็จไม่ทันปีการศึกษา 55
“ระเบียบ กรอ. จะสามารถใช้ได้ทันเปิดภาคเรียนการศึกษา 55 ซึ่งจะมีผู้กู้ยืมทั่วประเทศถึง 23,000 ราย วงเงินแรก 6 พันล้านบาท ภายหลัง ครม.ยุติการดำเนินการของ กรอ.ตั้งแต่ปี 52”
ทั้งนี้ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุมหาวิทยาลัย 32 แห่งโกงเงินกรอ.ตั้งแต่ปี 49 นั้น ข้อเท็จจริงพบว่ามีนักศึกษาเพียง 101 คนที่ค้างชำระเงิน ซึ่งขณะนี้มีกว่า 80 คนคืนเงินแล้ว ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาร่วมกันระหว่าง กรอ. สถาบันการศึกษา และผู้กู้ยืม
ด้านนายวิรัช กล่าวเสริมว่า โครงการดังกล่าวนอกจากเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันที่จะถูกดำเนินคดีในปี 55 มาติดต่อเพื่อขอชำระหนี้แล้ว ยังลดปริมาณคดีที่จะฟ้องในศาล และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน รวมถึงสร้างจิตสำนึกในการชำระหนี้ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 40,000 ราย ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ 100 ล้านบาท จากเดิม 500 ล้านบาท
ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สายใจกยศ. โทร 0-2610-4888