เปิดคำพิพากษาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ นวนิยาย 'ทมยันตี' เหมือน-ต่าง สแกน‘บุพเพสันนิวาส’แจกผ่านเพจ
ย้อนดูคำพิพากษาศาลฎีกา คดีตัวอย่าง ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ นวนิยาย หลัง ‘บุพเพสันนิวาส’ ถูกขโมยแชร์ในโซเซียล ขณะที่สำนักพิมพ์เเฮปปี้ บานานา เเจ้งความปอศ. เอาผิดเพจเเล้ว
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ‘บุพเพสันนิวาส’ นวนิยายเรื่องดังของ ‘รอมแพง’ มิได้เป็นบทประพันธ์ชิ้นแรกที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ จนถึงขั้นเจ้าตัวต้องออกโรงมาปกป้องผลงานของตัวเอง เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ที่ผ่านมาพบว่ากรณีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ
(อ่านประกอบ:ออเจ้า! ไม่ใช่รายแรก ‘บุพเพสันนิวาส’ ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ จาก ‘ค่านิยม’ ผิด ๆ แชร์เท่ากับช่วยพีอาร์)
ล่าสุด น.ส.กวิยา เนาวประทีป บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์แฮปปี้ บานานา ต้นสังกัดจัดพิมพ์นวนิยาย ‘บุพเพสันนิวาส’ ได้แจ้งความเอาผิดกับเพจและผู้ที่แชร์แล้ว ต่อตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ซึ่งคาดว่าจะเรียกค่าเสียหายโดยคำนวณจากยอดแชร์คูณด้วยราคาหนังสือ
ทั้งนี้ จากการสืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา พบว่า ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องกันในเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างน้อย 6 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีขัดแย้งระหว่างนักประพันธ์กับสำนักพิมพ์
หนึ่งในนั้น คือ คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5591/2551 คดีที่คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จำเลย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org หยิบยกมานำเสนอ
คดีนี้ดังกล่าวโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยายของโจทก์จำนวน 6 เรื่อง ต่อมาจำเลยทั้งหกให้จำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ว่ากระทำละเมิดลิขสิทธิ์จริง แต่ขอจำหน่ายหนังสือนวนิยายทั้ง 6 เรื่อง ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งหกให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี โดยชำระค่าตอบแทนให้โจทก์จำนวน 120,000 บาท
ต่อมาโจทก์สืบทราบว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันจำหน่ายหนังสือนวนิยายที่ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์จำนวน 15 เรื่อง รวม 36 เล่ม ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดหนังสือดังกล่าวไว้เป็นของกลาง
นอกจากนี้ โจทก์ยังทราบว่า จำเลยทั้งหกได้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือของโจทก์ตลอดมา อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และเป็นการกระทำผิดข้อตกลงฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2533 ซึ่งจำเลยทั้งหกทำไว้กับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ให้เป็นพับ
ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุอันควรที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นนักประพันธ์ ใช้นามปากกาว่า "ทมยันตี" "โรสลาเรน" "กนกเรขา" และ "ลักษณวดี" ได้ประพันธ์นวนิยายหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องคู่กรรม สายรุ้ง ล่า ทิพย์ สายสัมพันธ์ และดาวเรือง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2533
จำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินจำนวน 120,000 บาท ให้แก่โจทก์ และสัญญาว่าจะจำหน่ายหนังสือนวนิยาย 6 เรื่อง ดังกล่าวทั้งหมดในครอบครองให้หมดในระยะเวลา 2 ปี ต่อมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 มีการยึดหนังสือนวนิยายอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้จำนวน 15 เรื่อง รวม 36 เล่ม จากจำเลยที่ 1 คือเรื่องคู่กรรม สายรุ้ง ล่า ทิพย์ ดาวเรือง จิตา ฌาน แผลหัวใจ มงกุฎหนาม มายา ยอดอนงค์ พ่อม่ายทีเด็ด ไอ้คุณผี สายใจ และทางรัก ซึ่งมีนวนิยายที่ตกลงกันรวมอยู่ด้วย โจทก์เคยอนุญาตให้บุคคลอื่นรวมทั้งจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิในงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์
คดีนี้โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างอุทธรณ์ จึงเห็นควรรวมพิจารณาไปพร้อมกัน
-ประเด็นแรก จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยายจำนวน 5 เรื่อง คือ สายสัมพันธ์ สายรุ้ง ล่า ทิพย์ และดาวเรือง ตามที่ตกลงตามสัญญาจะจำหน่ายหนังสือหรือไม่
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาโดยยอมรับว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือนวนิยายของโจทก์และจะจำหน่ายหนังสือนวนิยายจำนวน 6 เรื่องให้หมดในระยะเวลา 2 ปี โดยสมัครใจ ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 2 จำหน่ายหนังสือนวนิยาย 6 เรื่องนี้ภายในกำหนด 2 ปี เท่านั้น
เมื่อจำเลยที่ 2 รับว่าหนังสือนวนิยาย 5 เรื่องดังกล่าวยังจำหน่ายไม่หมดและยังวางจำหน่ายอยู่ภายหลังจากระยะเวลา 2 ปี ตามที่ตกลงกันแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในนวนิยาย 5 เรื่อง ของโจทก์
สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น แม้จะได้จัดตั้งขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์แล้วก็ตาม แต่ได้จัดตั้งขึ้นหลังจากทำสัญญาดังกล่าวเพียง 1 ปีและอยู่ในช่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาของนายเกษมผู้ประกอบกิจการร้านและสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร ต่อมามีการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดบูรพาสาส์นและจดทะเบียนเลิกห้าง แล้วจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 แทน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนของจำเลยที่ 1 เช่นนี้
แม้จะไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญา เพราะขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ต่อมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้นได้รับและถือเอาประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 2 ตกลงทำสัญญากับโจทก์ โดยการจัดจำหน่ายหนังสือนิยาย 6 เรื่องดังกล่าวต่อไป
ถือว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทราบและถูกผูกพันตามข้อตกลงในการจำหน่ายนวนิยาย 6 เรื่อง ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 2 ปีด้วย หาใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ขายหนังสือนวนิยาย 6 เรื่อง ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
-ประเด็นที่สอง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยาย 5 เรื่อง ดังกล่าวต่อโจทก์หรือไม่
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยดังกล่าวมีความสัมพันธ์เป็นญาติกับจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาเดียวกับจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้เริ่มจัดตั้ง กรรมการ และผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 มีการยอมรับรู้ในเรื่องที่มาของนวนิยาย โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดบูรพาสาส์น จึงต้องทราบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ในนวนิยายของโจทก์ เห็นว่า การเป็นญาติกันก็ดี การเป็นผู้เริ่มจัดตั้ง กรรมการ และผู้ถือหุ้นก็ดี ยังไม่เพียงพอให้ฟังได้ว่า บุคคลดังกล่าวจะต้องรับทราบข้อเท็จจริงในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยทั้งหมด เพราะการดำเนินการใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมแยกต่างหากจากจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ได้ นอกจากนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 รู้เห็นเกี่ยวข้องหรือร่วมละเมิดสิทธิ์ของโจทก์ในนวนิยาย 5 เรื่อง ดังกล่าวในลักษณะใด
คดีจึงยังไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในนวนิยาย 5 เรื่อง ดังกล่าวต่อโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
-ประเด็นที่สาม จำเลยทั้งหกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในนวนิยายอีก 11 เรื่อง คือเรื่องคู่กรรม จิตา ฌาน แผลหัวใจ มงกุฎหนาม มายา ยอดอนงค์ พ่อม่ายทีเด็ด ไอ้คุณผี สายใจ และทางรัก หรือไม่
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งหกทราบเรื่องดี เพราะราคาจำหน่ายหนังสือนวนิยายดังกล่าวแตกต่างจากราคาจำหน่ายหนังสือนวนิยายซึ่งมีลิขสิทธิ์ถูกต้องเป็นจำนวนมาก การซื้อหรือรับฝากหนังสือนวนิยายอีก 11 เรื่อง นี้มาจำหน่ายจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องและทางนำสืบพยานของโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งหกกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในนวนิยายเหล่านี้ด้วยการพิมพ์หรือทำซ้ำแต่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการวางจำหน่ายนวนิยายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่า จำเลยทั้งหกทราบดีว่าหนังสือนวนิยายดังกล่าวเป็นงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้นก็ยังไม่อาจรับฟังแน่ชัดว่า การที่ราคาหนังสือนวนิยายแตกต่างกันมากเป็นเพราะหนังสือนวนิยายที่จำเลยที่ 1 วางจำหน่ายเป็นงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และจำเลยทั้งหกมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะการที่ราคาหนังสือนวนิยายแตกต่างกันอาจเป็นเพราะสาเหตุอื่น เช่น มีการจัดพิมพ์หนังสือนวนิยายนั้นมาเป็นเวลานานโดยกรรมวิธีแบบเก่าจึงไม่สามารถจำหน่ายในราคาที่แข่งขันกับหนังสือนวนิยายฉบับที่พิมพ์ใหม่ได้ตามที่จำเลยทั้งหกนำสืบก็เป็นได้
พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมานั้นจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า หนังสือนวนิยายของกลางเป็นงานที่ลักลอบพิมพ์ใหม่หรือทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ลำพังการที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือนวนิยายดังกล่าววางจำหน่ายย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ดังนั้น จำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในนวนิยายอีก 11 เรื่อง ดังกล่าวแต่อย่างใด
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
-ประเด็นสุดท้าย ตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงใด
เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้อนุญาตให้บุคคลภายนอกใช้สิทธิในการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือนวนิยาย 5 เรื่อง ดังกล่าวด้วย ทั้งข้อที่ว่าโจทก์สูญเสียรายได้จากการที่มีผู้ซื้อหนังสือนวนิยายที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากโจทก์ยังเป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์เท่านั้น เนื่องจากโจทก์ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนยอดจำหน่ายที่ขาดหรือลดไปเพราะเหตุนี้มาแสดงต่อศาล
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นหนังสือจำนวน 22 เล่ม และกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท นับว่าสมควรแล้ว
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
จึงพิพากษายืน
ข้างต้นจึงกลายเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่างที่นักประพันธ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานลุกขึ้นมาปกป้องตนเองจากผู้ไม่หวังดี 'ละเมิดลิขสิทธิ์'