เปิดเอกสารลับ! เครือข่ายทุจริตงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนชายแดนใต้
หากพักข้อกล่าวหาฉกรรจ์ที่หน่วยเฉพาะกิจปัตตานีแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารและครูบางคนของโรงเรียนบากงพิทยา หรือ "ปอเนาะบากง" อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เอาไว้ก่อน เพราะเรื่องกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ประเด็นการตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการเบิกจ่ายงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เคยมีมาก่อนแล้ว โดยกระทรวงศึกษาธิการในยุค คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินการเรื่องนี้แบบ "เงียบๆ" มาอย่างต่อเนื่องหลายปี
สาเหตุที่พยายาม "ทำแบบเงียบๆ" ก็เพราะมีความอ่อนไหวสูง...
จากการตรวจสอบพบว่า มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาฯ นับร้อยแห่งที่แจ้ง "รายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อน" ทำให้ได้รับงบอุดหนุนฯเกินจริง จนทางกระทรวงฯ เรียกคืนงบอุดหนุน รวม 3 ปีงบประมาณ มากถึง 134 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมงบอุดหนุนเงินเดือนครู และเบี้ยเสี่ยงภัยอีกจำนวนมาก
หากย้อนดูข้อมูลที่ "ทีมข่าวอิศรา" เคยรายงานเอาไว้ จะพบว่าในปีงบประมาณ 2556 มีโรงเรียนเอกชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องคืนเงินอุดหนุนฯจำนวน 256 โรง จำนวนเงินทั้งสิ้น 43,300,000 บาท
ขณะที่ปีงบประมาณ 2557 มีโรงเรียนที่ต้องคืนเงินอุดหนุน 227 โรง จำนวนเงินที่ต้องส่งคืน 82,300,000 บาท รวมเพียง 2 งบประมาณ ยอดเงินเรียกคืนสูงถึงกว่า 125 ล้านบาท
ต่อมาในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงศึกษาธิการได้สรุปตัวเลขออกมาแล้วพบว่า มีโรงเรียนเอกชนชายแดนใต้ต้องคืนเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 8,800,000 บาท
รวม 3 ปีงบประมาณสูงกว่า 177 ล้านบาท!
สำหรับโรงเรียนที่ต้องส่งคืนเงินอุดหนุน แยกรายจังหวัด พบว่า ปีงบประมาณ 2556 จ.นราธิวาส มี 58 โรง จ.ปัตตานี 92 โรง จ.ยะลา 57 โรง จ.สงขลา 32 โรง และ จ.สตูล 17 โรง
ปีงบประมาณ 2557 จ.นราธิวาส 43 โรง จ.ปัตตานี 81 โรง จ.ยะลา 54 โรง จ.สงขลา 33 โรง และ จ.สตูล 16 โรง
อย่างไรก็ดี วิธีการจัดการปัญหานี้ของรัฐมนตรีสุรเชษฐ์ ใช้วิธีเจรจาและบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ.2555 สรุปก็คือไม่ได้มองว่าเจตนาหรือไม่เจตนา แต่ถ้าคณะกรรมการชี้มูลแล้วเห็นว่าผิด ก็ต้องคืนเงินอุดหนุนฯในส่วนที่เบิกเกินหรือซ้ำซ้อน ส่วนโรงเรียนไหนที่พยายามบิดพลิ้ว ไม่ยอมคืนเงิน ก็จะใช้มาตรการเรื่องการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนในปีถัดๆ ไป
จะเห็นได้ว่าแนวทางแก้ปัญหาเน้นไปในแนว "บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น" และไม่มีการพูดถึงการผ่องถ่ายงบที่เบิกเกินจริง ไปใช้ในกิจกรรมก่อความไม่สงบ ตามที่ฝ่ายความมั่นคงตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอด
แต่ล่าสุดหลังเกิดกรณีโรงเรียนบากงพิทยา "ทีมข่าวอิศรา" ได้รับ "เอกสารลับ" เป็นสรุปรายงานการตรวจสอบปัญหาการทุจริตงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการบรรยาย "วิธีการทุจริต" เอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งหากเป็นจริงก็ถือว่าน่าตกใจมาก
เริ่มจากโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนจากรัฐบาลสูงเกินจริง เพราะแจ้งจำนวนนักเรียนเท็จ โดยเงินอุดหนุนรายหัว อยู่ที่ปีละ 14,000 บาทต่อคน แจ้งเกินกี่คน ได้เงินเกินไปเท่าไหร่ ก็คูณเข้าไปได้เลย
เงินอุดหนุนแบ่งเป็น 5 หมวด คือ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผู้เรียน โดยหมวดแรกกับหมวดสุดท้าย คือ ค่าเล่าเรียน กับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผู้เรียน ทางโรงเรียนก็รับไปเลย
ส่วนค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน และเครื่องแบบนักเรียน ต้องมีการสั่งซื้อจากร้านค้าภายนอก ปรากฏว่าก็มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ทำการ "จัดซื้อเท็จ" โดยร้านค้าในเครือข่ายจะทำใบเสร็จรับเงินปลอมขายให้กับโรงเรียน มีการทำตรายางปลอมส่งไปให้โรงเรียนในเครือข่ายปั๊มกันเอง บางร้านเลิกกิจการ เปลี่ยนชื่อไปแล้ว แต่ยังมีใบเสร็จเบิกงบรัฐอยู่จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นในเครือข่ายนี้ยังมีบริษัทตรวจสอบบัญชี เพื่อทำ "บัญชีงบดุลเท็จ" ให้กับโรงเรียน และที่สำคัญเชื่อว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือด้วย เพราะใบเสร็จต่างๆ เบิกกับสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด หรือ สช.จังหวัด จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมี "เงินทอน" มอบให้กันด้วย เนื่องจากมีส่วนต่างจากการเบิกงบเกินจริงจำนวนมาก และทำกันมาต่อเนื่องหลายปี
นี่คือวงจรทุจริตงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบข้อมูลมา โดยอ้างตัวเลขว่ามีโรงเรียนเกี่ยวข้องราว 100 โรง ร้านค้าราวๆ 10 แห่ง รวมถึงบริษัทตรวจสอบบัญชี ซึ่งขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงมีลิสต์รายชื่อหมดแล้ว ส่วนในทางคดีจะมีหลักฐานดำเนินการถึงขั้นไหน ต้องรอดู
ล่าสุดได้มีการเสนอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ตั้ง "คณะทำงานพิเศษ" ขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง และดำเนินคดีกับขบวนการทุจริตเหล่านี้ โดยได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานสรรพากรในพื้นที่, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เป็นต้น
นอกจากนั้น ฝ่ายความมั่นคงยังเสนอให้ สช. หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนกลาง สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบกับปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้น เพราะมีการเบิกจ่ายซ้ำซ้อนเกินจริงมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ก็มีการเรียกคืนเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน 3 ปีงบประมาณย้อนหลัง สูงถึง 134 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินคดี เพราะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดในการตั้งเบิก
เบื้องต้นจึงเชื่อว่าอาจมีผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะ "เงินทอน" เหมือน "เงินทอนวัด" และกรณี "ทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่ง" ซึ่งกำลังเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้ด้วย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 2 วิธีการทุจริตงบอุดหนุนรายหัวนักเรียนชายแดนใต้
3 หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็น "คณะทำงานชุดพิเศษ" สะสางการทุจริตงบอุดหนุนรายหัว
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากรายการล่าความจริง เนชั่นทีวีช่อง 22
อ่านประกอบ :
นายอำเภอ - สช.ปัตตานี การันตี "ปอเนาะบากง"
เทียบหลักฐาน "ฝ่ายความมั่นคง-ปอเนาะบากง" ปมโกงงบรัฐหนุนป่วนใต้
ชำแหละหลักฐานมัด "ผู้บริหาร-ครู" โรงเรียนบากงฯ ทุจริตงบรัฐหนุนป่วนใต้!
ผู้บริหารโรงเรียนบากงฯ ออกโรงแจงไม่รู้เรื่องหนุนป่วนใต้ ยันเปิดสอนต่อ!