คุยกับสิโรตม์ จิระประยูร 'ผมเลิกอ่านหนังสือของหลายสำนักพิมพ์ สิ่งที่เจอ คือ ไม่พิถีพิถัน'
"...ทุกคนไม่เห็นความสำคัญ ที่มองว่าหนังสือเล่มกำลังจะถูกแทนที่ แต่ไม่มองว่า โดยพื้นฐานแล้วล้วนอยู่ที่หนังสือเล่ม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในตำรา แต่ทุกคนมองไม่เห็นภาพ มองจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือมองว่า wi fi ทั่วประเทศมีความสำคัญกว่าระบบหนังสือของชาติ..."
ภายใต้สถานการณ์วิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสารทยอยปิดตัว หนึ่งในห่วงโซ่ที่ได้รับผลกระทบ หนีไม่พ้น ‘ร้านจำหน่ายหนังสือ’ โดยเฉพาะรายเล็กที่ทยอยปิดตัวตามไปด้วย หลายแห่งจึงต้องหันมาปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
ร้านจำหน่ายหนังสือเล็ก ๆ จะอยู่รอดได้อย่างไร ในสถานการณ์เช่นนี้?
‘สิโรตม์ จิระประยูร’ ผู้บริหาร The Papersmith by The Booksmith ศูนย์การค้าเกษรพลาซ่า กรุงเทพฯ เริ่มต้นพูดคุยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ภาษาหนังสือของคนจำหน่ายหนังสือ จะเปรียบเทียบร้านหนังสือเป็นตลาดสด นิตยสารและหนังสือพิมพ์จึงเป็นเสมือน 'ผักสด' ขณะที่หนังสือเล่มเป็นเสมือน 'เนื้อหมู เนื้อวัว หรืออาหารทะเล' เรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมซึ่งกันและกัน
ในความเป็นจริงของคนทำหนังสือ จะพบว่า นิตยสารและหนังสือพิมพ์ไม่ได้เป็นรายได้หลักของร้านจำหน่ายหนังสือ แต่เป็นตัวที่ดึงคนเข้ามามากกว่า
แล้วรายได้หลักมาจากไหน ? เขาชี้ว่า รายได้หลักจากการจำหน่ายมาจากหนังสือเล่ม ซึ่งมีมูลค่าหนังสือสูงกว่าหนังสือพิมพ์ แต่หากขายหนังสือ 1 เล่ม จะได้กำไรเท่ากับขายหนังสือพิมพ์เป็นร้อยเล่ม
ฉะนั้นหนังสือพิมพ์และนิตยสารจึงเป็นเพียงตัวนำ 'ผักสด' เข้ามาเท่านั้น
“หนังสือพิมพ์ราคา10 บาท สมมติได้กำไรประมาณ 1 บาทกว่า/เล่ม ต้องขายถึง 10 เล่ม จึงจะได้กำไร 10 บาท”
สิโรตม์ อธิบายวิธีการจัดร้านจำหน่ายหนังสือให้ดึงดูดลูกค้า สังเกตได้ว่า ร้านหนังสือส่วนใหญ่จะนำแผงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ตั้งไว้หน้าร้าน เพราะปกนิตยสารจะมีความน่าสนใจ เรียกว่า มีความเคลื่อนไหว เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาในร้าน จะเดินและดูหนังสือไปด้วย
“ยุคหนึ่งร้านหนังสือต่างประเทศจะนำแผงนิตยสารมาตั้งไว้หลังร้าน เพื่อให้ลูกค้าเดินเข้ามา และกว่าจะเดินไปภายในร้าน ต้องผ่านหนังสือ ขากลับจะได้หยิบไปด้วย และแคชเชียร์จะตั้งอยู่ปากทางเข้า แต่ปัจจุบันการจัดร้านลักษณะนี้หายไปแล้ว ทำให้ลูกค้าเข้าร้านลดลง”
เมื่อลูกค้าเข้าร้านลดลง ย่อมมีผลต่อร้านจำหน่ายหนังสือ เขาบอกว่า ศัพท์ทางการค้าปลีก เรียกว่า “การเปลี่ยนลูกค้าเดินเข้าให้เป็นลูกค้าซื้อ”
อย่างไรก็ตาม ยืนยันตลาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิตยสารและหนังสือพิมพ์เท่านั้น เพราะข้อเท็จจริง ตลาดหลักขึ้นอยู่กับหนังสือเล่มด้วย
ทั้งนี้ เขายังมองว่า ปัจจุบันเหมือนเราโทษกันไปมา พอจำหน่ายหนังสือได้น้อยลง เราจะโทษเพราะอีบุ๊ก หรือขายหนังสือน้อยลง เราจะโทษนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ปิดตัว แต่เราไม่เคยโทษตัวเองว่าหนังสือที่ผลิตกันออกมาจำนวนมากนั้น พบว่ามีคุณภาพน้อยลง
อีบุ๊กยังน่าห่วงจะอยู่รอดหรือไม่ เพราะพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าสุดท้ายลูกค้ากลับมาอ่านหนังสือเล่ม เพราะเทรนด์เปลี่ยนไป นั่นจึงเป็นตัวสะท้อนกลับมาว่า ยอดจำหน่ายลดลง เพราะเราไม่ได้ปรับตัวพัฒนาคุณภาพการทำหนังสือที่ดีพอ
“ผมเลิกอ่านหนังสือของหลายสำนักพิมพ์ เพราะสิ่งที่เราเจอ คือ การไม่พิถีพิถันในคุณภาพมาตรฐาน เช่น พิมพ์ผิดหน้าเว้นหน้า หรือบางสำนักพิมพ์ที่เป็นหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ ไม่มีระบุบรรณานุกรม ไม่มีการอ้างอิง
ผมมองว่าเป็นไปไม่ได้ คุณเอาความรู้ข้อมูลมาจากไหน ทำให้เห็นว่า คุณรีบทำ แต่ขาดความละเอียด หนังสือที่สะกดผิด หรือข้อมูลผิด ผมว่าโดยคุณภาพ คนอ่านคิดได้ และวันหนึ่งจะไม่ซื้ออีกต่อไป”
เพราะฉะนั้นเราไม่เคยถามตนเองว่า เราทำหนังสือที่มีคุณภาพแย่ลงหรือไม่ แต่เรามักจะโทษอีบุ๊ก ซึ่งหากกลับไปดูสถิติ จะพบอีบุ๊กเมืองไทยไม่ได้ขายเยอะที่ขนาดมาดึงหนังสือเล่ม บอกว่าลูกค้าไปเล่นโซเซียล แต่ขณะเดียวกันลูกค้ายังต้องอ่าน ถามว่า ทำไมบางสำนักพิมพ์ทำหนังสือมีคุณภาพ ปกสวย ๆ เข้าเล่มดี ๆ แต่มีราคาแพง จึงขายหมด คนรออ่าน เพราะมีคุณภาพเป็นตัวมาตรฐาน
ถึงเวลาหรือไม่ ไทยต้องมี ‘ระบบหนังสือของชาติ’ สิโรตม์ตอบทันทีว่า เห็นด้วยอย่างมาก เพราะตัวเขาเองทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหนังสือไทยด้วย บางครั้งไม่ชอบใจสำนักพิมพ์ลดราคาเอง และยัง Pre sale ก่อนหนังสือจะวางจำหน่าย ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะมีร้านจำหน่ายหนังสือไว้ทำไม
หลายครั้งที่เจอ จะตัดสินใจไม่นำมาวางจำหน่ายในร้าน เพราะรู้สึกว่า สำนักพิมพ์ไม่ได้ทำหน้าที่ทำหนังสือที่ดีและรักษาคุณภาพ ส่วนหน้าที่จำหน่ายให้เป็นของร้าน แต่ปรากฎว่า สำนักพิมพ์มาทำ Pre sale ลด 15% แต่ให้ร้านค้าลดสูงสุดได้เพียง 25% เท่านั้น
สำนักพิมพ์ทำ Pre sale ไปแล้ว เท่ากับขายหน้าเค้กไปแล้ว ที่เหลือส่งมาให้สำนักพิมพ์จำหน่ายขาย
เรื่องส่วนลดเพื่อให้ร้านค้าอยู่ได้ สิโรตม์ยอมรับมีคำถามเสมอว่า สำนักพิมพ์ไทยต้องให้ส่วนลดที่ 25-30% ไม่เข้าใจทำไมให้เยอะกว่านี้ไม่ได้ เพื่อให้ร้านหนังสืออยู่ได้ ถามว่าทำไมสำนักพิมพ์ไม่ควบคุม ทำไมสำนักพิมพ์มาทำ Pre sale แน่นอน ทุกคนมองโอกาสบนออนไลน์ แต่ทุกคนไม่ได้มอง Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ทั้งนี้ เห็นด้วยประเทศไทยควรจะมีกฎหมายควบคุมราคาจำหน่ายหนังสือเช่นเดียวกับต่างประเทศควรจะมีกฎหมาย แต่สุดท้ายจะมีกฎหมายหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของสำนักพิมพ์
เขายกตัวอย่างร้านหนังสือที่ดำเนินกิจการอยู่ ไม่เคยลดราคาหนังสือเลย เพราะมองว่า คุณค่าของหนังสืออยู่ในเล่ม พอเราลดราคามาก ๆ ถามว่าลดเท่าไหร่จะไม่มีวันพอ ฉะนั้น หนทางการลดราคา จึงไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ขายหนังสือดีขึ้น จึงไม่เห็นว่าทำไมต้องรีบลดราคา โดยเฉพาะหนังสือใหม่ที่จะออกมา
“ผมนึกถึงตั้งแต่คนเขียน คุณไม่สงสารเขาเหรอ คนเขียนลำบากมาก กว่าจะเขียนต้นฉบับให้คุณอ่าน แล้วได้นิดเดียว ยังมาลดราคาหนังสืออีก ทางที่ดีต้องต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเองให้ดี คนเขียนทำหน้าที่คนเขียน สำนักพิมพ์ทำหน้าที่สำนักพิมพ์ คนขายทำหน้าที่คนขาย”
ระบบหนังสือของชาติไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลในฐานะผู้นำประเทศไม่ให้ความสำคัญหรือไม่นั้น สิโรตม์ เห็นว่า ทุกคนล้วนต่างเห็นความสำคัญของหนังสือ แต่ทุกคนมีความคิดไกลมากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมา พบว่า รัฐให้นโยบายจัดสรรงบประมาณในการซื้ออีบุ๊กมากกว่าหนังสือเล่ม เพราะความเชื่อว่าทิศทางจะไปทางนั้น
แต่โลกแห่งความเป็นจริงเราเป็นห่วงว่าอีบุ๊กกำลังจะตาย เราไม่ห่วงหนังสือเล่มเลย แต่เมื่อไปคุยบุคลากรของรัฐหรือผู้มีอำนาจ มักจะมองว่าธุรกิจหนังสือเล่มกำลังจะตาย ทุกคนไม่เห็นความสำคัญ ทุกคนมองว่าหนังสือเล่มกำลังจะถูกแทนที่ แต่ทุกคนไม่มองว่า โดยพื้นฐานแล้วล้วนอยู่ที่หนังสือเล่ม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในตำรา แต่ทุกคนมองไม่เห็นภาพ มองจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือมองว่า wi fi ทั่วประเทศมีความสำคัญกว่าระบบหนังสือของชาติ
ทุกคนอยากเป็น 4.0 แต่ทุกวันนี้จะเป็นแค่กระแส พอมีรัฐบาลใหม่เข้ามา เราจะเป็น 5.0 หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เราไปไกลมาก แต่เรื่องพื้นฐานเราสังเกตมักจะข้ามไป เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของโลก แต่มักทิ้งพื้นฐานของเรา เขาคิดว่าเป็นเรื่องไม่แปลก เพราะจากประสบการณ์ที่เคยพูดคุยกับระดับผู้บริหารองค์กรภาครัฐ ทุกคนมองว่าหนังสือกำลังจะตาย ทุกคนไม่มองความเป็นจริงว่าเป็นไปไม่ได้ และไม่ควรจะปล่อยให้เป็นไปได้ด้วย
และหากบอกว่าเมืองไทยจะไม่มีอินเตอร์เน็ต ทุกคนกลับยอมไม่ได้ ทางกลับกัน ถามว่าระหว่างอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านกับการมีห้องสมุดของหมู่บ้าน ที่ไม่ใช่เพิงหนังสือพิมพ์เก่า ๆ อะไรน่าจะสำคัญกว่ากัน
ท้ายที่สุด ระบบหนังสือของชาติจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่นั้น สิโรตม์ จิระประยูร เจ้าของร้านหนังสือ The Booksmith ให้ความเห็นทิ้งท้าย "ตอบจริง ๆ บางอย่างในประเทศไทย ถ้าหัวขยับ ทุกอย่างจะเร็วหมด ถ้าหัวไม่ขยับ สู้เป็นสิบปี ยี่สิบปี ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะตราบใดที่เป็นเรื่องสำคัญ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนไม่กี่คน ฉะนั้นอยู่ที่ว่าจะสนใจหรือไม่"