ศ.วิทิต ห่วงรัฐเน้นใช้กม.ความมั่นคง ลิดรอนเสรีภาพ จี้เลิกใช้คำสั่งคสช.ขัดรัฐธรรมนูญ
ศ.วิทิต ห่วงรัฐใช้กฎหมายความมั่นคงมากไป จำกัดสิทธิเสรีภาพ จี้เลิกใช้กฎอัยการศึก พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน คำสั่งคสช. ด้าน อังคณา ห่วงนักปกป้องสิทธิฯหญิง ถูกคุกคามทางเพศ-ฟ้องร้อง เพื่อให้หยุดเคลื่อนไหว เล็งผลักดันกฎหมายคุ้มครอง ขณะที่กสม. มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 6 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนประจำปี 2561
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสตรีสากล 8 มีนาคม ประจำปี 2561 พร้อมประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยปีนี้มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติผู้หญิง และ องค์กร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในระดับนโยบายและการปฏิบัติ สิทธิสตรีได้ถูกพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการป้องกันและยุติการคุกคามทางเพศในการทำงาน แนวทางการตรวจค้นร่างผู้หญิงในฐานะผู้ต้องหาหรือนักโทษ การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมลายูมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการแสวงหามาตรการทางเลือกแทนการกักเด็กและแม่ในครอบครัวผู้ลี้ภัย
"การทำงานด้านปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้หญิงเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะการปกป้องคุ้มครองหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องร้องถูกดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้ง เพื่อทำให้เงียบ แต่ความท้าทายที่เลวร้ายที่สุดที่ผู้หญิงนักต่อสู้ต้องเผชิญเหมือนกันคือ การถูกคุกคามทางเพศเพื่อทำให้เกิดความหวาดกลัว และเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่"
นางอังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมากสม.ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการคุกคามนักปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิฯเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation - SLAPPs)” ซึ่งมีผลทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง ได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต รวมถึงความกังวลในความปลอดภัย
“โดยกสม.มีข้อสังเกตว่า การฟ้องร้องนอกจากทำให้เกิดความหวาดกลัวแล้ว ยังทำให้นักสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการทำกิจกรรมได้อย่างปกติ ที่สำคัญคือภาระในการต้องหาค่าใช้จ่ายเพื่อใช้จ่ายทั้งในการประกันตัวและการสู้คดีซึ่งทำให้ครอบครัวต้องเดือดร้อน”
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า เรื่องที่เป็นกังวล คือ ปัจจุบัน SLAPPs ในทางอาญา ถูกนำมาใช้โดยบริษัทขนาดใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานในการดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ หรือการตรวจสอบรัฐ ซึ่งถ้าปล่อยให้มีการฟ้องร้องเช่นนี้มากขึ้นจะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าที่สำคัญของหลักประชาธิปไตย คือ คุณค่าของการคุ้มครองและการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาการใช้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (SLAPPs) เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือการบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาในการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน (Anti – SLAPPs Law)
ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องสิทธิสตรี บริบทในการคุ้มครองสิทธิ เรามีตัวเกาะที่ช่วยสร้างหลักประกัน จากการเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ ซีดอว์ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) 1985 ซึ่งในรายงานด้านสิทธิสตรีฉบับแรกในปี1990 คณะกรรมการสิทธิสตรี ถามประเทศไทยเพราะพบว่ารัฐชอบอ้างความมั่นคงแห่งรัฐ มาจำกัดสิทธิสตรี กลับมาดูปัจจุบันพบว่ายังมีความอลวงอยู่ แม้ว่าสิทธิสตรีในไทยหลายอย่างดีขึ้น มีกฎหมายครอบครัวที่ปฏิรูปมาเยอะแล้ว มีสิทธิเท่าเทียมในการฟ้องหย่า มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ แต่พ.ร.บ.นี้มีข้อยกเว้นสองข้อในการจำกัดสิทธิคือ ความั่นคงแห่งรัฐและศาสนา
ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีการใช้กฎหมายอาญาในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก มีการฟ้องเพื่อการปิดปาก มีการใช้กฎหมายอย่างม.116 ที่เป็นการอ้างว่ากระทบความมั่นคงต่อรัฐ นอกจากนั้นมีคำสั่งทั้งหลายออกมาจากผู้มีอำนาจ มีกระบวนการจำกัดสิทธิเช่น พ.ร.บ.ห้ามชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แม้วันนี้เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว แต่คำสั่งเก่ายังใช้อยู่ ดังนั้นต้องเลิกใช้ได้เเล้ว เพราะไม่สมดุลต่อสิทธิเสรีภาพ
“เห็นได้ชัดว่ามีการใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐมากเกินไป พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก การที่สามารถกักตัวคนได้ 37 วัน โดยต้องขึ้นศาล เราต้องเลิกสิ่งเหล่านี้แล้วมุ่งสู่หลักนิติธรรม เพื่อนำคนขึ้นสู่ศาล อย่างโปร่งใส” ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยปีนี้มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติผู้หญิง และ องค์กร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ , ทีมฟุตบอลบูคู FC , นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค , น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) , นางดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา , น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส