ทีมโฆษกฯ แจงปม ‘เบี้ยประชุม’ ตุลาการศาล ปค.สูงสุด ยังไม่พิจารณา-สรรหาเลขาฯยังไม่ชัวร์
ศาลปกครอง เผยสถิตินับตั้งแต่เปิดทำการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีคดีรับเข้า 1.37 แสนคดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1.15 แสนคดี คิดเป็นร้อยละ 83.88 ด้านทีมโฆษกฯ ตอบปมแก้ กม.ให้ ‘เบี้ยประชุม’ ตุลาการศาลปค.สูงสุด เผยยังไม่พิจารณา เหตุมีเรื่องอื่นเร่งด่วนกว่า ขอให้ทุกฝ่ายไว้วางใจ ขั้นตอนต้องผ่านรัฐสภา ขณะที่การสรรหาเลขาฯ สนง. ล่าสุด ‘ปิยะ ปะตังทา’ ยังไม่ชงเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ศป. ไม่มั่นใจปลาย มี.ค. มีวาระหรือไม่
วันที่ 8 มี.ค.2561 ศาลปกครองจัดเเถลงผลการดำเนินงานของศาลปกครองในรอบปี 2560 ณ ศาลปกครอง ถ.เเจ้งวัฒนะ
นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงสถิติของศาลปกครองนับตั้งแต่เปิดทำการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีคดีรับเข้า จำนวน 137,778 คดี ได้ทำการพิจารณาแล้วเสร็จ 115,574 คดี คิดเป็นจำนวนพิจารณาแล้วเสร็จร้อยละ 83.88 จำแนกเป็นระดับชั้นศาล คือ ศาลปกครองชั้นต้น มีคดีรับเข้าพิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 86,906 คดี คิดเป็นร้อยละ 88.58 ส่วนศาลปกครองสูงสุดมีคดีพิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 28,668 คดี คิดเป็นร้อยละ 72.28
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผลการดำเนินงานด้านการพิจารณาคดีในปีที่ผ่านมา ศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จ จำนวน 10,412 คดี นับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ศาลปกครองพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จมากกว่า 10,000 คดี เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานทั้งสองชั้นศาลเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 9,963 คดี พบว่าในปีที่ผ่านมาศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงจำนวน 449 คดี”
ทั้งนี้ จากผลการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานของการทำงานและความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่ายของศาลปกครอง ประธานศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ทำให้ปี 2560 เป็นปีที่ศาลปกครองชั้นต้นสามารถพิจารณาคดีค้างนานได้มากกว่าร้อยละ 60 นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดมีคดีรับเข้ามากที่สุดนับตั้งแต่เปิดทำการ คือ มีจำนวนถึง 4,776 คดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทีมโฆษกศาลปกครอง ได้แก่ นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง, นายวชิระ ชอบแต่ง รองโฆษกศาลปกครอง, นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ รองโฆษกศาลปกครอง, นางจตุภรณ์ แก้วคุ้มภัย พัฒนาสิทธิชีวิน รองโฆษกศาลปกครอง, นางมาเรียม วิมลธร รองโฆษกศาลปกครอง และนายเอกณัฐ จิณเสน รองโฆษกศาลปกครอง ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม
โดยในกรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีการพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งมีการเสนอให้แก้ไขบทบัญญัติให้ตุลาการที่เข้าร่วมประชุมใหญ่ตุลาการและประชุมแผนกคดีในศาลปกครองสูงสุด รวมถึงผู้ที่มีหน้าที่เข้าประชุมได้รับเบี้ยประชุมนั้น
นางมาเรียม กล่าวชี้แจงว่า การเพิ่มเบี้ยประชุมให้แก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดนั้น ปัจจุบันยังไม่มีเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารศาลปกครอง (ก.บ.ศป.) เนื่องจากมีเรื่องอื่นจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า ทำให้ยังไม่มีมติใด ๆ ออกมา ซึ่งหากมีความคืบหน้าการพิจารณาหรือผลสรุปออกมา จะชี้แจงให้ทราบต่อไป
นายประวิตร กล่าวเสริมว่า การจ่ายค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเรียกว่า เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินเบี้ยประชุม ล้วนต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ศาลปกครองไม่อาจกำหนดขึ้นมาเองได้ ฉะนั้นขอให้ไว้วางใจในเรื่องนี้
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการสรรหาเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ภายหลังนายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ลงนามในคำสั่งยกเลิกแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง จากกรณีได้รับหนังสือร้องเรียน
นายประวิตร กล่าวว่า ประธานศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้นำเรื่องการสรรหาเลขาธิการศาลปกครองเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) และในการประชุมครั้งต่อไปราวปลาย มี.ค. 2561 ยังไม่ทราบเช่นกันว่า จะมีวาระเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ และยืนยันว่า แม้จะยังไม่มีเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน เนื่องจากได้แต่งตั้งรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองอาวุโสรักษาการแทน
และเมื่อถามถึงอนาคตจะมีการแก้ไขการใช้สิทธิฟ้องลับหลังในคดีที่มีผู้ต้องหาหลบหนีคดีหรือไม่ นายประวิตร ระบุว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายเขียนไว้ ไม่ว่าผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้อง ไม่จำเป็นต้องมาแสดงตัวต่อศาล สามารถส่งหนังสือมาได้ หากศาลไม่ได้แจ้งให้มา ทั้งนี้ ปกติศาลปกครองจะพิจารณาจากเอกสารเป็นหลัก แม้เจ้าตัวไม่อยู่ก็ฟ้องได้ ขณะที่เรื่องหนีคดีที่เป็นคดีอาญานั้น โดยหลักการแล้ว จำเลยต้องมาปรากฎต่อหน้าศาล และบางกรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนี จะมีการพิจารณาลับหลังได้ .
อ่านประกอบ:เบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่ตุลาการ