ดร.เสกสรรค์ ชี้จุดอ่อนการปกครองระบอบปชต. นักการเมืองเป็นผู้เล่นหลักมากเกินไป
ระบบพรรคการเมืองกลายเป็นระบบอวตาร ของระบบอุปถัมภ์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แนะพรรคการเมือง นักการเมือง ปรับบทบาททำ 3 สิ่ง กระจายอำนาจ ปฏิรูประบบราชการ และเกี่ยวร้อยภาคประชาชนเข้ามาเป็นองค์ประกอบของนิติญัญัติ
วันที่ 9 มีนาคม ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16 หัวข้อ "ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย" ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร.เสกสรรค์ กล่าวตอนหนึ่งถึงคำถามสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยดูล้าสมัยไปแล้ว เพราะต่างประเทศกลายเป็นสภาพปกติในชีวิตประจำวันของผู้คน แต่สำหรับประเทศไทยเรื่องนี้ยังไม่ลงตัวโดยง่าย และไม่มีใครรู้ว่าจะกลายเป็นประเด็นไปอีก
"ปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตยไม่ได้เกิดจากการถูกยึดพื้นที่ หรือถูกล้มกระดานอยู่เป็นระยะของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น หากอยู่ที่ความไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ของระบอบประชาธิปไตย ผู้คนที่สมาทานแนวคิดชุดนี้ด้วย บางครั้งบางคราวฝ่ายที่ล้มระบอบยังอ้างอีกด้วยว่า ทำไปเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย หรือสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า แสดงว่า จุดอ่อนมีจริง จนรู้สึกว่า ฝ่ายประชาธิปไตยต้องวิจารณ์ตัวเองบ้าง"
ดร.เสกสรรค์ กล่าวอีกว่า สิทธิเสรีภาพไม่ใช่ของใหม่ในประเทศไทย เปิดตัวมา 85 ปีแล้ว ดังนั้น ทำไมยังยั่งรากลึกไม่พอจะต้านพายุโหม หรือฤดูมรสุมได้สักทีซึ่งอุปสรรใหญ่อยู่ที่ชนชั้นนำภาครัฐ พยายามทวงอำนาจคืนครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาสืบทอดอำนาจมาจากกลไกรัฐ ถูกสร้างขึ้นก่อนระบอบประชาธิปไตย จึงค่อนข้างยากปรับตัวให้มีทั้ง respect และ loyalty ต่อระบอบที่ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจ"
ดร.เสกสรรค์ กล่าวถึงจุดอ่อนของฝ่ายประชาธิปไตย และมีความผิดพลาดนั้น ปัญหาอันดับแรก คือ ในแต่ละช่วงที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองมักเป็นผู้เล่นหลักมากเกินไป ขณะที่นักการเมืองส่วนใหญ่ก็มีแนวคิดประชาธิปไตยค่อนข้างแคบ อาศัยแค่การเลือกตั้งก้าวสู่อำนาจ และหมกหมุ่นอยู่กับบทบาทในรัฐสภาหรือรัฐบาลจนลืมความสำคัญขององค์ประกอบอื่นๆของระบอบ เช่น บทบาทของประชาสังคม การเมืองภาคประชาชน สื่อมวลชน หรือเสียงวิจารณ์สามัญชนคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองไม่พยายามผลักดันหรือขยายประชาธิปไตยออกไปในระดับโครงสร้าง
"เรื่องที่ควรทำและไม่ได้ทำมีอยู่ 3 ประการ คือ 1.กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง 2.ปฏิรูประบบราชการให้ยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และ 3.ขยายงานรัฐสภาด้วยการเกี่ยวร้อยภาคประชาชนเข้ามาในกระบวนการนิติบัญญัติอย่างสม่ำเสมอ"
ดร.เสกสรรค์ กล่าวต่อว่า ทำไมนักการเมืองถึงควรทำ 3 เรื่องนี้ ระบอบการปกครอง และระบบราชการที่รวมศูนย์ ถูกออกแบบไว้กำกับสังคมมากกว่าจะกลับข้างกัน จึงเป็นฐานความคิดอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม ด้วยสาเหตุดังกล่าว การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปฏิรูประบบราชการ จึงเป็นการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยที่มีนัยยสำคัญมาก จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวง กับภูมิภาค และขยายพื้นที่การใช้อำนาจประชาชนออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้กลไกทำงานของรัฐมีลักษณะสอดคล้องแนวคิดประชาธิปไตยมากกว่า ส่วนการเกี่ยวร้อยภาคประชาชนเข้ามาเป็นองค์ประกอบของนิติญัญัติ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเกาะติดชีพจรความคิดของสาธารณชนได้ตลอดเวลา
ดร.เสกสรรค์ กล่าวว่า นอกจากพรรคการเมือง นักการเมือง ไม่เพียงลืมผลักดันหรือขยายประชาธิปไตยออกไปในระดับโครงสร้างเท่านั้น หากยังใช้ความสัมพันธ์แบบจารีต ไม่เป็นสมัยใหม่ มาสร้างฐานเสียงทั้งในและนอกพรรค ระบบพรรคการเมืองกลายเป็นระบบอวตาร ของระบบอุปถัมภ์ โดยเนื้อแท้ขัดกับปรัชญาเรื่องสิทธิและเสรีภาพเป็นอย่างยิ่ง
"แม้แต่การเมืองมวลชนในระยะหลังๆ ก็มีความสัมพันธ์แบบนี้มาปะปน มีการอาศัยกำลังมวลชนกดดัน่ายตรงข้ามอย่างล้นเกิน กระทั่งระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะยืดหยุ่น กลายเป็น Zero some Game หรือระบบ Winner take all ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนที่เป็นอิสระ โดยเห็นว่าไม่ใช่มวลชนของตน"
ดร.เสกสรรค์ กล่าวด้วยการที่นักการเมืองเป็นผู้เล่นหลักในระบอบประชาธิปไตย และมองไม่เห็นบทบาทของผู้เล่นอื่น มองไม่เห็นความเปราะบางของระบอบดังกล่าวในสังคมไทย ย่อมทำให้เกิดความประมาทในการใช้อำนาจ ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นโครงสร้างเสาเดียว เมื่อเสานี้ถูกโค่น ก็พังทลายลงมา ฉะนั้น บทบาทพรรคการเมืองและนักการเมืองจะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้ ตัวนักการเมืองต้องขยายแนวคิดให้กว้างไก สำนึกของผู้สร้างระบอบ
อ่านปาฐกถาฉบับเต็ม : เสกสรรค์ ประเสริฐกุล:ประเทศไทยในความคิด เกือบ 4 ปี ไม่มีเสรีภาพเหลือเท่าใด
ขอบคุณภาพจาก:https://www.facebook.com/BackpackJournalistTPBS