รองเลขาฯ สพฉ.ชี้ รพ.เอกชนขอค่าเหมาจ่ายโรคร้ายเพิ่ม “ไร้เหตุผล”
สพฉ. แจง “รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว” เพิ่งเริ่ม 1 ด.ยังไม่ควรด่วนวิจารณ์ ระบุอัตราเหมาจ่ายโรคร้าย 1.05 หมื่นบาทเหมาะสม ชี้ รพ.เอกชนออกมาโวยไร้เหตุผล หวังฟันเงินระยะยาว
กรณีที่โรงพยาบาลเอกชนออกมาเรียกร้องให้เพิ่มอัตราการเหมาจ่ายตามกลุ่มโรคร้ายแรง(ดีอาร์จี)ในโครงการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว โดยให้เหตุผลว่าอัตราปัจจุบันที่ 1.05 หมื่นบาทไม่เพียงพอต่อต้นทุน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เปิดเผยว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเงิน ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการฯ พบผู้ป่วยเพียง 1-2 รายเท่านั้นที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าอัตราที่กำหนด แต่โรงพยาบาลเอกชนพยายามจะทำให้ดูรุนแรง ทั้งนี้การแก้ปัญหานี้ต้องคุยให้ชัดเป็นรายกรณี ไม่ใช่เหมารวมหมดแล้วขอขึ้นอัตราค่ารักษาพยาบาลทั้งระบบทุกโรงพยาบาล
“มันคล้ายกับเวลาที่ประกันสังคมขอขึ้นค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลเอกชนก็จะออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง”นพ.ประจักษวิช กล่าว
นพ.ประจักษวิช กล่าวอีกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะวิจารณ์ว่าโครงการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวมีปัญหา ซึ่งไม่ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนนำข้อมูลใดมาเป็นฐานในการชี้ประเด็นดังกล่าว ซึ่งส่วนตัวมองว่าอัตราการจ่ายดีอาร์จี 1.05 หมื่นบาท ให้ประโยชน์แก่โรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะเพียงพอต่อต้นทุนการให้บริการ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่อาจมีปัญหาบ้าง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นข้อมูลใดๆ นอกจากการเรียกร้อง
“หรือกรณีออกมาระบุว่าผู้ป่วยกระจุกตัวในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากโรงพยาบาลต้นสังกัดไม่สำรองเตียงไว้ตามที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเป็นกังวล อยากทราบข้อมูลว่าในขณะนี้เกิดขึ้นกี่รายแล้ว ควรเอาข้อมูลมากางแล้วร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ใช่เสนอขึ้นมาลอยๆ”
นพ.ประจักษวิช กล่าวนพ.ประจักษวิช กล่าวอีกว่า ขณะนี้โครงการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของ 3 กองทุนสุขภาพ เพิ่งเริ่มต้นมาเพียง 1 เดือน ควรปล่อยให้ระบบเดินไปอีกสัก 2-3 เดือนแล้วจึงเอาข้อมูลมาร่วมกันหารือปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครงการนี้เป็นเรื่องดีและไม่มีใครกล้าคัดค้านหรือล้ม